สุดขั้วโลกของสุชนา ชวนิชย์

สุดขั้วโลกของสุชนา ชวนิชย์

เป็นนักวิจัยที่เดินทางไปทั้งขั้วโลกเหนือและใต้ และเป็นคนชอบออกกำลังกาย

 “ถ้าถูกปล่อยเกาะ แล้วเกาะนั้นเต็มไปด้วยธรรมชาติ แม้จะอยู่ขั้วโลก ไม่มีเทคโนโลยี  เราก็อยู่ได้ ขอให้ได้สัมผัสธรรมชาติ และนี่เป็นความชอบส่วนตัว ” รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ เล่าให้ฟัง ก่อนออกเดินทางไปประเทศนอร์เวย์ เพื่อทำวิจัยท่ามกลางธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ภายใต้โครงการวิจัยโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยเดินทางไปพร้อมทีมงานอีก 12 ชีวิต

 

และอีกไม่กี่วัน ทีมงานทั้งหมดจะกลับมาเมืองไทย หลังจากส่งข่าวมาว่า น้ำทะเลขั้วโลกอุ่นขึ้นเฉลี่ย 5 องศาและปัญหาโลกร้อนวิกฤติแล้ว พบว่าไม่ค่อยเห็นน้ำแข็งในทะเล  ภูเขาน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งมากนัก   เทียบกับฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ ยังเห็นแผ่นน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งอยู่จำนวนมาก  แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้น  ทำให้น้ำแข็งละลาย ขณะเดียวกันยังพบหมีขั้วโลกหันมากินพืชเป็นอาหาร ปริมาณสาหร่ายและแมงกะพรุนในทะเลเพิ่มขึ้น และกวางเรนเดียร์กินสาหร่ายมากขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ เธอเคยเดินทางไปทำงานวิจัยขั้วโลกใต้สองครั้ง เรื่องผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในทะเล

     รศ.ดร.สุชนา เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาตรี โทและเอก ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาฯ และเป็นครูสอนดำน้ำ รวมถึงทำงานวิจัยทางทะเล เพื่อศึกษาปะการังใต้น้ำที่เกาะแสมสาร จ.ชลบุรี

 

ช่วยเล่าประสบการณ์การดำน้ำในขั้วโลกใต้สักนิด

เราเอง ก็เคยไปเรียนที่อเมริกา และเริ่มเรียนดำน้ำที่นั่น ตอนนั้นหัดดำน้ำทางเหนือติดแคนาดา ก็ขั้วโลกเหมือนกัน เราก็มีประสบการณ์มาพอควร ตอนไปขั้วโลกใต้มีปัญหามาก โดยเฉพาะงานที่ต้องทำคนเดียว ต้องเก็บตัวอย่างและถ่ายภาพด้วยตัวเอง แต่การไปขั้วโลกเหนือครั้งนี้ เรามีทีมงานช่วย ถ้าแบ่งงานดีๆ จะเก็บรายละเอียดตามที่เราคาดไว้ 

ตอนไปขั้วโลกใต้ การดำน้ำต้องทำทุกอย่างในเวลาจำกัดไม่เกิน 30 นาที จริงๆ แล้วดำน้ำอากาศเย็นๆ แบบนั้น 15-20 นาทีก็แย่แล้ว มือชา สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ มือของเราจะไวมากเมื่อสัมผัสน้ำเย็น มือชาเมื่อไหร่จะทำงานไม่ได้เลย ครั้งนี้เรามีชุดดำน้ำ มีถุงมือที่น้ำไม่เข้า โอกาสที่มือจะชาหรือถูกน้ำมีน้อยมาก แต่หน้าก็ต้องถูกน้ำ จะชาตั้งแต่หนึ่งนาทีแรก

เรียนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จำเป็นต้องดำน้ำเป็นไหม

ไม่จำเป็น ถ้าทำงานวิจัยด้านการเพาะเลี้ยง หรือเป็นนักฟิสิกส์หรือนักเคมีทางทะเล แต่เราทำเรื่องระบบนิเวศน์ทางทะเล เราก็ควรจะดำน้ำได้ เพื่อจะได้เห็นสัตว์น้ำในทะเล

อะไรทำให้หลงใหลทะเล

ชอบทะเลตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อคุณแม่มีเวลาก็พาไปชายทะเล และเราก็เป็นนักดำน้ำ นักวิ่งระยะ 800 -1,500 เมตร แต่ตอนนี้ว่ายน้ำอย่างเดียว อายุขนาดนี้ก็ยังลงแข่งว่ายน้ำทีมอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปกติก็ชอบไปดำน้ำที่เกาะแสมสาร จ.ชลบุรี เพราะเรามีโครงการวิจัยที่นั่น แต่ที่ชอบมากที่สุดคือ เกาะสิมิลัน ที่นั่นยังสวยอยู่

ไปขั้วโลกเหนือครั้งนี้ เตรียมตัวยังไง

ตอนไปขั้วโลกใต้ครั้งแรกอยู่สี่เดือน ครั้งที่สองเดือนเดียว การใช้ชีวิตอยู่กับนักวิจัยหลายชาติแปดสิบกว่าคน ต้องออกไปข้างนอกป็นกลุ่ม เราจะจัดการชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้ แต่สุดท้ายทำงานกับคนกลุ่มเล็กๆ สี่คน การอยู่กับคนต่างชาติ เราต้องปรับตัวให้ได้ ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ ก็จะลำบาก

โชคดีที่มีประสบการณ์จากขั้วโลกใต้ แต่ก็ยังต้องฝึกดำน้ำ และว่ายน้ำวันละสองกิโลเมตร ต้องยกเวท เพราะอายุมากขึ้น เมื่อก่อนไม่เคยยกเวท (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ต้องทำเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ต้องคุมอาหารและเสริมกล้ามเนื้อ เพราะถังอากาศเพื่อใช้ดำน้ำ หนักมาก

ครั้งนี้สบายใจ เพราะมีทีมไปกับเราเยอะ ไปขั้วโลกใต้ครั้งแรกไปเจอคนญี่ปุ่น ครั้งที่สองไปเจอคนจีน ไม่รู้ว่าจะได้ดำน้ำกับใคร แต่ครั้งนี้เราก็ฝึกดำน้ำกับอาจารย์วรณพ วิยกาญจน์มาตลอด และจะได้ไปดำน้ำด้วยกันที่ขั้วโลกเหนือ เคยทำงานด้วยกันก็เลยไม่ค่อยกังวล และก่อนออกเดินทาง สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ ต้องมีการตรวจสภาพจิตว่า มีความเข้มแข็งแค่ไหน

แสดงว่าเป็นคนเข้มแข็ง?

เป็นความหลงใหลในการดำน้ำมากกว่า และชอบธรรมชาติ

นอกจากทำงานวิจัยที่ขั้วโลกเหนือ อยากเห็นอะไรอีก

 เราเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับธรรมชาติ ตอนไปขั้วโลกใต้อยากไปเห็นเพนกวิน ส่วนขั้วโลกเหนือ ใฝ่ฝันว่าจะได้เห็นหมีขาว เพราะไม่เคยเห็น มีคนบอกว่า มันอันตรายและดุ และอยากเห็นสุนัขจิ้งจอกขาวด้วย

หลังจากกลับจากขั้วโลกเหนือ จะเอางานวิจัยมาใช้กับสังคมยังไง

งานวิจัยของเราไม่สามารถตอบปัญหาได้ทั้งหมด เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ เราเชื่อว่า จิํ๊กซอว์ของเราจะสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจใต้น้ำ และเราจะได้แลกเปลี่ยนกับนักวิจัยต่างประเทศ นักวิจัยนอร์เวย์บอกว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาแทบจะไม่มีโอกาสลงไปสำรวจใต้น้ำ เพราะกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน แต่นักวิจัยไทยมีโอกาสที่จะไปดำน้ำเพื่อเก็บตัวอย่าง ซึ่งสำคัญมากที่จะได้ทราบว่า สภาพแวดล้อมในทะเลขั้วโลกเป็นยังไง

ทั้งๆ ที่ในเมืองไทยก็มีประเด็นให้ทำวิจัยเยอะแยะ ทำไมต้องไปที่ขั้วโลกเหนือ

งานวิจัยโลกร้อนที่ขั้วโลกเป็นงานระดับนานาชาติ เราไปที่นั่นเพื่อแสดงให้ชาติอื่นๆ เห็นว่า เราแคร์ปัญหาระดับโลก งานวิจัยในเมืองไทย เราก็ทำที่เกาะแสมสาร เรื่องผลกระทบต่อโลกร้อนที่มีต่อปะการัง ซึ่งน่าเป็นห่วง ถ้าอุณหภูมิน้ำในทะเลสูงขึ้นเรื่่อยๆ ปะการังไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ งานที่เราทำร่วมกับอาจารย์วรณพ คือ พยายามที่จะเก็บไข่และสเปิร์มปะการังมาเพาะเลี้ยงให้ทนต่อโลกร้อนได้ ถ้าเราคิดจะฟื้นฟูอย่างเดียว มันทนต่อสภาวะแวดล้อมไม่ได้ ตอนนี้เราทำเรื่องสะเปิร์มปะการังสำเร็จแล้ว แต่ไข่ยังเพาะเลี้ยงไม่สำเร็จ ถ้าเมื่อใดระบบนิเวศน์ทางทะเลมีปัญหา เรามีสะเปิร์มปะการังเก็บไว้แล้ว

.................................

ล่าสุดงานวิจัยที่ขั้วโลกเหนือที่เธอและทีมงานส่งข่าวคราวมาให้อ่าน...

อุณหภูมิที่ขั้วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิปกติ  มากกว่า องศาเซลเซียส  ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ขั้วโลกเปลี่ยน  สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารได้เพียงพอ  ทั้งนี้การดำน้ำที่ขั้วโลกเหนือในครั้งนี้  ไม่ใช่แค่ต้องเผชิญกับน้ำทะเลที่เย็นจัด อุณหภูมิเกือบศูนย์องศา  

ที่สำคัญมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางทีมดำน้ำได้ลงไปในบริเวณใกล้ธารน้ำแข็ง และเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำแข็งละลายสูงมาก ทำให้น้ำบริเวณดังกล่าวขุ่นมาก จากน้ำจืดของน้ำแข็งที่ไหลลงทะเล เมื่อทางทีมดำน้ำลึกลงไปประมาณ 2-3 เมตรตามปกติน้ำที่ระดับน้ำลึกลงไปน้ำทะเลต้องใสมากขึ้น แต่พื้นที่นั้นกลับขุ่นมากกว่าปกติ

เมื่อทีมงานดำลงไปที่ความลึกระดับ 10 เมตรซึ่งเป็นระดับที่มีน้ำขุ่นมากและมีทัศนะวิสัยการมองเห็นใต้น้ำเพียง 0 เมตร อันตรายมากจนตนแอบคิดถอดใจที่จะได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าหากเรามองไม่เห็นแล้วดำน้ำต่อไปอาจจะพลาดตกไปในส่วนลาดชันใต้ทะเลที่มีระดับความลึก 40 เมตรได้ แต่สุดท้าย ทุกคนก็สามารถที่จะขึ้นมาจากน้ำได้อย่างปลอดภัย 

เก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ขยะพลาสติกขนาดเล็ก และมลพิษ