‘ทรายขาว’ สาวงามปัตตานี

‘ทรายขาว’ สาวงามปัตตานี

หากข่าวสารทางลบเปรียบเป็นกำแพงหนา เรื่องราวหลังกำแพงคงเหมือนหญิงสาวที่ถูกจองจำไว้ในห้องปิดตาย ไม่ได้เฉิดโฉมงามอย่างที่ควรเป็น

ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ทุกคนคุ้นเคย แต่เกือบร้อยละร้อยความคุ้นเคยที่ว่ามาจากชื่อเสียงด้านลบแทบทั้งสิ้น สถานการณ์ความไม่สงบกว่าสิบปีทำร้ายให้ดินแดนปลายด้ามขวานเป็นแผลฉกรรจ์ ณ โมงยามที่ไร้ข่าวร้าย ในสมองของคนนอกก็ยังอัดแน่นด้วยรอยแผลเป็น

แต่อยากให้เก็บทุกความเชื่อเดิมๆ ไว้ในลิ้นชักความทรงจำ หรือถ้าเป็นไปได้โยนทิ้งลงถังขยะเลยยิ่งดี เพราะเบื้องหลังกำแพงข่าวสาร ภายใต้รอยแผลเป็น โครงการเปิดมุมมองใหม่ชายแดนใต้ เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส จะพาไปพิสูจน์ความจริงและเนื้อแท้ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ถ้าใครได้สัมผัสก็ต้องร้อง “ว้าว!”

37368533_1854658701259600_3595576578160984064_o

พี่น้อง...สองศาสนิก

ว่ากันว่าเรื่องที่ไม่ควรถกเถียงกันหากต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดีไว้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ศาสนา’ แม้ว่าแก่นแท้ของศาสนาจะมุ่งไปทางเดียวกันคือ ทำดี ไม่ทำชั่ว แต่ก็มีคนไม่น้อยยกเรื่องความเชื่อและศรัทธามาเป็นเครื่องมือบดขยี้กัน ความวุ่นวายต่างๆ ทั่วโลก หลายกรณีก็เกิดจากสาเหตุทำนองนี้

แต่ไม่ใช่สำหรับ บ้านทรายขาว แม้จะอยู่บนพื้นที่ที่คนอื่นเชื่อว่าสุ่มเสี่ยง เพราะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทว่าชาวบ้านต่างศาสนากลับอยู่ร่วมกันฉันญาติมิตร ไปมาหาสู่กันอย่างปราศจากพรมแดนความเชื่อ

ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นและเงียบสงบ แต่ก็ไม่เงียบเหงาเกินไป ยังมีรถราและชาวบ้านสัญจรไปมาให้เห็นและทักทายกัน

เสียงเครื่องยนต์จากรถจี๊ปทหารอเมริกันเปิดประทุนดังไปตามถนนสายหลักของชุมชน แม้รถแต่ละคันจะปลดระวางจากกองทัพสหรัฐแล้ว แต่ปัจจุบันมันได้ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะพานักท่องเที่ยวไปพบเห็นความดีงามของบ้านทรายขาว

สำหรับศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยพุทธที่นี่ คือ วัดทรายขาว เรียกว่าเป็นวัดประจำตำบลก็ไม่ผิด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300 ภายในวัดมีเจดีย์พระครูธรรมกิจโกศล (พ่อท่านนอง ธมฺมภูโต) อดีตเจ้าอาวาส เป็นพระเถระที่มีจริยวัตรงดงาม ชาวบ้านเลื่อมใสในความที่ท่านเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นพระผู้ใหญ่ที่เรียบง่ายและสมถะ ท่านเป็นอริยสงฆ์ที่ได้เข้าร่วมปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี พ.ศ.2497 พร้อมพระอาจารย์ทิมแห่งวัดช้างให้ด้วย ซึ่งพระเครื่องรุ่นนี้นับเป็นตำนานของพระหลวงปู่ทวด หายากมาก เพราะนักสะสมรุ่นบุกเบิกเก็บเข้ากรุส่วนตัวอย่างหวงแหน

นอกจากตำนานที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวดพระเกจิซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนปักษ์ใต้ทั้งพุทธและมุสลิม สถาปัตยกรรมในวัดทรายขาวก็งดงามน่าสนใจไม่แพ้กัน

และที่ตอกย้ำความสัมพันธ์อันดีของสองศาสนิก คือ ระยะเวลากว่า 300 ปี ผ่านความเป็นมาของศาสนสถาน มัสยิดนัจมุดดีน หรือมัสยิดควนลังงา ตั้งอยู่บ้านควนลังงา ม.4 ตำบลทรายขาว มัสยิดแห่งนี้มีอายุ 300 กว่าปี สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2177 (ค.ศ.1634) โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าอาวาสวัดทรายขาวกับโต๊ะอิหม่ามในสมัยนั้น โดยสร้างหลังจากสร้างโบสถ์ของวัดทรายขาวแล้วเสร็จจึงได้ขอให้เจ้าอาวาสวัดทรายขาวช่วยสร้างมัสยิดเพื่อที่จะมีสถานที่ประกอบพิธีละหมาด หากสังเกตหน้าตามัสยิดจะมีหน้าตาคล้ายกับโบสถ์ในศาสนาพุทธ

37364788_1854659477926189_1453618671875260416_o

รูปแบบการก่อสร้างเป็นศิลปะการก่อสร้างตามแบบศิลปกรรมที่สืบทอดมาจากสถาปัตยกรรมลังกาสุกะ มัสยิดทั้งหลังสร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช่ลิ่มไม้ นับเป็นภูมิปัญญาสะท้อนความสามัคคีของชาวชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมกันสร้างศาสนสถานอันงดงามล้ำค่า

นอกจากนี้ยังมีกลองหรือนางญา ใช้ตีบอกเวลาให้คนในชุมชนรู้ถึงเวลาละหมาดนอกจากนี้ยังใช้เตือนภัยเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น กลองหรือนางญานี้ทำมาจากต้นไม้ขนาดใหญ่ นำมาคว้านตรงกลาง จากนั้นใช้หนังควายขึ้นหน้ากลอง จุดเด่นของกลองนี้คือลิ้นที่ทำมาจากไม่ไผ่เหล่านี้จะสั่นทำให้มีเสียงที่ไพเราะขึ้น และเสียงดังไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันยังตั้งแสดงให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

37421741_1854659567926180_1773837303022616576_o

อีกแห่งที่แม้จะต้องใช้ความพยายามสักหน่อยเพื่อจะขึ้นไป แต่รับรองว่าไม่ว่าจะการนั่งรถเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาขึ้นเขาหรือการเดินเท้าต่ออีกหน่อยก็แสนจะคุ้มค่า เพราะที่ จุดชมวิวเขารังเทียม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เรียกขานนามว่า พระมหามุนินทโลกนาท (พระใหญ่) บนนั้นยามเช้าที่อากาศเป็นใจจะมีทะเลหมอกว่ากันว่าสวยงามไม่แพ้ที่ใด (ย้ำว่าต้องช่วงที่อากาศเป็นใจ) แต่จุดน่าสนใจอีกอย่างคือ ตรงทางขึ้นจุดชมวิวมี หินผาพญางู เป็นหินแกรนิตขนาดใหญ่ ความสูงระดับตึก 4 ชั้น รูปร่างหน้าตาคล้ายหัวงูยักษ์ งอกพ้นแผ่นผาเรียบ ชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นพญางูใจดี คอยปกปักรักษาชาวบ้านและชุมชนให้ปลอดภัยจากภยันตราย

กินกระจาย ผลไม้ทรายขาว

การเดินทางมาภาคใต้ในฤดูกาลผลไม้แบบนี้ มีหรือจะพลาดชิมรสชาติสารพัดผลไม้ชั้นเลิศ บางคนสบประมาทว่าผลไม้ใต้สู้ผลไม้ภาคตะวันออกไม่ได้ อยากให้ลองมาชิมที่บ้านทรายขาวเสียก่อน...

พอได้ยินว่าที่นี่มีทุเรียนดี ไม่รู้ว่าดีจริงสมคำร่ำลือหรือเปล่า ตลอดเวลาที่อยู่บนรถเปิดประทุนคันเดิม สายตาก็พยายามสอดส่องหาราชาแห่งผลไม้

“นั่นไงทุเรียน...นู่นก็ทุเรียน...โน่นก็ใช่...นี่ไงบนหัวก็ทุเรียน...”

เสียงเพื่อนร่วมทางชี้ชวนให้ดู คล้ายค้นพบขุมทรัพย์ แต่น่าเสียดายที่ทุกต้นที่เพิ่งทำให้ตื่นเต้นไปเมื่อกี้ยังรักษาสถานะ ‘ทุเรียนอ่อน’ ความตื่นเต้นก็ลดฮวบอย่างน่าใจหาย คงไม่ต้องทุเรียนแล้วนาทีนี้ผลไม้อะไรก็ได้ของท้องถิ่นน่าจะปลอบประโลมพวกเราได้

37406484_1854658661259604_1040859348223393792_o

ก็ไม่ผิดหวัง ทั้งผลไม้คุ้นตาอย่างมังคุด, กล้วย, มะไฟ และที่บางคนคุ้นหูแต่ไม่เคยเห็นของจริงอย่าง ส้มแขก, ตะลิงปลิง คือของดีทรายขาว ความสดไม่ต้องพูดถึง อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมแบบนี้ ไม่กี่อึดใจผลไม้จากต้นก็มาอยู่ในมือ...ไม่ใช่สิ...อยู่ในปากเราเรียบร้อย

ที่น่าสนใจคือ ส้มแขก หลายคนเคยเห็นส้มแขกแปรรูปแล้ว แต่บางคนเพิ่งเคยเห็นแบบเป็นลูกๆ สดๆ ที่นี่มีมากเพราะนิยมปลูกแถวภาคใต้ตอนล่าง แต่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา จึงได้ชื่อว่า “ส้มแขก”

ผลส้มแขกหน้าตาจะประหลาดๆ ขนาดคล้ายผลกระท้อนแต่ผิวเป็นร่องตามแนวขั้วยันปลายผล ทั่วไปมีประมาณ 8-10 ร่อง ผลอ่อนสีเขียวพอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ รสชาติอย่างที่เดากันได้ คือ ผลสดเปรี้ยวจี๊ด จึงนิยมนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม ต้มเนื้อ ต้มปลา เพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว ในน้ำยาขนมจีนบางสูตรก็ใช้ส้มแขกด้วย

37395348_1854659054592898_3847240758100754432_o

ส่วนสรรพคุณของส้มแขก ทำให้เจริญอาหาร แต่เมื่อทำเป็นเครื่องดื่มดื่มเป็นประจำระบบเผาผลาญอาหารจะค่อยๆ ปรับ ราว 1-2 สัปดาห์ ความอยากอาหารจะลดลง เป็นเครื่องดื่มลดน้ำหนักจากธรรมชาติ ที่เมื่อหยุดดื่มก็ไม่เกิดโยโย่เอฟเฟกต์

ส่วนต่างๆ ของส้มแขกยังมีสรรพคุณทางยาแบบสารพัดประโยชน์ เช่น ดอกช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ, ผลแก่และดอกช่วยลดความดัน, รากเป็นยาแก้กระษัย ส่วนผลส้มแขกกินแต่พอดีเป็นยาระบายอ่อนๆ ถ้ากินมากก็เป็นยาถ่ายชั้นดี เป็นต้น

และที่กลุ่มแม่บ้านวัดทรายขาว ก็เป็นแหล่งแปรรูปส้มแขกแหล่งใหญ่ ทำกันเป็นระบบ และมีมาตรฐาน มั่นใจได้เรื่องความสะอาดและรสชาติที่ไม่ว่าจะตากแห้ง, แช่อิ่ม หรือหยี ก็หรอยจังหู้

37366067_1854658897926247_7594346698747412480_o

ถึงแม้จะมีส้มแขกปลอบใจ แต่มาถึงทรายขาวแล้วก็ยังโหยหาทุเรียนอยู่ดี เพราะที่นี่คือแหล่งปลุกทุเรียนระดับแชมป์ ไม่ใช่แชมป์ท้องถิ่นแต่นี่คือแชมป์ระดับประเทศ!

ที่นี่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ มีเกษตรกรกว่า 1,200 ราย ความเอาจริงเอาจังนี้เห็นผลสัมฤทธิ์ ทำให้ ทุเรียนทรายขาว ติด 1 ใน 5 ทุกเรียนเกรดพรีเมียม เป็นที่ยอมรับทั้งจากนักชิมและผู้บริโภค ชาวไทยและคอทุเรียนอย่างชาวจีน

ทุเรียนทรายขาวมีจุดเด่นคือ รสกลมกล่อม หวานนุ่ม แป้งน้อย กลิ่มหอมหวาน อร่อยละมุนลิ้น สีเหลืองทองสวยงาม เนื้อมีสัมผัสที่ได้อรรถรส ซึ่งเกิดจากปลูกตามธรรมชาติ ไม่เร่งโตเพียงเพื่อต้องการขายได้มากๆ บวกกับเป็นที่เชิงเขา มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ อากาศเหมาะสม สภาพแวดล้อมดีเยี่ยม

แม้จะเสียดายที่พลาดชิมในคราวนี้ แต่อีกไม่นานจะมีเทศกาลทุเรียนทรายขาว&ของดีเมืองปัตตานี ในเดือนสิงหาคมนี้ ณ หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ไม่ต้องไปถึงสวนก็อร่อยได้

รากเหง้าแห่งทรายขาว

เอ่ยถึงปัตตานีในแง่มุมประวัติศาสตร์ ชื่อปืนใหญ่ ‘พญาตานี’ ก็น่าจะแล่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ประวัติศาสตร์ของปัตตานีในระดับจุลภาคคือรากฐานที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจนกลายเป็นมหภาคได้

สำหรับชุมชนบ้านทรายขาว มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 5 ในอดีตพระยาภักดีชุมพล ได้เดินทางมาจากเมืองไทรบุรี ระหว่างทางพระยาภักดีได้พบกับสถานที่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและอาหารจึงตัดสินใจตั้งบ้านเรือน ณ ที่แห่งนี้

ต่อมามีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ภายหลังจึงมีการตั้งชื่อเป็น ‘บ้านทรายขาว’ จากตำนานเล่าว่า “วันหนึ่งได้มีพายุพัดทรายลงมาจากเขาเต็มไปหมดและทรายที่ถูกพัดมาเป็นสีขาวสวยงามมาก”

37392323_1854659234592880_4889975284750614528_o

ไม่ว่าตำนานจะเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือมีเค้าโครงความจริง แต่ทุกวันนี้คนทรายขาวยังดำรงชีวิตกันอย่างเรียบง่าย และมีเสน่ห์ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2550 ชุมชนนี้ได้ไปเข้าตากรรมการ จนได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว (Tourism Award 2007) เมื่อถอดรหัสแล้วพบว่า เป็นเพราะชุมชนเข้มแข็งที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นชุมชนที่โดดเด่นด้านการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ และมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจในชุมชน ให้บริการนักท่องเที่ยว ได้แก่ กิจกรรมเดินป่า พิชิตยอดเข้าสันกาลาคีรี กิจกรรมนั่งรถจี๊ปชมสวนชิมผลไม้ เยี่ยมชมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของบ้านทรายขาว

ด้วยความที่ในพื้นที่ไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ทหรู บ้านพักโฮมสเตย์จึงเป็นตัวเลือกของการมาท่องเที่ยวพักผ่อน เพราะการบริหารจัดการโดยชุมชน นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตจริงของผู้คน ได้อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างลึกซึ้ง โดยไม่ต้องพยายามขวนขวาย 37370031_1854659671259503_4139356331603656704_o

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ ชุมชนบ้านทรายมีโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เลือกถึง 2 แบบ คือ ทริป 1 วัน ค่าบริการคนละ 780 บาท จะได้เที่ยวชมของดีในชุมชนตลอด 1 วันเต็ม และแบบทริป 2 วัน 1 คืน ค่าบริการคนละ 1,780 บาท ประกอบด้วย ค่ารถจี๊ป อาหารว่าง อาหารกลางวัน วิทยากร มัคคุเทศก์ชุมชน บัตรเข้าอุทยาน และค่าประสานงานชุมชน

ทัศนคติเชิงลบของหลายคนอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่ถ้ายังไม่เชื่อ หรือยังวิตกจริต มีวิธีง่ายๆ เพียงหยิบเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ออกเดินทาง เลือกจุดหมายที่บ้านทรายขาว จ.ปัตตานี รับรองว่าจะได้ยลโฉมสาวงามที่หลบเร้นอยู่หลังกำแพงความเชื่อคนนั้น