ฟอลคอนประกันภัย รุกปรับยุทธศาสตร์โครงสร้างบริหาร

ฟอลคอนประกันภัย รุกปรับยุทธศาสตร์โครงสร้างบริหาร

มุ่งยกระดับองค์กร ประกาศพร้อมก้าวสู่ประกันภัยยุคดิจิทัล ตอบโจทย์นโยบายรัฐฯ Thailand 4.0


 

ฟอลคอนประกันภัย เดินหน้ารุกปรับยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างการบริหารองค์กร พร้อมมุ่งพัฒนานำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบต่างๆ ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง มั่นใจศักยภาพเต็มร้อยทั้งด้านเงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่ประกันภัยยุคดิจิทัล สอดรับนโยบายเศรษฐกิจ Thailand 4.0

 

นางโสภา กาญจนรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งกฏหมายใหม่ที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจประกันภัยไทยได้ถึง 100% พร้อมทั้งกฎหมายที่เตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการทำธุรกรรมทาง electronic ของธุรกิจประกันภัย เริ่มตั้งแต่การเสนอขายประกันภัย การจัดส่งกรมธรรม์ประกันภัย การรับชำระเบี้ยประกัน การให้บริการสินไหม การชำระเงินสินไหม ประกอบกับพฤติกรรมการซื้อประกันภัยของผู้บริโภค Gen Y และ Gen Z ที่เป็นกำลังซื้อหลักในอีก 10 ปีข้างหน้าที่เปลี่ยนไป ต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้วยตนเอง (Consumer Choice) ผ่านช่องทาง electronic นั้น ส่งผลให้ธุรกิจประกันจะต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้

ในส่วนของฟอลคอนประกันภัยเอง มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันกับตลาดในอนาคตแล้วในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเงินทุนของบริษัทฯ และความแข็งแกร่งด้านการเงินจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ บุคลากรที่มากด้วยประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณารับประกันภัย และการพิจารณาสินไหม ในส่วนของเทคโนโลยี ฟอลคอนประกันภัยได้เตรียมพร้อมเพื่อสามารถตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล Thailand 4.0 และพร้อมรองรับกฏหมายเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่หน่วยงานภาครัฐเตรียมประกาศใช้ รวมถึงความตั้งใจที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในด้านความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าด้วยมาตรฐานสากล ISO27001”

 

การแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในด้านโครงสร้างบริหารและการจัดการ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน เพิ่มความคล่องตัวในการปฎิบัติงาน และยังสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการได้อีกทางหนึ่ง โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานทั้งภายในองค์กร การให้บริการลูกค้าและพันธมิตรทางการค้า อาทิการใช้ Workflow System และ Electronic Document มาจัดการกระบวนการรับประกันภัย การออกกรมธรรม์ การบริการสินไหม ตลอดจนการจ่ายชำระสินไหม การพัฒนาบุคลากรด้วยระบบ E-Learning การนำเสนอและการขายประกันภัยผ่านระบบ E-Commerce ให้แก่ลูกค้ารายเดี่ยว การส่งกรมธรรม์แบบอิเล็คทรอนิกส์ (E-Policy) ให้แก่ลูกค้ารายเดี่ยวและลูกค้าองค์กร รวมถึงการพัฒนาการจ่ายสินไหมผ่านระบบ E-Payment ตลอดจนการใช้ Electronic Admin system ภายในองค์กร

 

นางโสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ฟอลคอนฯ ได้มีการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมด้วยความหลากหลายของกรมธรรม์ที่ครอบคลุมทั้งทรัพย์สินและสุขภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกไลฟ์สไตล์ สามารถเลือกซื้อประกันภัยได้ตลอด 24 ชม. ด้วยแผนกรมธรรม์ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ในราคาที่เป็นธรรม สามารถกำหนดวันในการเริ่มรับประกันภัยและวันต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยได้ด้วยตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าที่มีภาระต้องซื้อกรมธรรม์หรือต่ออายุกรมธรรม์มากกว่า 1 ฉบับ พร้อมทั้งเตรียมเปิดตัว Package สินค้าใหม่ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเป็น Package โดยได้ความคุ้มครองทั้งทรัพย์สินและสุขภาพในการซื้อครั้งเดียว นอกจากนี้ ฟอลคอนประกันภัยยังได้เตรียมความพร้อมด้านการให้บริการสินไหม Fast Track Claim ที่พร้อมจ่ายสินไหมภายใน 7 วัน สำหรับวงเงินค่าสินไหมที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท และภายใน 14 วันสำหรับการจ่ายค่าสินไหมที่มีวงเงิน 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงเตรียมเปิดบริการด้านการให้บริการสินไหมรถยนต์รูปแบบใหม่ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน ด้วยการซ่อมรถในห้างสรรพสินค้า โดยให้บริการซ่อมแผลเฉี่ยวชนเล็กๆ ภายใน 2-3 ชั่วโมงภายใต้แนวคิด จอดรถ ดูหนัง ทานข้าว กลับมารับรถที่ซ่อมเสร็จ ขับกลับบ้านได้เลย โดยบริการนี้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีความจำเป็นต้องใช้รถทุกวัน”

 

ในปี 2560 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมไว้ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท หรือเติบโตด้วยอัตรา 15% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา และสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2559 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 1,743 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นกว่าปี 2558 ประมาณ 92 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.5% โดยมีเบี้ยจากกลุ่มผลิตภัณฑ์รายย่อย 883 ล้านบาท คิดเป็น 51% จากกลุ่มธุรกิจองค์กร 860 ล้านบาท คิดเป็น 49% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน 570 ล้านบาท ประกันภัยรถยนต์ 509 ล้านบาท ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 333 ล้านบาท ประกันภัยวิศวกรรม 98 ล้านบาท ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 197 ล้านบาท และประกันภัยการขนส่งทางทะเล 36 ล้านบาท ซึ่งนับว่าฟอลคอนประกันภัย ยังสามารถเติบโตกว่าตลาดที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 2%

 

นางโสภา กล่าวปิดท้ายว่า “หากมองถึงทิศทางของธุรกิจประกันวินาศภัยในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติเชิงบวกต่อการประกันภัย รวมถึงลูกค้าสามารถรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญในการทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยงของชีวิตและทรัพย์สิน โดยในอนาคตผู้บริโภคจะสามารถเข้าใจผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้ดีขึ้นจากการหาข้อมูล Contents จาก Social Network และแน่นอนว่าประกันภัยจะมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ มีรูปแบบการเสนอขายผ่านหลายช่องทาง และจะเข้ามามีบทบาทอย่างใกล้ชิดต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งเน้นการลงทุนทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของธุรกิจประกันภัย ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการด้านสินไหมได้สะดวก รวดเร็ว โดยหน่วยงานภาครัฐจะปรับบทบาทในการช่วยปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายนี้ ซึ่งปี 2560 นับเป็น ‘ปีแห่งการขับเคลื่อนการประกันภัยสู่ยุคดิจิทัล’ ฟอลคอนประกันภัยฯ เป็นหนึ่งในธุรกิจประกันวินาศภัยไทยที่เตรียมพร้อมก้าวสู่ประกันภัยยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและมีมาตรฐานสากล ISO27001 รองรับสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล และมีศักยภาพในการให้บริการในยุคดิจิทัล สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจ Thailand 4.0 อย่างแน่นอน”

 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ

บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน)                   

พรรณทิพย์ ตันทองทิพย์                                              

ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์                                   

 โทร.02 676 9888

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์                                                 

กุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์                                       

โทร. 094 154 5698                                                   

E-mail: [email protected]