SWIFT เผยรายงานถกแนวทางการรวมตัวทางการเงินในอาเซียน

SWIFT เผยรายงานถกแนวทางการรวมตัวทางการเงินในอาเซียน

SWIFT เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ถกแนวทางบรรลุความสำเร็จในการรวมตัวทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน

เอกสารการอภิปรายฉบับใหม่แจกแจงอุปสรรคต่อการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน และบทบาทสำคัญในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

SWIFT เผยแพร่เอกสารการอภิปรายเกี่ยวกับการรวมตัวทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดและมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในโลก โดยคาดการณ์ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 5.2% ระหว่างปี 2560 ถึง 2563  ซึ่งปัจจุบันแนวทางการรวมตัวทางการเงินของภูมิภาคนี้กำลังอยู่ในจุดผกผันสำคัญ และกำลังก้าวสู่การเป็นตลาดที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว อันจำเป็นต้องมีการทบทวนถึงหลักการพื้นฐานในการรวมตัวทางการเงินระดับภูมิภาค

เอกสารการอภิปรายฉบับใหม่นี้ได้แจกแจงปัญหาหลักซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวทางการเงินระดับภูมิภาคของอาเซียน และบ่งชี้ว่าปัญหาเหล่านี้ยังรอการแก้ไขอย่างเหมาะสมตามแผนงาน นโยบายสาธารณะ และการประสานงานด้านกิจกรรมในภาคเอกชน

เอกสารดังกล่าวได้เปิดเผยถึงการพึ่งพาตลาดภายนอกภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 การชำระเงินที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ภายในอาเซียนยังคงดำเนินการผ่านตลาดภายนอกอาเซียน และกว่า 85% เป็นการชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งธุรกรรมส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา  หรือในปี 2558-2559 นั้น การชำระเงินที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งทั้งผู้ส่งและผู้รับผลประโยชน์ต่างอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่กลับมีการทำธุรกรรมภายนอกประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 203%

ในปี 2559 ช่องว่างระหว่างตลาด ASEAN-5 และ LCMVB ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการค้าขายระหว่างทั้งสองกลุ่มมีอัตราส่วนลดลงถึง 26% ต่อปี งานวิจัยดังกล่าวยังพบด้วยว่า ปริมาณการค้าขายระหว่างอาเซียนและตลาดภายนอกอาเซียน (เช่น จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง) ได้เพิ่มสูงขึ้น โดยต้องแลกกับปริมาณการค้าขายภายในอาเซียนที่ลดลง อันแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการเพื่อส่งเสริมการค้าภายในอาเซียน เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดภายในภูมิภาค ในฐานะตลาดที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว  นอกจากนี้อาเซียนยังเผชิญกับอุปสรรคต่อการรวมตัวทางการเงิน ทั้งจากการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินทดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ภาคเอกชนที่ด้อยโอกาส และมีศักยภาพด้านดิจิทัลในระดับต่ำ  ทั้งนี้สิงคโปร์ยังคงครองตำแหน่งสำคัญในฐานะศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคอาเซียน โดย 88% ของการค้าขายมีต้นสายหรือมีผู้รับผลประโยชน์อยู่ในประเทศดังกล่าว

เอกสารการอภิปรายฉบับนี้ยังแนะนำมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสำหรับประชาคมอาเซียนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการรวมตัวทางการเงินระดับภูมิภาค การจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO 20022 สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของอาเซียน และการกำหนดผู้นำระดับตลาดเพื่อรับผิดชอบต่อการริเริ่มต่างๆ ในภูมิภาค

Rahul Bhargava ผู้อำนวยการด้านการริเริ่มตลาดการชำระเงินประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ SWIFT กล่าวว่า "ธรรมาภิบาลระดับภูมิภาคและความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2025 ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินระดับภูมิภาคของอาเซียน เอกสารการอภิปรายฉบับนี้เน้นย้ำถึงความแตกต่างอย่างมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินทั่วตลาดอาเซียนและการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานโลกอย่าง ISO 20022 การปรับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินภายในประเทศให้ทันสมัยต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย AEC 2025 และเดินไปในทางเดียวกันกับแนวโน้มต่างๆ ในระดับโลก อาทิ การก้าวสู่มาตรฐาน ISO 20022 และการชำระเงินแบบเรียลไทม์

ดังนั้นความร่วมมือในระดับสูงของผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายในการรวมตัวทางการเงินของ AEC"