ญี่ปุ่นผลิตผลงานวิจัยลดลงในทศวรรษที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นผลิตผลงานวิจัยลดลงในทศวรรษที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นผลิตผลงานวิจัยลดลงในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผลงานยังคงถูกนำไปอ้างอิงเป็นจำนวนมาก

ผลงานวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ชีวโมเลกุล และภูมิคุ้มกันวิทยา ปรับตัวลดลงมากที่สุด แต่ยังคงมีผลงานวิจัยระดับท็อปและนักวิจัยชั้นแนวหน้าของโลกในหลายสาขา

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Clarivate Analytics Web of Science(TM) ซึ่งได้จากการสำรวจประสิทธิภาพงานวิจัยของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า ญี่ปุ่นมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และตามไม่ทันชาติอื่นๆ ผลการค้นพบดังกล่าวปรากฏอยู่ใน Nature Index ซึ่งศึกษาผลกระทบจากการที่ญี่ปุ่นมีผลงานวิจัยลดลง พร้อมอภิปรายถึงมาตรการต่างๆที่ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐและกลุ่มนายทุนกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อสวนกระแสขาลงดังกล่าว

https://mma.prnewswire.com/media/455613/clarivate_logo_for_press_release_Logo.jpg

ในปี 2558 นักวิจัยญี่ปุ่นตีพิมพ์ผลงานวิจัยลดลงประมาณ 600 ฉบับเมื่อเทียบกับปี 2548 ในวารสารที่มีอิทธิพลระดับโลกซึ่งถูกผนวกเข้าดัชนีของ Web of Science ถึงแม้ว่าจะลดลงไม่ถึง 1% แต่สัดส่วนผลงานวิจัยของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับทั้งโลกปรับตัวลดลงจากเดิม 8.4% เหลือเพียง 5.2% ขณะที่ยอดการตีพิมพ์ผลงานวิจัยจากจีนและเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าหลายประเทศที่มีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เติบโตเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนผลงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และญี่ปุ่น จะปรับตัวลดลงอีก เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยผลงานจากประเทศอื่นๆ

เดวิด เพนเดิลบิวรี นักวิเคราะห์ข้อมูลอ้างอิงระดับอาวุโสของ Clarivate Analytics กล่าวว่า "ประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษ เพราะผลงานวิจัยไม่เพิ่มขึ้นในหลายสาขา โดยมี 11 สาขาที่มียอดตีพิมพ์ผลงานวิจัยลดลงในปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2548 อย่างสาขาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญมาตั้งแต่อดีต ก็มียอดตีพิมพ์ลดลงกว่า 10% ส่วนสาขาที่มีผลงานวิจัยลดลงมากที่สุดคือชีวเคมีและชีวโมเลกุล วิทยาการคอมพิวเตอร์ และภูมิคุ้มกันวิทยา ทั้งที่เป็นสาขาที่ญี่ปุ่นมีการวิจัยอย่างจริงจัง" ทั้งนี้ ดาราศาสตร์เป็นสาขาเดียวที่ญี่ปุ่นมียอดตีพิมพ์ผลงานสูงกว่าค่าเฉลี่ย

อย่างไรก็ดี คุณเพนเดิลบิวรี เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นยังคงมีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอยู่มากมาย และยังเป็นผู้นำในหลายสาขา โดยกล่าวว่า "กิจกรรมการวิจัยยังคงมีอะไรให้ค้นพบอีกมากมายตลอดเวลา คล้ายกับการปอกหัวหอมที่จะพบกลีบหัวหอมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ไปเรื่อยๆ"

ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก InCites(TM) ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์และเป็นส่วนหนึ่งของ Web of Science ได้แสดงให้เห็นว่า ในส่วนของผลงานวิจัยที่มาจากญี่ปุ่นนั้น ผลงานที่ถูกอ้างอิงติดอันดับท็อป 10% ยังคงมีอย่างสม่ำเสมอในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ผลงานที่ถูกอ้างอิงติดอันดับท็อป 1% ก็เพิ่มขึ้นราว 25% แม้แต่ในสาขาภูมิคุ้มกันวิทยา ที่มีการตีพิมพ์ผลงานลดลงราว 1 ใน 3 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีจำนวนผลงานระดับท็อป 1% เพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 26% ซึ่งสูงกว่าความคาดหมาย

คุณเพนเดิลบิวรียังได้กล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ ซึซึมุ คิตางาวะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้วางแนวคิดโลหอินทรีย์, โยชิโนริ โทคุระ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้นำด้านการวิจัยมัลติเฟร์โรอิกและ Correlated Electron Systems และ มาซาทาเกะ ฮารุตะ จากมหาวิทยาลัยนครโตเกียว ผู้บุกเบิกการเร่งปฏิกิริยาด้วยทองคำ โดยคุณเพนเดิลบิวรี กล่าวว่า "Clarivate Analytics ได้แต่งตั้งบุคคลทั้งสาม รวมถึงนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นอีกหลายท่าน ให้เป็น "Citation Laureates" หรือนักวิจัยที่ผลงานถูกนำไปอ้างอิงเป็นจำนวนมาก จนเราเชื่อว่าอาจมีสิทธิได้รับรางวัลโนเบลในอนาคต"

"การวิเคราะห์ผลงานตีพิมพ์และข้อมูลอ้างอิงอย่างถี่ถ้วน เป็นวิธีที่เหมาะสมในการกำหนดนโยบายทางวิทยาศาสตร์และระดมทุน ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขจุดอ่อนและสร้างความแข็งแกร่งด้วย" คุณเพนเดิลบิวรี กล่าว

เจสสิกา เทอร์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิชาการทั่วโลกของ Clarivate Analytics กล่าวว่า "เราตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลและแหล่งอ้างอิงที่แม่นยำและเป็นกลาง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงประสิทธิภาพของผลงานวิจัย วิวัฒนาการของความคิดหรือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนอิทธิพลของความคิดใหม่ๆ ในอีกหลายปีจากนี้ ทั้งนี้ เราได้รับใช้ชุมชนวิทยาศาสตร์และวิชาการมานานกว่า 50 ปี ด้วยการมอบข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ การวิเคราะห์การอ้างอิงที่ครอบคลุม รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านบรรณมิติที่สั่งสมมานานกว่า 30 ปี เรายินดีที่ Nature Index ใช้ข้อมูลการอ้างอิงและการวิเคราะห์จาก Web of Science ในการจัดทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับญี่ปุ่นในครั้งนี้"