“ร้าน มอก.”

 “ร้าน มอก.”

(สมอ.) ได้เปิดตัวโครงการ “ร้าน มอก.” เพื่อผลักดันร้านค้าให้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เปิดตัวโครงการ “ร้าน มอก.” เพื่อผลักดันร้านค้าให้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 เป็นโครงการในลักษณะประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล คือ โครงการที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยในคุณภาพสินค้าแก่ประชาชนและผู้บริโภค

โดยร้าน มอก. จะต้องมีคุณสมบัติคือ 1. เป็นร้านจำหน่ายที่มีสถานที่ตั้งในประเทศไทย และมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือทะเบียนการค้า หรืออื่นๆ ที่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ทำ หรือผู้นำเข้าที่มีใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน หรือ มีใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน กรณีจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ต้องมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานด้วย

เกณฑ์ในการใช้พิจารณาคือ “ร้าน มอก” ต้องมีการคัดเลือกผู้ทำ ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน มีการตรวจรับผลิตภัณฑ์เพื่อการยืนยันว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของร้านจำหน่าย มีกระบวนการรับข้อร้องเรียนและดำเนินการกับข้อร้องเรียน และมีการจัดเก็บบันทึกผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน

สำหรับขั้นตอนการเข้าร่วมเป็น “ร้าน มอก.” ประกอบด้วย 1.ร้านจำหน่ายต้องยื่นคำขอต่อ สมอ. ตามแบบที่กำหนด พร้อมเอกสารรับรองการเป็นนิติบุคคล หรือทะเบียนการค้า หรืออื่นๆ ที่เป็นไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่มีร้านจำหน่ายหลายสาขา ต้องระบุที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และสถานที่ตั้งร้านสาขาทั้งหมดที่จะขอเข้าร่วม 2.เมื่อได้รับคำขอแล้ว สมอ. จะมอบหมายคณะผู้ตรวจเพื่อตรวจสอบและยืนยันร้านจำหน่ายว่ามีคุณสมบัติและเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณา “ร้าน มอก.”ตามที่ระบุ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ 3. เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแล้ว สมอ. จะจัดทำใบรับรองและเงื่อนไขนำเสนอประธานคณะกรรมการลงนาม และจัดทำบัญชี “ร้าน มอก” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อโดยใบรับรอง “ร้าน มอก” มีอายุ 3 ปี 4. ร้านจำหน่ายที่ได้รับใบรับรองเป็น “ร้าน มอก” สามารถใช้ตราสัญลักษณ์ “ร้าน มอก.” ได้

เมื่อ สมอ. เปิดตัวโครงการ “ร้าน มอก.” ไปแล้ว สมอ. ได้ให้การส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. และประกาศเกียรติคุณแก่ร้านจำหน่ายสินค้าที่ใส่ใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดย สมอ. ดำเนินการรับสมัครผู้ประกอบการ คัดเลือก และส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากผ่านเกณฑ์กำหนดจะมอบตราสัญลักษ์หรือป้ายสัญลักษณ์ “ร้าน มอก.” โดยมีอายุรับรอง 3 ปี จนถึงขณะนี้มีร้านจำหน่ายทั่วประเทศได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ร้าน มอก.” แล้วจำนวน 8 ราย รวม 434 สาขา ดังนี้

-บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด จำนวน 42 สาขา

-บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 40 สาขา

-บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 98 สาขา

-บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) จำนวน 173 สาขา

-บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 78 สาขา

-บริษัท ไฟฟ้าชัยมงคล จำกัด

-บริษัท ฮ. รุ่งเรืองดิจิตอล (2000) จำกัด

-ร้าน ฮ. รุ่งเรือง จำกัด

      

       เป้าหมายโครงการร้าน มอก. เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ร้านจำหน่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกร้านค้าจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน ร่วมมือกันคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทางการตลาดในการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ท้องตลาดไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้

การดำเนินโครงการหลังจาก สมอ. ได้มอบป้ายสัญลักษณ์ร้าน มอก. ให้แก่ร้านจำหน่ายแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา สมอ. ได้เชิญชวนร้านจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ โดยการจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้เรื่อง “ร้าน มอก.” กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการและเจ้าของร้านค้า รวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับรู้และทราบหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการร้าน มอก. และประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อดีของร้านโมเดิร์นเทรดหลังรับป้ายร้าน มอก.

พร้อมกับ สมอ. ยังได้จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์เชิญชวนร้านจำหน่ายเข้าร่วมโครงการและตรวจติดตามร้านจำหน่าย จำนวน 12 จังหวัด ดังนี้

ครั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2559

ครั้งที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2559

 ครั้งที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2559

ครั้งที่ 4 จังหวัดอุดรธานี 19-20 มกราคม 2560

ครั้งที่ 5 จังหวัดนครปฐม 16-17 กุมภาพันธ์ 2560

ครั้งที่ 6 จังหวัดอุบลราชธานี   2-3 มีนาคม 2560

ครั้งที่ 7 จังหวัดขอนแก่น 30-31 มีนาคม 2560

ครั้งที่ 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช 20-21 เมษายน 2560

ครั้งที่ 9 จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2560

ครั้งที่ 10 จังหวัดนคราราชสีมา ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2560

ครั้งที่ 11 จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2560

ครั้งที่ 12 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2560

จากการลงพื้นที่สร้างการรับรู้ใน 3 จังหวัดที่ได้ตรวจติดตาม ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์ จากผลการประเมินพบว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนามีความพึงพอใจและเห็นความสำคัญของการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์โดยรวมร้อยละ 87.1 ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการร้านจำหน่ายในแต่ละจังหวัดสมัครข้าร่วมโครงการอีกด้วย โดย สมอ. ตั้งเป้าไว้ว่า “ร้าน มอก.” จะต้องเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี กระจายทั่วประเทศ เพื่อยืนยันว่าผู้บริโภคจะปลอดภัยจากการใช้สินค้าอุตสาหกรรม และเชื่อมั่นในเครื่องหมาย มอก. ทั้งนี้การส่งเสริมให้มีร้านจำหน่ายสินค้า มอก. ที่มีคุณภาพทั่วประเทศจึงเป็นวิธีการคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคจากการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานจากร้าน มอก.

 สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นมาตรฐานบังคับซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ สมอ. มีจำนวน ทั้งสิ้น 106 ชนิดในหลายสาขาที่สำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ พัดลม      บัลลาสซ์ เป็นต้น 2.กลุ่มสินค้าอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง เช่น ก๊อกน้ำ ฝักบัว สี เหล็กเส้น โถส้วม เป็นต้น 3. สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ของเล่นเด็ก ผงซักฟอก เป็นต้น รวมผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตมาตรฐาน บังคับ มอก. แล้วกว่า 3,000 ราย โดยที่ยังไม่นับรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก