จาก “เอชดี ดูโอ” ถึง “โอเปร่า ไฮไลท์ส”

จาก “เอชดี ดูโอ” ถึง “โอเปร่า ไฮไลท์ส”

HD Duo การเดี่ยวแซกโซโฟนและเปียโนของ David Howie และ Michael Duke คู่หูทางดนตรีคลาสสิก ชาวออสเตรเลีย ที่หาชมได้ยากยิ่ง

ผู้เขียนยอมรับว่า เป็นแฟนขาประจำ ไปชมและฟังคอนเสิร์ต จัดโดย ดีแอนด์เอ็ม มิวสิค สตูดิโอ เป็นประจำที่ห้องแสดงดนตรี สยามรัชดา ออดิทอเรียม ชั้นใต้ดิน ตึกฟอร์จูน ทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก ด้วยเหตุผลหลายประการ

            ประการแรก เดินทางสะดวก เพราะมีรถไฟใต้ดิน สถานีพระรามเก้า อยู่ตรงใต้ตึกฟอร์จูน ทาวน์ พอดี ประการต่อมาคือ เป็นห้องแสดงดนตรีเล็กๆ กระทัดรัด ใกล้ชิดทั้งนักดนตรีที่แสดงดนตรีและผู้ชมผู้ฟัง

            ระยะเวลาที่ใช้แสดงคอนเสิร์ต ประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ไม่ “ยาว” นานเกินไป ตามเวลาการแสดงปกติของคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกทั่วไป ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับผู้ฟังยุค “เร่งรีบ” และ มี “กิจกรรมอื่นๆ” อีกมากมาย ย่อมเป็นเวลาแสดง ที่เข้ากับ “จริต” ของคนเจนฯ นี้ได้เป็นอย่างดี  

            ในหลายประเทศ ในหลายองค์กรศิลปะวัฒนธรรม ที่จัดการแสดงดนตรีคลาสสิก บางโปรแกรมการแสดง เลือกที่จะใช้เวลาแสดงน้อยลง แสดงในเวลาที่ไม่ปกติ (ไม่จำเป็นต้องแสดงเวลาสองทุ่ม) อาจแสดงเวลาหกโมงเย็น เล่นคอนเสิร์ตเพียง 1 ชั่วโมง จบแล้วมีเวลากลับบ้านไปพักผ่อน เพื่อตื่นขึ้นมาอย่างสบายๆ เพื่อไปทำงานต่อไป

            เป็นความจำเป็น เป็นการปรับตัวขององค์กรจัดการแสดงดนตรีคลาสสิก ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้คนยุคนี้

            โดยเฉพาะในส่วนของผู้ชมผู้ฟังดนตรีรุ่นใหม่ พฤติกรรมการ “ฟังดนตรี” พลิกโฉมไปอย่างมากมาย สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “วงการดนตรีที่เคยรู้จักตายไปแล้ว” อันเป็นผลมาจากการเลิกฟังจากสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีที่จับต้องได้  ไปสู่แนวทาง สตรีมมิ่ง เพลงมาฟัง ซึ่งในหลายกรณีไม่เป็นธรรมกับผู้สร้างสรรค์งานนัก

            เป็น “ยุคทอง” ของผู้บริโภคงานดนตรี แต่เป็นยุค “ย่ำแย่” ของผู้สร้างสรรค์งาน ในใจผู้เขียนยังนึกหวาดหวั่นใจไม่ได้ว่า สักวันหนึ่งอาจลามมาถึงการชมและฟังการแสดงดนตรี “สด” ด้วย

            เพราะระยะหลังๆ ผู้เขียนรู้สึกว่าผู้สนใจชมและฟังดนตรีคลาสสิก ในแต่ละคอนเสิร์ตที่ผู้เขียนมีโอกาสไปชมและฟังมา ค่อนข้างลดน้อยลงอย่างน่าประหลาดใจยิ่ง

            ในแง่การบริหารจัดการแสดงดนตรี องค์กรศิลปะวัฒนธรรมในบ้านเรา บางองค์กรเป็นองค์กรที่ค่อนข้าง “อนุรักษ์” การจะ “ปรับตัว” เปลี่ยนแปลง ดำเนินไปอย่าง “อืดอาด” และ กล้าๆ กลัวๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านนี้

            ทำให้ไม่เห็นรูปแบบใหม่ๆ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการแสดงดนตรีคลาสสิกในบ้านเรา ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ เรื่องง่ายๆ อาทิ สถานที่แสดง และ เวลาการแสดง

ไม่ต้องคิดไกลไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ โปรแกรมการแสดง, รูปแบบการแสดง, วงดนตรีและนักดนตรี ฯลฯ ที่อาจสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหนุ่มสาว เจนฯ นี้ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมการฟังเพลงที่แตกต่างไปจากอดีต อย่างสิ้นเชิง

--------------------------

            คอนเสิร์ต HD Duo – Saxophone & Piano Recital แสดงเมื่อเวลา 18.00 น. ห้องแสดงดนตรี สยามรัชดา ออดิทอเรียม เมื่อวันอาทิตย์ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลายคนอาจสงสัยว่า HD Duo หมายถึงอะไร?

            H เป็นอักษรแรกของนามสกุลผู้เล่นเปียโนชื่อว่า David Howie ส่วน D มาจากอักษรแรกของนามสกุลผู้เล่นแซกโซโฟน คือ Michael Duke เป็นนักดนตรี “ดูโอ” คู่หูทางดนตรีคลาสสิก ชาวออสเตรเลีย

            ผู้เขียนตั้งใจมาฟังการแสดงนี้ เพราะการเดี่ยวแซกโซโฟนและเปียโนเพลงคลาสสิก ค่อนข้างหาฟังได้ยาก ทั้งจากการแสดงสดและสื่อผลิตซ้ำทางดนตรี

            อีกทั้งโปรแกรมการแสดงในบ้านเรา เย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการแสดงครั้งแรก หรือ “เวิลด์ พรีเมียร์” ผลงานของนักแต่งเพลงคลาสสิก ชาวไทย 2 ท่าน และ นักแต่งเพลงต่างชาติอีก 2 ท่านเช่นเดียวกัน

            เพลง Isaan ผลงานเพลงของ เด่น อยู่ประเสริฐ  เป็นเพลงแรกที่ ไมเคิล ดุ๊ก เดี่ยวอัลโต แซกโซโฟน บรรเลงเปียโนประชันและคลอโดย เดวิด ฮาววี  สุ้มเสียงดนตรีสมัยใหม่ แปลกหู แต่ไม่เป็นดนตรีร่วมสมัยที่แหวกออกไปมากนัก ฟังได้สบายๆ มีกลิ่นอายอีสานแฝงเร้นอยู่บ้าง ถ้าฟังอย่างตั้งใจในบางวลีเพลง

            เพลง Three Spirits of ASEAN ผลงานเพลงของ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร แบ่งเป็น 3 ท่อน ท่อนแรก The Chant of Rattanatri เพื่อนพ้องหลายคนที่นั่งฟังอยู่ด้วย มีความเห็นตรงกันว่า สีสันเสียงอัลโต แซกโซโฟน ฟังคล้ายบทสวดมนต์ของไทย

            ผู้เขียนฟังผลงานเพลงของนักแต่งเพลงคลาสสิกไทยทั้ง 2 ท่าน รู้สึกชื่นชอบมาก เพราะเป็นเพลงคลาสสิกตะวันตก ที่ไม่ได้ใส่ “ความเป็นไทย” เข้าไปอย่าง “ทื่อๆ” (ผ่านทำนองเพลงหรือจังหวะ ซึ่งนักแต่งเพลงบางคนนิยมทำกัน) แต่แฝงอยู่ลึกๆ ลักษณะเป็น “กลิ่นอาย” บางๆ อย่างแยบยล ผ่านเทคนิคการประพันธ์ดนตรีหลากหลาย เพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการนี้

            ผลงาน 2 เพลงของ 2 คีตกวีชาวไทย ยิ่งน่าฟังมากขึ้น เมื่อผู้ถ่ายทอดบทเพลงมีความสันทัด จัดเจน ความชำนาญ การบรรเลงแซกโซโฟน และเปียโน ระดับมืออาชีพแถวหน้าสุด

            เสียงแซกโซโฟน ทั้งอัลโต แซกโซโฟน และ โซปราโน แซกโซโฟน (ในบางเพลง) แม่นยำในเรื่องระดับเสียง เทคนิคการใช้ลม สร้างสรรค์เสียงดนตรีน่าฟัง รวมถึง “เทคนิคแปลกๆ” อาทิ เป่าโซปราโน แซกโซโฟน เข้าหาสายเปียโน เพื่อให้เกิดการเสียงแปลกหูของเปียโน เพิ่มขึ้นมาอีก 

            มือเปียโน อาวุโส สามารถเล่นแนวทำนองและเสียงประสานนำในบางช่วงตอนได้สีสันเข้ากับเสียงแซกโซโฟน โดยเฉพาะ ไดนามิคส์ หรือความดัง-เบาของเสียงดนตรี สอดคล้อง สมดุล สมกับเป็น “ดูโอ” ทางดนตรี เล่นร่วมกันมายาวนาน

            น่าเสียดาย ที่ไม่มีรายละเอียด เบื้องหน้า เบื้องหลัง ของบทเพลงแต่ละเพลงที่นำมาบรรเลง แต่ผู้เขียนคิดว่า ก็ดีไปอย่าง เพราะไม่ต้องพยายามฟังเพลงตามจินตนาการ ที่อาจถูกชี้นำด้วยรายละเอียดของเพลง ซึ่งปรากฏอยู่ในสูจิบัตรการแสดง

            เพราะผู้ชมผู้ฟังสามารถมี “จินตนาการอิสระ” ในการฟังเพลง ตามอัตวิสัยของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ไม่มี “กรอบ” มากำหนดไว้ก่อน

            เป็นค่ำคืนการฟังเพลงของผู้เขียน เมื่อจบการแสดง กลับบ้านไป “นอนหลับและฝันดี” ครับ

----------------------------

 

  ศัศยา ชวลิต & ณัฐพร ธรรมาธิ

             เพื่อให้ได้เกิดการ “เสียดาย” แทนผู้สนใจ ที่พลาดคอนเสิร์ต HD Duo โดยเฉพาะการแสดงผลงานทางดนตรีของศิลปินชาวไทย ผู้เขียนอยากแนะนำ คอนเสิร์ต Opera Highlights บรรเลงโดยวง รอยัล บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา แสดงวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เวลา 20.00 น. อำนวยเพลงโดย โคจิ คาวาโมโต (Koji Kawamoto)

            เพราะเป็นคอนเสิร์ต ขับร้องบทเพลงเอก จากอุปรากรดังหลายเรื่อง โดยนักร้องชาวไทย 2 คน จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการขับร้อง จากมหาวิทยาลัยโมสาร์ทเทียม เมืองซัลซ์บวร์กประเทศออสเตรีย ปัจจุบันใช้ชีวิตการร้องเพลงอุปรากรอยู่ในต่างประเทศ  มี “ตัวแทนด้านดนตรี” บริหารจัดการงานดนตรีให้ทั้งคู่อย่างจริงจัง

            ศัศยา ชวลิต นักร้องหญิง เสียงโซปราโน สมัยที่เธอเรียนดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คอเพลงบ้านเราหลายคน รู้จักเธอในฐานะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันด้านดนตรี รายการ โอซาก้า เนชั่นเนล มิวสิค คอมเพติชั่น และได้เข้าสุดท้ายของการแข่งขัน

            ณัฐพร ธรรมาธิ นักร้องชาย เสียงเทเนอร์ ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เช่นเดียวกัน ผ่านการแข่งขันและคว้ารางวัลการร้องเพลงมาแล้วหลายสนาม ผลงานล่าสุด เขาจะได้แสดงและขับร้องนำ อุปรากรประพันธ์ขึ้นมาใหม่ เรื่อง T.H.A.M.O.S. นำบทเพลงของโมสาร์ทมาเป็นเพลงหลัก จะแสดงครั้งแรกในเทศกาลดนตรี “โมสาร์ท วีค” ปี ค.ศ. 2019 ณ เมืองซัลซ์บวร์ก

            นักร้องชาวไทย โด่งดังระดับนานาชาติ น่าจะไปให้กำลังใจ และ “รื่นรมย์” กับบทเพลงร้อง ในคอนเสิร์ต “โอเปร่า ไฮไลท์ส” ... แสดงวันพรุ่งนี้ครับ