โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดผู้ที่มีภาวะเครียด ผู้ที่ทำงานหนักและพักผ่อนน้อย ผู้ที่ออกแรงทำงานทำให้หัวใจต้องทำงานเยอะกว่าปกติ


โรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุของการทำให้เสียชีวิต ซึ่งติด 1 ใน 3 ของประเทศหรือของโลก ระหว่างโรคมะเร็ง กับโรคหัวใจและหลอดเลือด และอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะสำรวจตอนนี้หรือย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 10 ปี หรือ 20 ปีที่แล้ว
น.พ.สุรพงษ์ วรสุวรรณรักษ์ แพทย์หัวหน้าศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวเฉียว สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์ โรคหัวใจและหัตถการปฏิบัติและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด

โรคหัวใจขาดเลือดมีอยู่ 5 ข้อ

1. อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป

2. โรคความดันโลหิตสูง

3. โรคเบาหวาน

4. โรคไขมัน

5. สูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 ข้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคไขมันไปเกาะที่เส้นเลือด แต่ไม่ใช่แปลว่าคนที่มีปัจจัยเสี่ยงจะมีโอกาสที่ไขมันไปเกาะที่เส้นเลือดแล้วจะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดทุกคน เพราะนอกจากนี้ยังมีสิ่งกระตุ้นอื่นอีกที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เช่น ผู้ที่มีภาวะเครียด ผู้ที่ทำงานหนักและพักผ่อนน้อย ผู้ที่ออกแรงทำงานทำให้หัวใจต้องทำงานเยอะกว่าปกติ ก็จะมีโอกาสทำให้หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงที่ร่างกายเยอะขึ้น
เพราะฉะนั้นในภาวะที่หัวใจทำงานหนักแล้วต้องการเลือดไปเลี้ยง แต่ว่าตัวเส้นเลือดเกิดการตีบทำให้เลือดไปเลี้ยงได้ไม่ดี ก็จะยิ่งไปกระตุ้นให้มีอาการเกิดขึ้น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า อาการของโรค ปกติโรคหัวใจเป็นโรคที่ค่อนข้างเกิดขึ้นมาเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง บางครั้งคนไข้มาไม่ถึงมีแพทย์ก็เกิดอาจเกิดเสียชีวิตก่อนจากหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว โดยโรคหัวใจขาดเลือดมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แบบเฉียบพลัน เช่น เป็นลมเสียชีวิต วูบกลางสนามขณะออกกำลังกาย สาเหตุก็คือเกิดจากภาวะที่ไขมันหรือว่าไขมันที่เกาะอยู่ในหลอดเลือดเกิดการแตกตัว หลุดร่อนกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นมา พอเกิดลิ่มเลือดก็ทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ หัวใจก็จะเกิดภาวะขาดเลือดรุนแรงและหยุดเต้น หรือว่าเต้นผิดปกติรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต
ส่วนอาการของโรคเรื้อรัง คนไข้จะมีอาการแน่นหน้าอกเป็นๆ หายๆ จะจุกกลางหน้าอก บางครั้งมีการร้าวขึ้นที่กราม ที่คอสองข้าง หรือว่าร้าวไปที่หัวไหล่สองข้าง หรือร้าวไปที่แขนด้านซ้าย เวลาออกแรงจะรู้สึกแน่น พอพักสัก 5 หรือ 10 นาที อาการอาจหายได้ พวกนี้มักจะมีอาการร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย บางครั้งไม่มีอาการเตือน สามารถเป็นได้ทุกเมื่อ

การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดปัจจุบัน มี 3 วิธีคือ

1. การกินยา

2. การผ่าตัด

3. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ

โดยการรักษาถึงแม้จะทำบอลลูนขยายไปแล้วหรือว่าผ่าตัดไปแล้ว คนไข้ยังต้องกินยาตลอด เพราะเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ หรือรักษาให้หายขาดได้
วิธีการป้องกัน จากปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 ข้อ มีปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ก็คืออายุ เพราะฉะนั้นก็จะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 4 ข้อที่เราสามารถป้องกันและเปลี่ยนแปลงได้คือ ถ้าคนไข้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก็จะต้องควบคุมอาหารการกิน ลดเกลือ ไม่กินเค็ม ถ้าเป็นโรคเบาหวานก็ต้องควบคุมเบาหวานให้ดีลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ส่วนโรคไขมันก็จะต้องควบคุมอาหารเช่นเดียวกัน และกินยาลดไขมัน ทั้ง 3 ปัจจัยนี้คือต้องควบคุมให้ดี ส่วนปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายคือเรื่องสูบบุหรี่ หากไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือดต้องเลิกสูบบุหรี่ หรือไม่สูบบุหรี่เลย นอกจากนี้ต้องเสริมสร้างสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เครียด ระวังอย่าให้อ้วน ลดอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้หัวใจแข็งแรง

น.พ.สุรพงษ์ วรสุวรรณรักษ์
แพทย์หัวหน้าศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลหัวเฉียว