ทิศทางที่น่ากังวลของภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของไทย

ทิศทางที่น่ากังวลของภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของไทย

ภาวะเศรษฐกิจสังคมรอบๆ ตัวเราในปัจจุบัน ที่ถึงแม้สินค้าเกษตรจะมีราคาตกต่ำ แต่ก็ยังไม่มีคนซื้อ “จะทำอย่างไร”เป็นโจทย์ที่น่ากังวลไม่น้อย

ประเทศไทยตอนนี้เราอยู่ตรงไหน คำถามนี้น่าจะเป็นคำถามที่หลายท่านอยากรู้!!! เพราะว่าโครงการต่างๆที่ภาครัฐกำลังเร่งให้ไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” นั้นเริ่มขยับขยายเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังช่วงต่อขยาย โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เฟส 3 โครงการขยายสนามบินดอนเมือง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 10 ล้านคนในช่วงต่อไป รวมทั้งจะเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบินและศูนย์การซ่อมบำรุงอากาศยานที่สำคัญสุดของอาเซียน โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดที่สัตหีบ ให้เป็นท่าเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่และเรือเฟอร์รี่ ที่จะเชื่อมโยงภาคตะวันออกของไทยไปยังหัวหิน ชะอำในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ รวมถึงเชื่อมโยงไปยังกรุงเทพฯ โครงการสร้างรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมระยองและท่าเรือแหลมฉบังเข้ากับกรุงเทพ และในภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศ ตลอดจนโครงการสร้างทางหลวงต่างๆ ในส่วนที่ยังขาดหายไปให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยมูลค่าการลงทุนหลายล้านๆบาท 

จากคำถามข้างบน ก็อยากจะตอบว่าเรายังย่ำอยู่ “ที่เดิม” โดยมองหรือสังเกตจากภาวะเศรษฐกิจสังคมรอบๆ ตัวเราในปัจจุบัน ที่ถึงแม้สินค้าเกษตรจะมีราคาตกต่ำ แต่ก็ยังไม่มีคนซื้อ (ถามพ่อค้าแม่ค้าที่รับผลิตผลจากเกษตรกรมาส่งตลาดไทได้ครับ) สินค้าตามห้างสรรพสินค้าที่มีแต่คนเดินชม แต่ไม่ซื้อ หรือบางห้างแถวๆรังสิต ที่ในอดีตแสดงถึงพลังเรื่องคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี แต่ปัจจุบัน ดูรกร้างว่างเปล่า แตกต่างจากเมื่อ 4 -5 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง  หรือจะมองภาพรวมๆ โดยดูจากการเติบโตของ GDP ที่โตเพียง 1 – 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ มาหลายปีก็ถือว่าต่ำกว่าเวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ และลาว การตอบแบบนี้ก็เกรงว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ “ลบ” กับรัฐบาลมากเกินไป แต่ถ้าจะให้ตอบว่าดีเหลือล้นก้าวล้ำนำสมัยเหลือหลาย ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ยังไม่น่าจะใช่  ดังนั้นถ้าจะให้สรุปฟันธงแบบง่ายๆ ก็ยังคงต้องฝ่าฟันต่อไปน่าจะอีก 5-10 ปีก็เป็นได้ เพราะในยามนี้ประเทศของเรานั้นยังก้าวไม่พ้นกับดักของความยากจน

หรือกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (รายได้ต่อคนของประชากรอยู่ที่ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่เราก็ยังมีความหวังว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะไปถึงเส้นชัย จากนโยบายต่างๆของรัฐบาลในปัจจุบัน จะช่วยให้เราก้าวเข้าไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับอาชีพต่างๆ ในอนาคตอาจจะมีการ “เปลี่ยนแปลง” ต้องรีบปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งคาดว่ามีหลายอาชีพ อาจจะล้มหายตายจากไปในระยะเวลาอันสั้นนี้อย่างแน่นอน การเพาะปลูกแบบเดิมๆ การค้าขายสินค้าทั่วไปหรือสินค้าเกษตรแบบเดิม (ไม่แปรรูป ไม่เพิ่มมูลค่า ไม่มีเว็บไซต์ ไม่ใช้เฟซบุ๊คช่วยทำตลาด) การดำรงชีวิต (Life Style) แบบเดิมๆ จะพลาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงทรัพยากร และมีสิทธิ์ตกขบวนรถไฟสาย 4.0 นี้อย่าแน่นอน 

การเชื่อมโยงของโลกจะเข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็วโดยอินเตอร์เน็ต และระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ ถนนที่มีจำนวนเลนส์มากขึ้น ใช้รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ความเจริญที่กระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศอาเซียน ตามเส้นทางโลจิสติกส์สมัยใหม่ การกระจายตัวของเมือง ความเจริญมั่งคั่งจะออกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คืบคลานไปยังภูมิภาคอื่นๆมากขึ้น โลกแห่งดิจิตอลจะเข้ามาแทนที่ การแลกเปลี่ยนด้วยธนบัตรเงินตราจะค่อยถูกยกเลิก การเกษตรจะเน้นแปลงที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่ วิธีการดูแลบำรุงรักษาเกี่ยวกับโรคแมลงศัตรูพืช มีการใช้ “โดรน” สำรวจตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น รวมถึงโรคแมลงแทนที่มนุษย์ แถมระบบเซ็นเซอร์ต่างๆที่ติดตั้งกับ “โดรน” นี้สามารถส่งข้อมูลกลับมายังเซิร์ฟเวอร์เพื่อเตือนและเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยให้แก้ปัญหาต่างๆได้ทันท่วงที 

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้ยังไม่นับรวมความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในเรื่องของ “โลกร้อน” ที่ไม่นานมานี้มีข่าวแผ่นน้ำแข็งใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกขนาดใหญ่ 50 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชั้นน้ำแข็งลาร์เซน ซี (Larsen C) ที่ขั้วโลกใต้ กำลังจะแตกตัวออกจากแผ่นดินทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว โดยยังเหลือผืนน้ำแข็งส่วนที่ยังเชื่อมต่ออยู่เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น เรื่องนี้บ่งบอกถึงอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงและเลวร้าย  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตภาคการเกษตรเกี่ยวกับ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม (เอลนีโญ-ลานีญา) โรคแมลงศัตรูพืชที่ระบาดรุนแรง เช่น ช่วงปี 2552-2554 เกิดระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไปทั่วประเทศ อุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงเพียง  1-2 องศา ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ซึ่งทุกท่านควรเอาใจใส่ และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

 การให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องลดการใช้สารพิษในภาคการเกษตรที่ดูจะเชื่องช้าจากหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยสังเกตจากตัวเลขการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ในแต่ละปียังคงสูงเป็นหลักหมื่นถึงสองหมื่นล้านบาท ทั้งๆที่รัฐบาลของท่านพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ก็ส่งเสริมให้เดินตามแนวทางเกษตรพอเพียง เกษตรทฤษีใหม่ และโครงการเกษตรปลอดภัยไร้สารพิษออกมาอย่างมากมาย แต่ล่าสุดรายงานสรุปการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรปี 2559 ก็ยังมียอดการนำเข้าอยู่ที่ 20,577,925,471.87 บาท ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากปีก่อนๆ อย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด

ปัญหาหรือสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนและพี่น้องเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในโลกอนาคตนั้น ผู้คนชนทั่วโลกต้องการสิ่งที่เรียกว่า “สะอาดปราศจากมลพิษ” และ “ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” (Green & Clean) ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพ (Healthy) นวัตกรรม (Innovation) เทคโนโลยี (Technology) พลังงานสะอาด(Green Energy) การโฆษณาค้าขายออนไลน์ (Ecommerce) อินเทอร์เน็ต Google Facebook (Internet Network, Social Network) การชำระค่าสินค้าโดยไม่ใช้ธนบัตร (Bit Coin) กิจกรรมที่ก่อให้เกิดโลกร้อน คาร์บอนเครดิต (Carbon footprint) ความคุ้มค่าของการใช้น้ำ (Water Footprint) เป็นต้น

สิ่งต่างๆเหล่านี้คือ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่จะทำให้เราๆ ท่านๆ ต้องตระหนักได้ว่า “เรายืนอยู่ตรงไหน?” และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้ ยังไม่เข้าใจ “จะทำอย่างไร” เป็นโจทย์ที่น่ากลุ้มใจ

น่ากังวลไม่น้อย โดยเฉพาะ “รัฐบาล” 

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2

สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)