ทำเล่นๆ ที่โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

ทำเล่นๆ ที่โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

เรื่องเล่นๆ ที่่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือทำ ในพิพิธภัณฑ์เล่นได้...

 

“ของเล่นพื้นบ้านมีทุกที่ในเมืองไทย แต่มันหายไปหมดแล้ว เราใช้เวลาสามปีในการสืบหา สืบค้น ดึงศักยภาพและประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้กลับมา ทำให้เป็นจริงอีกครั้ง” วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ และโรงเล่น อ.แม่สลวย ต.ป่าแดด จ.เชียงราย กล่าว       

ว่ากันว่า ของเล่นพื้นบ้านชุมชนป่าแดด เคยมีมาตั้งแต่อดีต สมัยก่อนพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หาวัสดุรอบตัวมาประดิษฐ์เป็นของเล่นให้ลูกหลาน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันและสอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น การดูทิศทางลม การเลื่อยไม้ ตัดไม้ การตำข้าว โดยจำลองกิจกรรมในชีวิตจริงถ่ายทอดออกมาในรูปของเล่น 

ของเล่นแต่ละชิ้น จึงเป็นบันทึกความทรงจำของผู้ประดิษฐ์ ที่เล่าเรื่องราว และ เหตุการณ์ในอดีตได้เป็นอย่างดี

แต่ของเล่นเหล่านี้ได้หายไปตามกาลเวลา เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ จึงได้รื้อฟื้นของเล่นพื้นบ้านกลับมาอีกครั้ง เพราะมีผู้สูงอายุหลายคนมีทักษะในเรื่องเหล่านี้ คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้จึงใช้ของเล่นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน

-1-

ลองนึกถึงของเล่นพื้นบ้านสักชิ้น โคมหมุน หรือ กำหมุน ทำจากไผ่เหี้ยะ ไผ่รอก วิธีเล่นก็ง่ายมาก ใช้มือด้านหนึ่งกำไม้ อีกด้านหนึ่งดึงเชือก เพื่อให้ใบพัดหมุน แกนใบพัดก็จะหมุนไปหมุนกลับตามจังหวะที่ดึงและผ่อนเชือก 

ของเล่นชิ้นนี้ ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ใช้หลักการแรงยืดหยุ่นของเชือกและความเฉื่อยของการหมุน แต่ถ้ามองในแง่พัฒนาการ เด็กๆ ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็ก ทั้งนิ้วและแขน รวมถึงมือและประสาทตาได้ประสานเป็นหนึ่งเดียว

ถ้าให้นึกถึงของเล่นพื้นบ้านอีกชิ้น ใบพัด หรือคอปเตอร์ไม้ไผ่ ทำจากไผ่บง เล่นโดยการปั่นให้ลอยหมุนทะยานขึ้นฟ้า ใบจะมีลักษณะบาดเฉียง เพื่อให้ได้องศาของการปั่น

วีรวัฒน์ บอกว่า ของเล่นเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายมาก เพราะเด็กทุกคนเคยผ่านการเล่น 

"ของเล่นจับต้องได้ เป็นรูปธรรม แต่การเล่นเป็นเครื่องมือเชิงนามธรรม ”     

เมื่อคิดจะฟื้นของเล่นพื้นบ้านที่มีอยู่ดั้งเดิมกลับคืนมา วีรวัฒน์เชื่อว่า ต้องไม่ทำเล่นๆ ที่สำคัญคือ ต้องมีความยั่งยืน และเชื่อเต็มร้อยว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒนาเด็ก ทั้งแง่ความคิดและจินตนาการ

"เราไม่ได้พูดถึงการศึกษาในระบบที่มีปริญญา เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในชุมชนมีองค์ความรู้ แต่ไม่มั่นใจว่าความรู้เหล่านั้นใช้งานได้จริง เราก็ถอดรหัสและย่อยให้เห็นประโยชน์ของเล่น เพราะส่วนใหญ่เด็กๆ ก็มุ่งกวดวิชา เราไม่ค่อยเจอเด็กที่เรียนสูงๆ แล้วกลับมาพัฒนาชุมชน แม้จะมี ก็น้อยมาก”

 -2-

เด็กในยุคปัจจุบันแทบจะไม่เคยเห็นลูกข่างไม้ ไม่ว่าลูกข่างโว้ ลูกข่างสตางค์ ลูกข่างสะบ้า ของเล่นเหล่านี้ทำด้วยมือ โดยใช้หลักการแรงโน้มถ่วงของโลก 

วีรวัฒน์ เล่าต่อว่า ถ้าเราสอนเด็กทำของเล่น ผลิตซ้ำความรู้สม่ำเสมอ เราได้ลองมาสามปีแล้ว เด็กๆ วัย 14-17 บางคนสามารถต่อยอดความรู้ สร้างของเล่นพื้นบ้านชิ้นใหม่ที่โรงเล่น โดยคิดจากกระบวนการเล่น สู่เครื่องฉายภาพ 3 มิติ หรือเครื่องโฮโลแกรม 

“เด็กๆ ใช้ศาสตร์พื้นบ้านเรียนรู้ 4.0 ซึ่งทำได้จริง เราจะเสนอเรื่องนี้ที่เวทีประชุมวิชาการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร คนส่วนใหญ่มองว่า ของเล่นพื้นบ้านที่เคยมีอยู่ในสังคม มาจากผู้สูงอายุ แต่พวกเราถอดรหัสแล้วบอกว่า เป็นความจริงแค่ส่วนเดียว"

ของเล่นพื้นบ้านที่ถ่ายทอดจากภูมิปัญญาคนเฒ่าคนแก่ วีรวัฒน์ บอกว่า  ในวิชาวัสดุศาสตร์ เราจะพาเด็กๆ เดินป่า ปลูกป่า ทำฝาย เรียนรู้วัสดุที่มีในท้องถิ่น

"สิบกว่าปีที่เราทำเรื่องนี้ เรามั่นใจว่า วัสดุมากมายสร้างของเล่นได้หลากหลาย เราได้รู้ว่า ของเล่นเกิดจากเครื่องมือพื้นบ้าน สำหรับเด็กแล้ว ทักษะการใช้เครื่องมือสำคัญมากในโลกอนาคต เพราะพวกเขาได้ทั้งสมาธิ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความระมัดระวังในการใช้ของมีคม ต้องค่อยๆ เหลาไม้ เป็นศาสตร์ที่นำไปใช้กับชีวิตจริงได้ และอีกส่วนที่สำคัญ คือจินตนาการเราพยายามทำเรื่องนี้ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ไม่อยากให้หยุดแค่ตัวบุคคล

โดยส่วนตัวผมสนใจสามเรื่อง คือ ประวัติศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ และเรื่องจิตวิทยาเด็ก รวมถึงปรัชญาการศึกษา การศึกษาในโลกปัจจุบัน โลกอนาคต เปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ระบบโครงสร้างการศึกษาของรัฐตามไม่ทัน เรียนยังไงก็ทำอย่างนั้น ผมคิดว่า คนที่เข้าใจอดีต จะรู้จักปัจจุบัน และเห็นอนาคต ถ้าเรามั่นใจว่ากระบวนการเหล่านี้หล่อหลอมเด็กๆ ได้ จากของเล่นสามชิ้นห้าชิ้น พวกเขาคิดประดิษฐ์จนกลายเป็นร้อยๆ ชิ้น”

ของเล่นเป็นเสมือนวัฒนธรรมสากล ที่คนทั้งโลกมีจุดร่วมเดียวกัน อย่างลูกข่าง ทุกคนต่างรู้ดีว่า มันหมุนได้ เนื่องจากมีจุดศูนย์ถ่วงที่มั่นคง  ยิ่งมั่นคงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหมุนนานเท่านั้น

วีรวัฒน์ บอกว่า ลูกข่างสตางค์น่าทึ่งมาก คนเฒ่าคนแก่ลองทำจากสตางค์รู พวกเขาทำจากความทรงจำสมัยเด็กๆ  ทำออกมาก็หมุนได้ ในเรื่องประวัติศาสตร์พื้นบ้าน เราพบว่า คนสมัยก่อนหยิบทุกอย่างรอบตัวมาทำของเล่นได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งสตางค์ที่ใช้ทำของเล่น แต่คนยุคเราหยิบสตางค์ไปซื้อของเล่น

“เพราะคนสมัยก่อนสังเกตและเกิดกระบวนการเรียนรู้ อย่างของเล่นไม้ที่เรียกว่า แมลงปอ เราก็นำมาต่อยอด ทำเป็นแมลงปอสมดุล คำนวณองศา ชั่งน้ำหนัก ทำให้แมลงปอ ของเล่นเวอร์ชั่นใหม่เกาะได้ทุกพื้นผิว แม้กระทั่งปลายนิ้ว ก็เกาะได้ ไม่หล่น”

-3-

 โรงเล่น จึงเป็นเสมือนห้องทดลองของเด็กๆ ได้เรียนรู้ทั้งจินตนาการ การออกแบบ และการใช้วัสดุในท้องถิ่น 

วีรวัฒน์ บอกว่า ก็ต้องมีการทดลอง ในชุมชนก็มีการปลูกไผ่หลายชนิดมากขึ้น และมีห้องปฏิบัติการ

“วิทยาศาสตร์ยังมีห้องแล็ฺบ เราก็ต้องมีห้องทดลองทางสังคม เพื่อหาเครื่องมือใหม่ๆ เมื่อเรามีโค้ช ที่ปรึกษาเฉพาะด้าน เราก็ค่อยๆ ศึกษา ใช้ไผ่ท้องถิ่นยี่สิบกว่าชนิด ไผ่ตง ไผ่ลวก ฯลฯ ทำตั้งแต่แปลงทดลองหัดปลูก เครื่องมือที่มีอยู่ก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ทุกเรื่อง ทำมาสิบกว่าปี กว่าจะสำเร็จ ก็ล้มลุกคลุกคลาน

ตอนนี้เรานำนิทรรศการเล่นได้ ออกไปนอกชุมชน  เอาความรู้ไปเสริฟให้ถึงที่ สามารถทำให้เกิดกระบวนการพัฒนา เพราะคนไม่อยากมาไกลถึงเชียงราย และเราไม่สามารถรับได้ทุกคณะ เพราะเราต้องทำงาน และเราก็ไม่เคยมีเงินทุนสนับสนุนเป็นเรื่องเป็นราว แต่เราก็บันทึกเรื่องราวของเล่นพื้นบ้านไว้ในหนังสือ  ใครสนใจศึกษา ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ผมเองก็เริ่มจากศูนย์ ผมแค่อยากมีส่วนพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่แค่วาทกรรม เราทำอย่างต่อเนื่อง มีโมเดลให้เห็นผ่านการลงมือทำ"

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เขาจึงอยากให้มีหลักสูตรท้องถิ่นการทำของเล่นพื้นบ้าน ในโรงเรียนชนบทที่มีต้นทุนทางสังคมคล้ายๆ ชุมชนป่าแดด

"ถ้าทำเป็นหลักสูตร ผมคิดว่า เด็กๆ ต้องใช้เวลาสักสองปีในการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เทอมเดียว ปีเดียว ถ้าทำแบบนัั้น ไม่เห็นผล ทำสองปี เพื่อให้เด็กๆ ค้นพบบางอย่างและต่อยอดได้ หรืออาจยกระดับเป็นวาระมีเทศกาลเล่น มหกรรมการเล่น ที่มีการอธิบายการเล่น”

ตัวเขาเอง ก็มีหน้าที่สอนกระบวนการทำของเล่นพื้นบ้านในโรงเล่น และเปิดกว้างสำหรับคนอยากเรียนรู้

“จากที่เรานำของเล่นพื้นบ้านไปออกงาน พบว่า คนเมืองโหยหา เราก็ช่วยเติมเต็มสิ่งที่พวกเขาขาด เพราะเด็กๆ ในเมืองไม่ค่อยได้สัมผัสธรรมชาติ ได้แต่ติวและกวดวิชา ส่วนเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนน้อยมาก ซึ่งเด็กที่มาเรียนก็พัฒนามาเป็นโค้ชหรือคนทำงาน แต่ถ้าเด็กๆ หรือผู้ใหญ่อยากเรียนรู้เป็นหมู่คณะต้องแจ้งล่วงหน้า ต้องใช้เวลาเรียนรู้อย่างต่ำสักสามชั่วโมง แต่ถ้ามาถ่ายรูปมาเช็คอินอย่างเดียว ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย”

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า ถ้าเด็กๆ ได้ลงมือทำของเล่นด้วยตัวเอง พวกเขาจะเข้าใจกลไกบางอย่าง ทั้งแง่มุมวิทยาศาสตร์ และศิลปะ 

“การลงมือทำและการเล่นจะทำให้พวกเขาเข้าใจกระบวนการเล่น ทำให้เขาค้นพบทางเลือก นำไปปรับใช้ในอนาคต”

.................

โมเดลเล็กๆ ชุมชนป่าแดด

-20 ปีที่แล้ว ได้มีการริเริ่มกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ องค์กรการทำงาน เน้นการมีส่วนร่วม พัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุเชื่อมโยงกับคนหนุ่มสาวและเด็กๆ เพื่อทำของเล่นพื้นบ้าน ส่วนพิพิธภัณฑ์เล่นได้ และ โรงเล่น เป็นโครงการที่ใช้ทำงาน โดยนำภูมิปัญญาผู้สูงอายุมาปรับใช้ ทำงานเป็นองค์รวม

-พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ทำหน้าที่สนับสนุนสร้างความมั่นใจกับสมาชิก แม้ตอนแรกจะทำไม่ได้ ถ้าไม่หยุดเรียนรู้ สักวันก็จะทำได้

-กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ หาใช่กลุ่มสูงวัยที่ไม่มีอะไรทำ วีรวัฒน์ ย้ำว่า “ไม่มีหรอก คนไม่มีอะไรทำ มีแต่คนไม่อยากทำ และคนอยากจนในเมืองไทย”

-หากชุมชนไม่รู้จักพึ่งพิงตนเอง ก็จะเดินสู่หายนะ ถ้าพวกเขาไม่สามารถคิดทำในแบบที่เขาต้องการ พวกเขาก็จะถูกชี้นำและสั่งการเหมือนเดิม

-เด็กๆ มีศักยภาพ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงโลก  ถ้าผู้ใหญ่ให้โอกาสและฟังเขา ที่สำคัญคือ เด็ก ๆ ต้องการแบบอย่างที่ดีมากกว่าการพร่ำสอน นี่เป็นการพัฒนาเด็กๆ ด้วยเหตุผล และทำได้จริง โดยให้เวลาและพื้่นที่ 

-กระบวนการนี้ ไม่ได้ใช้ของเล่นเป็นเป้าหมาย แล้วยัดความรู้ให้คนในชุมชน แต่ใช้สถานการณ์สังคมเชื่อมโยงให้เห็นว่า ชุมชนมีทางเลือก ไม่ใช่รอนโยบายอย่างเดียว

-นี่คือโมเดลเล็กๆ ในชุมชนที่ห่างจากเมืองหลวง 800 กว่ากิโลเมตร ชุมชนที่มีวัฒนธรรมของตัวเอง ที่สำคัญคือ ต้องมีการปลุกพลัง

IMG_6321 - ติดตามข่าวสารได้เฟซบุ๊ค โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้