“โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง”

“โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง”

ผลสำเร็จโครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการ สู่การสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน

 

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการซีพีเอฟ “อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ปีที่ 3 ส่งเสริมและจัดการผลผลิตอย่างยั่งยืน ชูโรงเรียนบ้านใหม่สำโรง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นโรงเรียนต้นแบบจัดการผลผลิตและอาหารที่ถูกโภชนาการ เพื่อพัฒนาสู่ภาวะโภชนาการสมวัยตามเกณฑ์ของนักเรียน พร้อมขยายผลสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตอาหารตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

วันนี้ ทางโรงเรียนและซีพีเอฟ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “การจัดการผลผลิต สู่ ตลาดนัดพอเพียง” เพื่อนำเสนอความสำเร็จของโรงเรียนภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตอาหารตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลสู่การสร้างทักษะอาชีพ และรายได้ให้กับโรงเรียน ซึ่งซีพีเอฟได้ใช้เป็นต้นแบบในการส่งเสริมให้โรงเรียนอื่นนำไปต่อยอดสร้างการผลิตอาหารและโภชนาการ ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

นายนัฐพงศ์ เถาะสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่สำโรง กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคตในวันนี้เกิดจากความร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2558 ที่โรงเรียนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการผลผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้สุขโภชนาการ ตั้งแต่ การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกผักปลอดสาร รวมถึง สุขลักษณะในการผลิตอาหารที่ดี (GMP) การแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ หลักการทำบัญชีการเงิน และการจัดหาสถาบันการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในการเพาะหัวเชื้อเห็ด

“จนถึงวันนี้ โรงเรียนสามารถต่อยอดความรู้และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตอาหารใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองในการผลิต ลดต้นทุนและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในชุมชน” นายนัฐพงศ์ กล่าว

นายนัฐพงศ์ ย้ำว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีในการดำเนินโครงการฯ ซีพีเอฟ ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดการผลผลิตอาหารเพียงพอและโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมตามวัย นักเรียนได้รับอาหารคุณภาพและปลอดภัย สอดคล้องแนวทางการดำเนินโครงการฯ โรงเรียนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบสำหรับอาหารกลางวันนักเรียน และที่สำคัญยังเป็นแหล่งเรียนรู้ใช้ฝึกปฏิบัติในการทำการเกษตรและผลิตอาหารของโรงเรียน และขยายผลเป็นทักษะพื้นฐานในการประกอบอาชีพ

โรงเรียนบ้านใหม่สำโรงเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา เป็นโรงเรียนต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาภาวะโภชนาการขาดของโรงเรียนที่มีอัตราสูงถึง 14 คนของจำนวนนักเรียนประมาณ 197 คน ในปีการศึกษา 2557 ซึ่งจากผลการดำเนินงาน ภาวะโภชนาการขาดของเด็กในแต่ละปีมีอัตราลดลง และในวันนี้ไม่มีเด็กที่มีความสูงและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

“ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ไม่เพียงสร้างโภชนาการที่ดี และทักษะอาชีพด้านเกษตรให้เยาวชนเท่านั้น แต่ยังช่วยปลูกฝังคุณธรรมความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม และความซื่อสัตย์ให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประชากรที่มีคุณภาพของสังคมอีกด้วย” ผอ.รร.บ้านใหม่สำโรง กล่าว

นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” เป็นโครงการ ที่ดำเนินตามแนวทางการดำเนินงานด้านสังคมและชุมชนของบริษัท ด้วยกลยุทธ์ 4 ผสาน ขีด-คิด-ร่วม—ข่าย โดย ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิพัฒนาชนบท เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนในพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มบริษัทได้มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการอย่างเพียงพอให้แก่เด็กไทย และติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตอาหารต้นแบบของโรงเรียนและชุมชน เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ในปี 2558 โครงการฯ เริ่มต้นสนับสนุน 67 โรงเรียนและในปี 2560 นี้ มีโรงเรียนสนใจมาเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 72 แห่ง

“จากการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ระหว่างภาครัฐ ชุมชน และพนักงาน CPF เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในโครงการ มีการกำหนดเป้าหมายและการวัดผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคตเห็ดนางฟ้าเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียน ได้รับรางวัล “CPF CSR to Sustainability Awards” ระดับยอดเยี่ยมด้านอาหารมั่นคงจากซีพีเอฟ ในปี 2559 และซีพีเอฟใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลให้โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป” นายสุธีกล่าว

สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการฯ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2558-2562)  ซีพีเอฟจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีการจัดการด้านผลผลิตอาหาร โดยสนับสนุนองค์ความรู้แก่โรงเรียนในการจัดการผลผลิตและอาหารที่ถูกหลักโภชนาการมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างเช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยอบรมครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ด้านโภชนาการอาหารทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และกระตุ้นให้โรงเรียนใช้ประโยชน์โปรแกรม Thai School Lunch เข้ามาช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันมีคุณภาพสูงและมีโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอกับการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียนและผลักดันให้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการของโรงเรียนขึ้น เพื่อขยายผลไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและอาชีพของชุมชนตามเป้าหมายของโครงการฯ ต่อไป./