ประชาชนควรตรวจสอบการซื้อประกันภัยก่อนตกเป็นเหยื่อ

ประชาชนควรตรวจสอบการซื้อประกันภัยก่อนตกเป็นเหยื่อ

โบรกเกอร์เถื่อนระบาด..หลอกขายประกันภัยรถยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ย้ำประชาชนควรตรวจสอบการซื้อประกันภัยก่อนตกเป็นเหยื่อ

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองปราบปรามเพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัท เอส. เอ็ม. พี. อินชัวร์ จำกัด โดยแอบอ้างว่าเป็นบริษัทนายหน้าขายประกันภัยรถยนต์ผ่านทางโทรศัพท์ โดยไม่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยจากสำนักงาน คปภ. ซึ่งมีประชาชนหลงเชื่อได้ซื้อประกันภัยรถยนต์ผ่านบริษัทดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะไม่ได้มีการส่งเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันภัยจริง โดยมีผู้เสียหายกว่า 200 ราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 3 ล้านบาท และได้มีการรวมตัวกันเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัท เอส. เอ็ม. พี. อินชัวร์ จำกัด ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่ทำประกันภัย และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยให้เกิดความเสียหาย ทำลายระบบประกันภัยที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นกับประชาชนในการให้ความคุ้มครอง บรรเทาความเสียหายในยามเกิดเหตุ และยังเป็นการทำลายชื่อเสียงของตัวแทน นายหน้าและบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยที่ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงบริษัทประกันภัยที่ประกอบธุรกิจด้วยความซื่อตรง และมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าซื้อประกันภัยแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ ไม่ว่าจะซื้อประกันภัยผ่านตัวแทน นายหน้า/บริษัทนายหน้า ผ่านทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์ก็ตาม สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงขอให้ผู้ที่เป็นเจ้าของรถควรศึกษาข้อมูลการทำประกันภัยให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันการถูกหลอกจากผู้ที่ไม่หวังดีแอบอ้างมาเสนอขายประกันภัยด้วยการยื่นข้อเสนอจูงใจต่าง ๆ เช่น การลดเบี้ยประกันภัย การให้ของแจกของแถม หรือการชำระผ่านบัตรเครดิตที่สามารถผ่อนได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ขอแนะนำวิธีการตรวจสอบการซื้อประกันภัยเพื่อป้องกันการถูกหลอกจากนายหน้าหรือบริษัทนายหน้าเถื่อนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการหลอกขายประกันภัยรถยนต์ เพื่อความมั่นใจว่าจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลก่อนและหลังการทำประกันภัยรถด้วยตัวเอง ดังนี้

ก่อนทำประกันภัย

1. สอบถามชื่อ-นามสกุล เลขที่ใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย ของผู้ที่มาเสนอขายประกันภัยทุกครั้ง

2. ศึกษาข้อมูลค่าเบี้ยประกันภัย รวมทั้งเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยโดยละเอียด

3. หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวแทน/นายหน้า หรือบริษัทนายหน้าประกันภัย สามารถตรวจสอบทะเบียนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยจากสำนักงาน คปภ. ที่ www.oic.or.th หรือสอบถามไปยังบริษัทประกันภัยโดยตรงว่าเป็นนายหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทหรือไม่

4. ไม่ควรเร่งรีบตัดสินใจเร็วเกินไป ก่อนทำประกันภัยควรมีเวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ และควรทำประกันภัยรถล่วงหน้าก่อนถึงวันที่กรมธรรม์จะหมดอายุ

หลังทำประกันภัย

1. ตรวจสอบข้อมูลการเอาประกันภัยจากบริษัทประกันภัยโดยตรง ว่ากรมธรรม์ที่ได้รับนั้นออกโดยบริษัทประกันภัยจริง เพื่อยืนยันว่าบริษัทได้รับประกันภัยเรียบร้อยแล้ว

2. ทุกครั้งที่มีการชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้ตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินว่าเป็นเอกสารที่ออกจากบริษัทนายหน้าที่ได้รับมอบอำนาจ หรือเป็นใบเสร็จรับเงินจากบริษัทประกันภัย

3. กรณีหากชำระค่าเบี้ยประกันภัยแล้วภายใน 15 วัน ยังไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยให้ติดต่อบริษัทนายหน้าหรือบริษัทประกันภัยโดยตรง

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวย้ำว่า หากเจ้าของรถได้รับการติดต่อจาก นายหน้าหรือบริษัทนายหน้าประกันภัย ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบไม่ควรเร่งรีบตัดสินใจ ควรศึกษาข้อมูลการทำประกันภัยให้ละเอียดก่อนการตัดสินใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บริษัทนายหน้าเถื่อนหลอกขายประกันภัยให้กับประชาชน และในอนาคตการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยจะสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System) หรือ IBS ก็จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการประกันภัยของตัวเองได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย 0 2256-6032-8 หรือ www.tgia.org