‘ดุสิตธานี’ ทำไมต้องเปลี่ยน

 ‘ดุสิตธานี’ ทำไมต้องเปลี่ยน

ยุค “เบบี้ บูมเมอร์” และเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Gen X) อาจจะผูกพันกับความเป็น“ดุสิตธานี”เป็นพิเศษเกิดและเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับผู้คนในช่วงอายุนั้น

ตอนที่ 1 : ‘ดุสิตธานี’ ทำไมต้องเปลี่ยน

คำถามในใจใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่เกิดในยุค “เบบี้ บูมเมอร์” และเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Gen X) หลังจากรับทราบข่าวการพัฒนาพื้นที่บริเวณริมถนนพระราม 4 ต่อเนื่องถึงหัวมุมถนนสีลม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ คงจะไม่ต่างกัน นั่นคือ “ทำไมต้องเปลี่ยน”

จริงๆ อาจจะเป็นคำถามในใจของคนทุกเจเนอเรชั่น เพียงแค่ผู้คนในยุคเบบี้ บูมเมอร์ และเจน เอ็กซ์ อาจจะผูกพันกับความเป็น “ดุสิตธานี” เป็นพิเศษ เพราะโรงแรมห้าดาวหัวมุมถนนสีลมแห่งนี้ เกิดและเติบโตขึ้น พร้อมๆ กับผู้คนในช่วงอายุนั้น

หลายคนที่ผ่านเวลามาจนถึงวันนี้ ยังคงหล่อเลี้ยงความสุขของตัวเองด้วยการรำลึกถึงภาพความหลังเมื่อครั้งยังหนุ่มยังสาว เกาะเกี่ยวแขนกัน รับประทานอาหาร นั่งมองแสงสีระยิบระยับของเมืองหลวง ผ่านกระจกใสบนโรงแรมหรู จากมุมที่เคยเป็นจุดสูงที่สุดของกรุงเทพฯ เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว

คำถามเดิมดังแทรกขึ้นมาตอกย้ำอีกครั้งว่า “แล้วทำไมต้องเปลี่ยน”

“ดุสิตธานี กรุงเทพ ยืนหยัดให้บริการมายาวนานเกือบจะครบ 50 ปี และยังเป็นแบรนด์หลักของกลุ่มดุสิตธานี เราผ่านความรุ่งโรจน์ในฐานะสัญลักษณ์ของถนนสีลม และเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ มาแล้ว เมื่อมองจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเราในวันนี้ วันที่เราเดินทางไกลมาเกือบครึ่งศตวรรษ เราอยากจะพาดุสิตธานีกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้ง และเราอยากให้ทุกคนจดจำดุสิตธานีในฐานะแลนด์มาร์คของเมืองหลวง เหมือนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา” เป็นคำตอบจาก “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มดุสิตธานี  

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะต้องลองหลับตา แล้วนึกทบทวนว่า “นานแค่ไหนแล้ว ที่เราไม่ได้ก้าวเข้ามาสัมผัสกับดุสิตธานี” บางคนอาจจะ 5 ปี บางคนอาจจะ 10 ปี อาจจะ 20 ปี หรือบางทีอาจจะนานกว่านั้น หรือบางคนอาจจะต้องนึกเลยไปว่า เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ดุสิตธานีเป็นโรงแรมที่หรูหราที่สุด เป็นโรงแรมที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ แต่ ณ วันนี้ เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงอดีตที่เคยหอมหวานเท่านั้น ไม่นับรวมเรื่องของความยากลำบากหรือต้นทุนที่เจ้าของทรัพย์สินต้องจ่าย เพื่อดูแลรักษาอาคารที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่า ถูกก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น

และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงก็เดินทางมาถึง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี ขนาดเกือบ 19 ไร่ ซึ่งมีสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กำลังจะหมดสัญญาลงในเดือนมีนาคม 2561 แต่ที่ดินบริเวณริมถนนพระราม 4 ซึ่งติดกับโรงแรม จะหมดสัญญาเช่าลงก่อน ดุสิตธานีจึงมองเห็นศักยภาพในการพัฒนาที่ดินทั้งผืน ซึ่งมีขนาดรวมกัน 23 ไร่ 2 งาน 27.2 ตารางวา ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ในแง่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการสร้างภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่ต้องผสมผสานทั้งความเป็นย่านใจกลางธุรกิจ ความเป็นพื้นที่สีเขียวที่ต่อเนื่องจากสวนลุมพินี และที่ดินที่ต่อเนื่องกันทั้งผืนนี้ ยังจะช่วยเปิดให้มีทางเข้าออกหลายทาง เชื่อมต่อทั้งถนนพระราม 4 ถนนสีลม รวมถึงซอยศาลาแดงที่จะทะลุผ่านไปยังถนนสาทร ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

“โครงการพัฒนาที่ดินขนาดเกือบ 24 ไร่ มูลค่าโครงการกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท เป็นความร่วมมือระหว่างดุสิตธานี กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งเราจะแบ่งโครงการออกเป็น 4 ส่วน นั่นคือ โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพแห่งใหม่ อาคารศูนย์การค้า อาคารที่พักอาศัย และอาคารสำนักงาน นั่นหมายความว่า “ดุสิตธานี” ไม่ได้หายไปไหน ดุสิตธานีจะยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง และอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ มีคุณค่าทางจิตใจกับทุกคนที่เคยผูกพันกับเราเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราจะเก็บรักษาและดูแลเป็นอย่างดีในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะนำกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้ทุกคนได้หายคิดถึงอย่างแน่นอน”

“ศุภจี” บอกด้วยว่า ใครที่เคยมีความทรงจำดีๆ ที่ดุสิตธานี จะยังคงสามารถกลับมารำลึกได้เสมอ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะถูกผสมผสานระหว่างเก่าและใหม่ ภายใต้จิตวิญญาณเดิมของความเป็นดุสิตธานีที่สั่งสมมาตลอดเวลานานเกือบกึ่งศตวรรษ

เป็นจิตวิญญาณแห่ง “ดุสิตธานี” ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง