ศศินทร์นำนวัตกรรมทางการแพทย์รักษาโรคพังผืดกดเส้นประสาทข้อมือ

ศศินทร์นำนวัตกรรมทางการแพทย์รักษาโรคพังผืดกดเส้นประสาทข้อมือ

เพื่อช่วยลดค่ารักษา และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย พร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นางสาวสายชลี จงกลรัตนาภรณ์นิสิต MBA สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(Sasin) เป็นหนึ่งในทีม MediQuipซึ่งชนะแผนการแข่งขันธุรกิจระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ ได้เปิดเผยถึงที่มา ว่า เป็นแผนธุรกิจที่นำเข้าแข่งขันระดับโลกหลายเวที เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อใช้สำหรับรักษา“โรคพังผืดกดเส้นประสาทข้อมือ” โดยเครื่องมือที่ว่านี้มาจากการคิดค้นของอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย และทางทีม MediQuipมีความเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องพังผืดกดเส้นประสาท มีโอกาสหายได้ นอกจากนี้ยังราคาไม่แพง ขั้นตอนการรักษาสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพทางการรักษาอีกด้วย เครื่องมือที่ว่านี้ เป็นพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ โดยจะมีสองชิ้น ประกอบด้วย ชิ้นแรกสำหรับการเปิดแผลเพื่อเข้าไปดูลักษณะของอาการที่เป็น และชิ้นที่สองจะเป็นเครื่องมือในการผ่าตัดพังผืดที่ว่านี้ ซี่งขั้นตอนการรักษาทั้งหมดนี้ จะสะดวกรวดเร็ว ภายในเวลา 8 นาทีเท่านั้น ขณะนี้เครื่องมือดังกล่าว ได้นำไปทดสอบประสิทธิภาพทางการรักษากับคนไข้ประมาณ 400 คน ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ โดยผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ และที่ผ่านมายังไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆตามมาอีกด้วย

นางสาวสายชลี กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องมือในการรักษาโรคพังผืดกดเส้นประสาทข้อมือ ในต่างประเทศก็มีการผลิต แต่เมื่อมีการนำเข้ามารักษาคนไข้ในประเทศ ค่อนข้างจะมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นเพื่อให้คนไทยที่มีอาการของโรคนี้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทั่วถึง ด้วยราคาไม่แพง และมีประสิทธิภาพทางการรักษา และการพักฟื้นใช้ระยะเวลาไม่มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จากสถิติพบว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ หรือผู้ที่ใช้ข้อมือในการทำงานค่อนข้างเยอะ รวมทั้งผู้ที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนไป โดยมีประชากรทั่วโลกประมาณ 1-2 เปอร์เซนต์เป็นโรคดังกล่าว

นายสุรญาณช์ ปานเดย์ หนึ่งในสมาชิกทีม ได้เปิดเผยถึงแผนการตลาดว่า สำหรับเหตุผลที่สนใจนวัตกรรมทางการแพทย์ดังกล่าว เนื่องจากโอกาสทางการตลาดในอนาคตจะเพิ่มขึ้น จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคพังผืดกดเส้นประสาทข้อมือได้ จากการใช้งาน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเป็นโรคนี้ ดังนั้นตลาดของเราก็จะรองรับคนกลุ่มนี้ในอนาคต และยังเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อคนส่วนรวมอีกด้วยอย่างไรก็ตามเครื่องมือเพื่อใช้สำหรับรักษา“โรคพังผืดกดเส้นประสาทข้อมือ” ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น ก่อนนำออกสู่ตลาดทางการแพทย์ โดยตั้งเป้าจะออกวางตลาดในประเทศภายในปีนี้ ก่อนจะขยับขยายตลาดไปยังต่างประเทศ มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ เช่น แคนาดา จีน สหรัฐอเมริกาและไทย

ทั้งนี้ทีม MediQuipได้นำนวัตกรรมดังกล่าวพร้อมแผนทางธุรกิจ เข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลก โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันแผนธุรกิจ the Stu Clark Investment Competition การแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 และเป็นการแข่งขันแผนธุรกิจระดับปริญญาโท ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศแคนาดา โดยชนะทีมจาก มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์, นอร์ทเวสเทิร์น, อาร์คันซอ, ออริกอน, และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์

ก่อนหน้านี้ เข้ารอบสุดท้าย ของการแข่งขัน Asia Venture Challenge และยังได้รับรางวัลจากการเขียนแผนธุรกิจยอดเยี่ยมในการแข่งขัน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้จัดการแข่งขัน

สมาชิกทีมMediQuipประกอบด้วย นายปภพ โกยแก้วพริ้ง นางสาววริฎฐา ศิวเวชช นายสุรญาณช์ ปานเดย์ MBA 2015 และนางสาวสายชลี จงกลรัตนาภรณ์ MBA 2014 โดยมี นายนิกม์ พิศลยบุตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์ผู้ประกอบการลงทุนศศินทร์ ( SEC )

สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่

วรารัตน์ วงศ์ประทีป, Assistant Head of Marketing and Communications

หรือ 02-218- 3853-4

 

แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร, Marketing and Communications Coordinator

หรือ 02-218- 3853-4, 081-808-5910