ก.เกษตรฯ ประกาศนโยบายยกระดับมาตรฐานการเกษตร สู่ความยั่งยืน

ก.เกษตรฯ ประกาศนโยบายยกระดับมาตรฐานการเกษตร สู่ความยั่งยืน

วางเป้าผลักดันพื้นที่แปลงใหญ่ทั่วประเทศเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP พร้อมออกมาตรการกำกับดูแลการใช้สารเคมีเข้มข้น หวังลดการใช้สารเคมีลง

 

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ปี 2560 เป็น ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยวางเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและการเพิ่มความตระหนักความรู้เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

โดยมาตรการแรก จะเร่งเดินหน้าส่งเสริมการทำการเกษตรในระบบแปลงใหญ่ วางเป้าหมาย แปลงใหญ่ทุกแปลงจะต้องพัฒนาเข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยในปี 2560 นี้ เกษตรกรในแปลงใหญ่ อย่างน้อย 25 % ของเกษตรกร แปลงใหญ่ๆ ทั่วประเทศ พร้อมออกมาตรการกำกับดูแลการใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบเพื่อลดการใช้สารเคมีลงให้ได้อย่างน้อย 10% เพื่อผลักดันนโยบายการยกระดับมาตรฐานให้เป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้ จะเร่งรัดการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการลดขั้นตอนการทำงาน และถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองให้เอกชนดำเนินการมากขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งรัดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม ด้วยการขยายเครือข่ายการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปีจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ขอรับการรับรองให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า “ในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งเดินหน้าในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น มุ่งเน้นไปที่มาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตร 2 ประเภท คือ มาตรฐาน จี เอ พี หรือ มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย ซึ่งสามารถใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตได้ แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องและเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และต้องมีการเว้นระยะให้สารสลายตัวก่อนการเก็บเกี่ยว และอีกประเภทคือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ เน้นการใช้ปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ”

นางสาวดุจเดือน กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระระดับมาตรฐานการเกษตรของไทย ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามที่คาดหวังไว้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ การบูรณาการการดำเนินการร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานอื่นๆ ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรเป็นฐานรากที่สำคัญที่จะทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐาน

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้รับซื้อสินค้า ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะเป็นผู้กำหนดคุณภาพมาตรฐาน ของวัตถุดิบที่ต้องการใช้ และท้ายที่สุดความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ นำมาตรฐานการเกษตรไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะทำให้การเกษตรของไทยพัฒนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในที่สุด นางสาวดุจเดือนกล่าว