‘อ่าน’ศรัทธา พิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน

‘อ่าน’ศรัทธา พิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน

เปิดกรุคัมภีร์โบราณที่ไม่เพียงเชื่อมร้อยศรัทธาแห่งโลกมุสลิม เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของรัฐโบราณในดินแดนปลายด้ามขวาน ยังเป็นมรดกอันควรค่าแก่การศึกษาและชื่นชมในโลกยุคปัจจุบัน

คัมภีร์โบราณถูกเก็บในตู้กระจกอย่างดี บางเล่ม,แต่ละหน้านั้นดูแห้งกรอบเก่าคร่ำจนไม่กล้าจินตนาการว่าหากเปิดออกจะเป็นอย่างไร...

“ถ้าเล่มไหนชำรุดมาก เราจะทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีก่อนนำมาจัดแสดงที่นี่” อับดุลฮากิม มามะ ครูโรงเรียนสมานมิตรวิทยา เอ่ยขึ้นในฐานะนักอนุรักษ์คัมภีร์โบราณของพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนสมานมิตรวิทยา(ปอเนาะศาลาลูกไก่) ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่ดัดแปลงจากห้องเรียนห้องหนึ่ง แต่สิ่งที่ถูกเก็บไว้นั้นคือมรดกอันล้ำค่า ไม่ใช่แค่กับคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่รวมความถึงมรดกทางวัฒนธรรมของโลกเลยทีเดียว

DSC_5747_1

พิพิธภัณฑ์ชั่วคราวแห่งนี้เก็บรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่เขียนด้วยลายมือจำนวน 79 เล่ม อาจจะมากที่สุดในอาเซียน คัมภีร์โบราณเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 150 ปี ไปจนถึง 1,200 ปี จากแหล่งที่มาสำคัญ ได้แก่ นูซันตารา (Nusantara) กลุ่มที่ใช้ภาษามลายู ซึ่งหลักๆ อยู่ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง, เอเชีย และ ยุโรป

คัมภีร์เล่มแรกๆ คือสมบัติส่วนตัวของ มาหะมะลุตฟี หะยีสาแม หรือ ‘อ.ลุตฟี’ ผู้บริหารสถานศึกษาแห่งนี้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

“ทีแรกผมมีคัมภีร์อัลกุรอานกับเอกสารโบราณอยู่ประมาณ 10 เล่ม แต่ก็เก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร เรียกว่ายังไม่รู้คุณค่า แต่วันหนึ่งได้เดินทางไปที่มาเลเซีย เห็นเขาจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอานไม่กี่เล่มแต่ก็มีคนเข้ามาชม ก็เลยคิดว่าบ้านเราก็มี น่าจะทำได้เหมือนกัน”

หลังจากนั้น อ.ลุตฟี ก็เริ่มเสาะหาและเก็บสะสม จนเมื่อเป็นที่รับรู้ในวงกว้างได้มีผู้นำเอกสารโบราณทั้งคัมภีร์อัลกุรอานและเอกสารอื่นๆ มามอบให้เป็นจำนวนมาก หลายเล่มมีความสวยงามล้ำค่าหาชมยาก แต่บางเล่มก็อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และถูกจัดเก็บให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งขณะนั้นได้มีชาวตุรกีมาเยี่ยมโรงเรียนสมานมิตรวิทยา และได้เข้าชมอัลกุรอานเก่าแก่ในศูนย์การเรียนรู้ จึงได้ขออนุญาตนำไปซ่อมแซมที่ประเทศตุรกี ก่อนจะนำกลับมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ปัจจุบันในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของโรงเรียนชายแดนใต้ จึงเปรียบเสมือนแผนที่ทางวัฒนธรรมที่พาผู้ชมย้อนเวลาไปยังอาณาจักรต่างๆ ในโลกมุสลิม ไกลที่สุดคือเมื่อพันกว่าปีที่แล้วผ่านคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้มาจากประเทศอิหร่าน จากนั้นมาร่วมชื่นชมกับความตระการตาของคัมภีร์โบราณจากรูสะมีแล จังหวัดปัตตานี อายุกว่า 300 ปี ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศโลกมุสลิม เมื่อปี คศ.2016 จากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ ประเทศตุรกี

นอกจากนี้ยังมีอัลกุรอานจากประเทศจีน ที่โดดเด่นด้วยปกหนังและผ้าไหม มีการเขียนลวดลายมลายูรูปดอกชบา หรือบุหงารายา ส่วนอัลกุรอานสมัยอาณาจักรโมกุล อินเดีย ปกทำด้วยหนังสัตว์ ส่วนกระดาษทำด้วยเปลือกไม้ จะเห็นว่าแม้จะเป็นตัวอักษรชนิดเดียวกันแต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นๆ

DSC_5906

“ที่นี่มีคัมภีร์จากหลายประเทศทั่วโลก แต่มากที่สุดคือในอาเซียน อัลกุรอานที่เก็บรักษาไว้ที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ 1,112 ปี มาจากอิหร่าน ส่วนของเมืองไทยเก่าที่สุดคือ 376 ปี มาจากปัตตานี ซึ่งเราต้องดูแลอุณหภูมิและความชื้นตลอดเวลา ” อ.ลุตฟี กล่าว ก่อนจะอธิบายต่อว่า คัมภีร์ที่อยู่ในประเทศไทยจะไม่เหมือนโลกอาหรับ โดยของไทยจะทำขนาดเล็กกว่าแต่มีลายกรอบที่สวยงามตกแต่งด้วยทองคำเปลว

“ถ้าเป็นจากยุโรป ตัวเขียนก็จะแข็งๆ เหมือนภาษาอังกฤษ ไม่อ่อนช้อยเหมือนที่พบในบ้านเรา ของตะวันออกกลางจะตัวใหญ่ เขียนแข็งๆ ลักษณะการเขียนมันสะท้อนวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นๆ อย่างอัลกุรอานที่มาจากสเปน ปกทำจากผ้าไหม ของทางนูซันตารา ปกจะเป็นหนังสัตว์ กระดาษก็จะเป็นกระดาษนำเข้าจากยุโรปส่วนใหญ่ แสดงว่ามีการติดต่อค้าขายกันแล้ว ” ฮามีด๊ะ หะยีสาแม ภรรยาอ.ลุตฟี กล่าวเสริม พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการคัดอัลกุรอานว่า

 “ผู้เขียน ก่อนที่เขาจะลงมือเขียนต้องมีความสะอาดก่อน ต้องมีน้ำละหมาด แล้วต้องมีความแม่นยำในการอ่านอัลกุรอานก่อนด้วย เขาต้องมีความถนัดในการเขียนด้วย อาจต้องมีการซ้อมก่อน เพราะทั้งเล่มต้องถูกต้องทั้งหมด ต้องแม่นยำที่สุด ไม่ให้ตกสักคำ ถ้าตกคำหนึ่งก็จะทำให้แปลความหมายผิดไปเลย ดังนั้นคนที่เขียนต้องเป็นนักปราชญ์ เป็นอุลามะอ์ การที่เรามีอัลกุรอานมาจากปัตตานีหลายเล่ม ย่อมแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐปัตตานีสมัยก่อน ว่ามีนักปราชญ์เยอะ”

DSC_5903

ถึงวันนี้ ความตั้งใจที่จะเผยแพร่มรดกแห่งศาสนาอิสลาม ของอ.ลุตฟี ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ที่นี่ยังได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน โดยกรมศิลปากรได้เข้ามาขึ้นทะเบียนคัมภีร์และเอกสารโบราณเหล่านี้ พร้อมทั้งดำเนินการจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้ อัล-กุรอาน ขึ้น ณ บริเวณด้านหน้าโรงเรียนสมานมิตรวิทยา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562

ทว่า ระหว่างนี้สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการซ่อมแซมคัมภีร์โบราณจำนวนหลายสิบเล่ม ซึ่งผู้รับหน้าที่อันสำคัญไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นครูรุ่นใหม่แห่งโรงเรียนสมานมิตรวิทยา 4 คนซึ่งได้รับถ่ายทอดความรู้จากนักอนุรักษ์เอกสารโบราณของกรมศิลปากร

“อันดับแรกเราจะดูว่าคัมภีร์ชำรุดมากน้อยแค่ไหน ตรงไหนบ้าง ถ้าชำรุดเฉพาะปก เราก็จะซ่อมปกอย่างเดียว หลังจากนั้นก็ต้องทำความสะอาด บางเล่มมีฝุ่นและเชื้้อราใช้แปรงปัดออกก่อน จากนั้นค่อยใช้ยางลบ อันดับถัดมาถ้าข้างในชำรุดมาก เราก็ใช้กระดาษสาในการซ่อมเพื่อให้คงทนมากขึ้น โดยทำให้กระดาษติดกันด้วยกาวแป้ง ซึ่งไม่ทำลายตัวเขียนในนั้น

เสร็จเรียบร้อยจะมีการตัดขอบ ต้องตัดให้เท่ากับขอบที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แล้วก็ต้องอยู่ในกรอบของปกด้วย หลังจากนั้นเราจะมีการเย็บเล่มใหม่ ตามที่กรมศิลปากรได้มาสอนพวกเรา” อับดุลฮากิม มามะ อธิบายขั้นตอนต่างๆ และว่าส่วนที่ยากที่สุดคือ การถักคิ้วของคัมภีร์ซึ่งมีหลายรูปแบบ

DSC_5816

ค่อยๆ ปัด ค่อยๆ แปะ ค่อยๆ ถัก แต่ละขั้นตอนคือความประณีตและต้องอาศัยความแม่นยำ เพราะหากมีข้อผิดพลาดจะทำให้ไม่สามารถอ่านได้ ดังนั้นแต่ละเล่มจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือนในกรณีที่ไม่ได้ชำรุดมากนัก ซึ่งจากประสบการณ์แม้เพียงไม่นาน สิ่งที่อับดุลฮากิมสังเกตเห็น คือเอกลักษณ์ของกระดาษจากต่างถิ่นต่างที่ ซึ่งเขาคิดว่าควรจะต้องมีการศึกษาต่อไป

“กระดาษ ถ้าเราดูเผินๆ ไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่เวลาที่เราซ่อม ส่องไฟไป จะมีโลโก้อยู่ข้างในของกระดาษ ตรงนี้เราจะได้รู้ว่าเขามาจากไหน ที่ผ่านมาบางเล่มมีดาว 3 ดาว เขาบอกว่ามาจากทางยุโรป แล้วบางเล่มก็จะมีสิงโตด้วย แต่บางเล่มก็ไม่มี”

ยังมีเรื่องราวความน่าทึ่งอีกมากมายที่ปรากฏอยู่ร่องรอยอันเก่าคร่ำของคัมภีร์เหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏแก่สายตาผู้ที่ได้พบเห็น คือศาสตร์ศิลป์และแรงศรัทธาที่แทรกอยู่ในทุกหน้าทุกแผ่น ซึ่งการหยุดความเสียหายคือขั้นตอนอันจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาเอกสารโบราณเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป และนอกจากการซ่อมแซมยังถูกวิธีแล้ว การเก็บรักษาอย่างเหมาะสมคือแนวทางที่ดีที่สุด โดยล่าสุดกรมศิลปากรได้ส่งสารดูดความชื้นมาให้ใส่ไว้ในตู้เก็บคัมภีร์ พร้อมทั้งเครื่องดูดความชื้นในห้องจัดแสดง ส่วนแสงสว่างซึ่งอาจสร้างปัญหาให้กับเอกสารเก่าแก่เหล่านี้ ทางผู้ดูแลบอกว่าตามปกติจะเปิดไฟเฉพาะเวลามีผู้มาเข้าชมเท่านั้น

ที่ผ่านมา แม้ว่าอัลกุรอานจะอยู่ในวิถีชีวิตของคนมุสลิมอย่างอับดุลฮากิมอยู่แล้ว แต่การได้มารับหน้าที่ดูแลและซ่อมแซมคัมภีร์โบราณเหล่านี้ ทำให้เขาตระหนักว่านี่คือมรดกล้ำค่าที่จะต้องส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง

“ความรู้สึกของผมเหมือนกับว่าได้เรียนรู้สิ่งที่คนโบราณที่ผ่านมาได้มอบสิ่งเหล่านี้กับพวกเรา ผมดีใจและภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้มาอยู่ ณ จุดนี้ และได้มอบสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลานต่อๆ ไป”

เพราะคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่เขียนด้วยลายมือเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นหลักฐานทางศาสนาที่เชื่อมโยงผู้คนจากหลายมุมโลกจากอดีตสู่ปัจจุบัน ยังแสดงถึงความเป็นมาอันยาวนานของการผลิตหนังสือซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาของคนทั้งโลก