ยลเสน่ห์งานศิลป์และการพัฒนาตามรอยเส้นทางทรงงาน

ยลเสน่ห์งานศิลป์และการพัฒนาตามรอยเส้นทางทรงงาน

โครงการวิจัยการท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดำริ “แม่ของแผ่นดิน มิ่งขวัญชาวไทย”

 

กว่ากว่าครึ่งศตวรรษที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้ริเริ่มโครงการในพระราชดำริที่สะท้อนถึงความรักความห่วงใยในฐานะแม่ของแผ่นดินที่มีต่อปวงชนชาวไทย

        ชุดโครงการมุ่งเป้าท่องเที่ยว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน จึงได้จัดทำโครงการวิจัยการท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดำริ “แม่ของแผ่นดิน มิ่งขวัญชาวไทย” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙โดยมี รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นหัวหน้าโครงการเพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน โดยพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดำริในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เกิดการกระจายรายได้และโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับการท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่น ๆ

 

เส้นทางท่องเที่ยวทรงงาน นครพนม-สกลนคร

       พื้นที่จุดกำเนิดของของโครงการพระราชดำริ เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ณ วัดธาตุประสิทธิ์ หมู่ ๔ ตำบลนาหว้าอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์รู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์แบบพื้นบ้าน ทรงมีรับสั่งให้ราษฎรทอผ้าไหมเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกปี และได้เริ่มส่งเสริมการทอผ้าไหมโดยอาศัยหลักการ “ฟื้นฟูการทอผ้าไหมในช่วงว่างจากการประกอบอาชีพทำนา”

ต่อมามีราษฎรสนใจเข้าร่วมทอผ้ามากขึ้นจึงได้จัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหม” ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นกลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ และพระราชทานจัดให้มีการฝึกอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมเพิ่มความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่สมาชิก พร้อมกับโปรดรับซื้อผ้าไหมที่สมาชิกทอขึ้นทุกปี จนกระทั้งเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ รับสั่งให้ตั้งชื่อกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอนาหว้า ชื่อ “กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของการอนุรักษ์วิถีการทอผ้าไหมลายยกมุกย้อมสีธรรมชาติตามแบบฉบับบ้านนาหว้า อีกทั้งยังมีการทอผ้าอื่น ๆ จำหน่ายในราคาย่อมเยา อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมพื้นเรียบ

       แม่วงเดือน อุดมเดชาเวทย์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ และวิทยากรกลุ่มงานอาชีพทอผ้าของสภาวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจว่าแม้จะทอผ้าเป็นตั้งแต่เด็กแต่เมื่อเกษียณอายุจากอาชีพพยาบาล ก็หัดทอผ้าอย่างจริงจังจนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเหรียญพระราชทานสองพระองค์ที่ทรงคล้องด้วยพระหัตถ์ แม่วงเดือนจึงใส่ติดตัวเป็นประจำด้วยความภาคภูมิใจ

        “แม้วันนี้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคตแล้ว ก็ยังมียอดสั่งผ้าดำเข้ามาจำนวนมาก นับว่าทั้งสองพระองค์ช่วยเหลือราษฎรในการสร้างงานสร้างเงินและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชาวนาหว้า มีบ้านมีรถ พลิกความยากจนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งรายใดที่ทอผ้าประกวดได้รางวัลยิ่งมีคนจองตัวให้ทอผ้า ผ้ายิ่งขายได้ราคาแพงขึ้น ที่ผ่านมาแม่ได้ทอผ้าถวายหลายครั้งหลายโอกาส ทั้งเมื่อครั้งครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ฉลองพระชนมายุ ๘๘ พรรษา และล่าสุดได้ทอผ้าไหมยกมุกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความยาว ๗๓ เมตร ซึ่งรอทูลเกล้าฯ ถวาย ผ้าไหมยกมุกเป็นการสืบสานภูมิปัญญาชาวไทญ้อที่อพยพจากตอนเหนือของหลวงพระบางเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชนกลุ่มแรก เป็นผ้าทอที่มีความสวยงาม ประณีต มีเอกลักษณ์โดดเด่น”

นอกจากแพรวาบ้านโพนแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเยี่ยมชมศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้เปิดโครงการขึ้นในปี ๒๕๒๖ เพื่อไม่ให้ราษฎรย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่นและหยุดตัดไม้ทำลายป่า ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน ๕๐ ไร่โดยไม่ขอรับพระราชทานค่าตอบแทนใด ๆ ทางศูนย์ฯ ได้รับราษฎรเป็นสมาชิกฝึกศิลปาชีพพิเศษ อาทิ เครื่องปั้นดินเผา แกะสลักไม้ เฟอร์นิเจอร์ ดอกไม้ประดิษฐ์ ตัดเย็บเสื้อผ้า จักสานผักตบชวา อาหารและขนม ตีเหล็ก ออกแบบภาชนะ บรรจุภัณฑ์ หล่อโลหะ ทอผ้าและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้ราษฎรที่เป็นสมาชิกกว่า ๑๔๐ คน มีรายได้จากงานทอผ้าและหัตถศิลป์เหล่านี้ จนสามารถยกระดับฐานะได้พอสมควร

การทอผ้าของสมาชิกบ้านกุดนาขามมี ๒ ส่วน คือ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและฟอกย้อมเอง กับรับเส้นไหมจากกองงานศิลปาชีพที่มาแจกจ่ายให้สมาชิก ราคารับซื้อแต่ละผืนแตกต่างกันไปตามความสามารถของผู้ทอว่ามีคุณภาพและความสวยงามเพียงใดทั้งผ้าพื้นและผ้าลาย ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้คิดลวดลายขึ้นมาเอง โดยราคาขั้นต่ำผืนละ ๕๐๐ บาท ขณะที่ผ้าแพรวาจะราคาสูงตกเมตรละไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ที่จังหวัดสกลนครยังมีกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การไหว้พระธาตุเชิงชุม และกิจกรรมการเรียนรู้งานด้านปศุสัตว์และการเกษตรอินทรีย์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพาน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้พบกับ “สามดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน” อันเป็นผลงานด้านการศึกษาและพัฒนา ได้แก่ “โคพันธุ์ทาจิมะภูพานหรือวัวดำภูพาน” มีความโดดเด่นที่ให้เนื้อคุณภาพดีที่สุดในโลก แม้แต่เชฟห้าด้าวยังต้องยกนิ้วให้ ลักษณะเนื้อมีความนุ่มไขมันแทรกเกรดสูงและมีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่อกรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไปจึงปลอดภัยต่อการบริโภค “หมูพันธุ์ภูพาน” มีลักษณะภายนอกเป็นสีดำ เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีความต้านทานต่อโรค ลูกดกและให้ปริมาณเนื้อแดงมากเมื่อนำไปขุน “ไก่ดำภูพาน” เป็นไก่ที่มีเนื้อดำ กระดูกดำ ชาวจีนนิยมบริโภคโดยมีความเชื่อว่าเมื่อทานแล้วจะช่วยบำรุงสุขภาพและเป็นยารักษาโรคซึ่งปัจจุบันมี 3 สี คือ ดำ ขาว และทอง

“ศูนย์ฯ แห่งนี้จะต้องเป็น one stop service และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต มีความน่าสนใจและมีประโยชน์ ให้คนเข้ามาดูเพราะอยากเข้ามาศึกษาเรียนรู้ไม่ใช่ถูกบังคับ มีการวิจัยและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชาวบ้านและเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง”น.สพ.พิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดสกลนคร ย้อนถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

ความคืบหน้าของงานด้านปศุสัตว์คุณหมอบอกว่าขณะนี้กำลังพัฒนาไก่ดำสีที่ ๔ ให้มีสีสันสดใสถูกใจวัยรุ่น คาดว่าอีก ๒ ปีจะแล้วเสร็จ รวมถึงมหัศจรรย์ที่ ๔ ของภูพาน คือ กระต่ายป่า ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบ้านเนื่องจากเนื้อนุ่มอร่อย สามารถพัฒนาให้มีต้นทุนการเลี้ยงที่ถูกที่สุด นั่นคือ มีเพียงหญ้าและน้ำเป็นอาหาร ทั้งนี้ภูพานมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ฝนตกชุก อากาศหนาวเย็น อีกทั้งเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคต่าง ๆ หากสายพันธุ์จากภูพานรอดหากนำไปเลี้ยงในที่อื่น ๆ ก็ต้องรอดเช่นกัน

 

เส้นทางท่องเที่ยวจากน้ำพระทัยสู่.....ผ้าไหมแพรวา(กาฬสินธุ์ มุกดาหาร)

คนรักผ้าไหมทอมือต้องไม่พลาดผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ซึ่งเป็นแพรพรรณอันสวยงามที่คนรักผ้าทั่วทุกมุมโลกรู้จักและต้องห้ามพลาดที่จะมาเยือน “บ้านโพน” อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ หมู่บ้านย้อนยุคของชาวผู้ไทยที่มีวัฒนธรรมเป็นพี่น้องกันทั้งหมู่บ้านมาช้านาน นอกจากชีวิตที่สงบ สวยงามแล้ว ชาวผู้ไทยยังรักการทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ ผ้าทอลวดลายพิเศษของที่นี่โด่งดังไปทั่วโลก “แพร” หมายถึง ผ้า “วา” หมายถึง ความยาว ๑ วา (๒ เมตร) ในอดีตผ้าแพรวาจะทอหน้าแคบ แต่ปัจจุบันพัฒนาให้เป็นผ้าทอหน้ากว้าง

แพรวามีความวิจิตรบรรจงจนได้ชื่อว่าเป็น “แพรวาราชินีแห่งไหม” ด้วยลวดลายที่แตกต่างกันถึง ๖๐ ลาย แม่คำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ประจำปี ๒๕๕๙ วัย ๗๘ ปีเล่าว่า ทุกบ้านจะต้องมี “ผ้าแซ่ว” เป็นต้นแบบลายดั้งเดิมโบราณสืบต่อมาจากบรรพบุรุษเด็กสาวทุกคนจะต้องเรียนทอผ้าตัดเสื้อใส่เอง ใครทำไม่เป็นก็จะออกเรือนยาก ในปี ๒๕๒๐ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเห็นผ้าที่ตนทอใส่ จึงตรัสชมว่าสวยและรับสั่งถามว่าทอให้ได้หรือไม่ ตนจึงทอผ้าสำหรับตัดชุดฉลองพระองค์ถวาย ณ วังไกลกังวล ในปี ๒๕๒๑ พระองค์รับสั่งว่า “งานของปู่ย่าตายาย อย่าให้สูญหาย” จึงได้ทอผ้ามาเรื่อย และเป็นครูสอนตามพระราชประสงค์แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมาขอเรียนและศึกษาดูงานอยู่ตลอด

“แม่ภูมิใจที่ได้ถวายงานและได้ถ่ายทอดวิชาโดยไม่คิดค่าสอน เพราะอยากให้ลูกหลานคนรุ่นหลังทอผ้าเป็น เท่านี้ก็รู้สึกเหมือนกับได้ขึ้นสวรรค์แล้ว ส่วนรางวัลศิลปินแห่งชาตินั้นก็คงเป็นเพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทุกวันนี้รู้สึกมีบุญที่ได้ช่วยบ้านช่วยเมือง งานหลวงไม่ให้ขาด งานราษฎร์ไม่ให้เสีย และยึดคติว่าคุณภาพต้องเหนือกว่าปริมาณ ทำตัวแบบพอดีพอเพียง ตามรอยพระองค์ท่าน”

ขณะที่นางสมศรี สระทอง ลูกสะใภ้คนเก่งของแม่คำสอน ในฐานะประธานโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เสริมว่ารู้สึกเบาใจได้ว่าภูมิปัญญาบรรพบุรุษจะไม่สูญหาย เพราะเด็ก ๆ ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่ร่น ผ้าไหมแพรวาบ้านโพนถือว่าเป็นต้นตำรับของแท้ที่ได้รับเครื่องหมาย GI อันเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่รับประกันคุณภาพ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ในแถบภาคอีสานจะชอบสีสันฉูดฉาดสดใส ส่วนกรุงเทพฯ ลูกค้าจะเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป ลูกค้าประจำบางคนสั่งผ้าที่ทอยาก ๆ กว่า ๑๐ ลายทุกปี ราคาขั้นต่ำผืนละ ๘๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการมาช่วยอบรมเรื่องการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ตามความต้องการของลูกค้าและเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ

ณ บ้านโพนแห่งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ เป็นพระสหายเมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรผู้ไทย แม่คำใหม่ได้แต่งชุดภูไท สไบแพรวาซึ่งยืมจากเพื่อนบ้าน ไปรอทูลเกล้าฯ ถวายหมอนขิด ๙ ใบพระองค์มีรับสั่งชื่นชมว่าผ้าสวยดี มีมากไหม ซึ่งตอบไปว่ามีไม่มากเพราะทำยากมาก “แม่เป็นคนต่ำต้อย รู้สึกดีใจมาก เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านขนาดนี้” จึงเอื้อมมือไปจับพระหัตถ์ วันต่อมามีนายตำรวจและข้าราชการจากอำเภอคำม่วงนำไหม ๖ กิโลกรัมมาให้ แต่ไม่มีใครทอ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษม

สันต์ ราชเลขาธิการฯ จึงแต่งตั้งให้แม่คำใหม่เป็นหัวหน้ากลุ่มทอผ้าไหมแพรวา เพื่อนำไปเป็นตัวอย่าง ต่อมาแม่ได้เข้าเรียนการย้อมสีผ้าไหมให้คงทน นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล ซึ่งพระองค์มีผ้าสไบแพรวาที่ทอถวายบนฉลองพระองค์ด้วย และเข้ามาจูงมือแม่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น กลายเป็นที่มาของภาพประวัติศาสตร์บุคคลในภาพที่มีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท

        อีกเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของ “วัฒนธรรมภูไท” คือ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภู ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมและเชิงเกษตรวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างประหยัดและพอเพียงมีแหล่งเรียนรู้ ๖ ฐาน ได้แก่ ฐานลดรายจ่าย ฐานเพิ่มรายได้ ฐานประหยัด ฐานเรียนรู้ ฐานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และฐานเอื้ออารี พร้อมลิ้มรสอาหารที่ส่วนมากจะเป็นผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ รวมถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ย้อมผ้าจากเปลือกไม้ธรรมชาติ และทอผ้า การแต่งกายผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นสีดำ ตีนซิ่นมีลาย สวมเสื้อแขนยาวสีดำแถบแดง ผู้ชายใช้ชุดเสื้อม่อฮ่อม นิยมแต่งในงานประเพณีต่างๆ มีศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การฟ้อนผู้ไทยรื่นรมย์กับการพักผ่อนในโฮมสเตย์ที่ได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวประมาณ ๘๐หลัง รวม๒๘๐คนโดยมีอาหารให้รับประทานตลอด ๓มื้อในราคา ๖๐๐บาท/คน/คืนชุมชนบ้านภูจึงนับเป็นชุมชนเข้มแข็งที่เป็นแบบอย่างที่ดีจนได้รับรางวัลมากาย เช่น โล่รางวัลพระราชทานในฐานะหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนดีเด่นด้วยการดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

       ...นับเป็นอีกหนึ่งโครงการวิจัยจาก สกว. ที่จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปพบกับเรื่องราวความเป็นมาของโครงการพระราชดำริ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ “แม่ของแผ่นดิน” ที่ทรงงานเพื่อปวงประชาชนมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน