เกษตรฯรุกโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ

เกษตรฯรุกโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ

“โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ” ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพปลุกเศรษฐกิจในชุมชนกว่า 9,100 แห่ง เกษตรกรได้รับประโยชน์ 7.78 ล้านราย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามร้อยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่และแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้มาปฏิบัติ พร้อมใช้ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาระดับพื้นที่ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรของชุมชนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีชุมชนเข้าร่วมโครงการฯดังกล่าว จำนวน 9,101 ชุมชนซึ่งมีการเสนอโครงการ24,760 โครงการ วงเงิน20,054.62 ล้านบาท คาดว่า มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 7.78 ล้านรายทั่วประเทศ

กิจกรรมด้านการเกษตรที่ชุมชนเสนอเข้าร่วมโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯมีหลายประเภท ได้แก่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 8,505 โครงการ การผลิตพืชและพันธุ์พืช 5,034 โครงการ ด้านปศุสัตว์ 3,474 โครงการ การผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 2,900 โครงการ ประมง 2,596 โครงการ ฟาร์มชุมชน 954 โครงการ การจัดการศัตรูพืช 442 โครงการ การปรับปรุงบำรุงดิน 211 โครงการ และการเกษตรอื่นๆ จำนวน42 โครงการ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดได้โอนเงินให้คณะกรรมการฯระดับชุมชนเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรตามที่เสนอครบถ้วนแล้ว พร้อมให้การสนับสนุน ศพก. 882 แห่ง และ ศพก.เครือข่าย 8,219 แห่งด้วย เน้นความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวอีกว่าจากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประเมินผลความพึงพอใจของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เบื้องต้นพบว่า เกษตรกร ร้อยละ 96.12 มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุดต่อโครงการฯนี้ เนื่องจากสามารถช่วยสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในพื้นที่ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนและในระยะยาว คาดว่า ชุมชนและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะมีความเข้มแข็ง เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สามารถยืนหยัดและพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย

“โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯเป็นหนึ่งโครงการที่ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาเกษตรกรแบบรวมกลุ่ม โดยชุมชนและเพื่อชุมชน มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ ศพก.และเครือข่ายเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว