จากอะเบ แซ่หมู่ ถึงชัยภูมิ ป่าแส วิสามัญฆาตกรรมที่ต้องทวงถาม

จากอะเบ แซ่หมู่ ถึงชัยภูมิ ป่าแส วิสามัญฆาตกรรมที่ต้องทวงถาม

วิสามัญฆาตกรรมจะชอบด้วยกฎหมายเมื่อมีเหตุสมควร แต่หากเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และมีปริศนาเคลือบแคลง ก็ต้องหาทางคลี่คลาย นำความยุติธรรมคืนสู่ผู้ตาย

หนึ่งในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่มีการทวงถามความยุติธรรมมากที่สุดคดีหนึ่งคือ คดีของ ชัยภูมิ ป่าแส เด็กหนุ่มชาวลาหู่ ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยปืน M16 ที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 17 มีนาคม 2560 ด้วยข้อกล่าวหาว่ามียาเสพติดและวัตถุระเบิดในครอบครอง และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ ทั้งที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์ และพยานแวดล้อมถึงอุปนิสัยของชัยภูมิซึ่งเป็นนักกิจกรรมน้ำดีนั้นห่างไกลความเสี่ยงในการเป็นเด็กส่งยาและมีอาวุธระเบิดในครอบครอง

เสียงทหารตะโกนว่า “ยิงมันเลย ยิงมันเลย” แล้วมีทหารถือปืนวิ่งมา 2 คน ยิงไป 3 นัด ชัยภูมิก็ล้มลง

20180714163918318

นิทรรศการเกี่ยวกับชัยภูมิ ป่าแส ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

ชัยภูมิ ไม่ใช่รายแรก ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 อะเบ แซ่หมู่ เด็กหนุ่มชาติพันธุ์ลีซู ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารด่านรินหลวงใช้อาวุธปืน M16 ยิงเสียชีวิตโดยอ้างว่าอะเบ พยายามขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ และอ้างว่าเขามียาเสพติดไว้ในครอบครอง พฤติการณ์การตายของอะเบไม่ต่างจากชัยภูมิ อีกทั้งผลพิสูจน์หลักฐานทางชีวภาพบนยาเสพติดที่ค้นพบก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับอะเบ ระเบิดในมือขวาของอะเบก็ขัดกับความจริงที่ว่าเขาเป็นคนถนัดซ้าย

20180714163917538

นิทรรศการเกี่ยวกับอะเบ แซ่หมู่ ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

การต่อสู้หาความยุติธรรมเพื่อเด็กหนุ่มทั้งสองจึงเกิดขึ้นให้สังคมรับรู้ในช่วงปีที่ผ่านมา คดีของอะเบยังไม่คืบหน้า ส่วนคดีของชัยภูมิที่มีการขอให้เปิดเผยกล้องวงจรปิดในเหตุการณ์ ก็กลับไม่มีการส่งภาพจากกล้องวงจรปิดเข้าสู่การไต่สวนของศาล

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเสียชีวิตของคน 2 คน แต่นี่คือปัญหาอันเกิดจากการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากไม่มีการเรียกร้องความยุติธรรมและมาตรฐานการสืบสวนที่โปร่งใส เราไม่มีวันแน่ใจได้ว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับเรา

20180714163919285

การกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้จึงจำเป็น กิจกรรม “เสวนาเชิงวิชาการและงานนิทรรศการศิลปะ เรื่อง วิสามัญฆาตกรรมและปริศนาความยุติธรรมทางอาญาที่ยังไม่เกิด: คดีนายชัยภูมิ ป่าแส และนายอะเบ แซ่หมู่” คืออีกหนึ่งการสื่อสารต่อสังคม เวทีนี้เชิญญาติของผู้ตาย ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยเพื่อติดตามความคืบหน้าของคดี และปัญหาการจัดการพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม เพื่อเสนอความคิด หาแนวทางแก้ปัญหากันต่อไป

หัวอกแม่

“อะเบทำงานเลี้ยงแม่อย่างดี พอลูกเสียกะทันหัน แม่เสียใจที่สุด วันที่เขาเสีย เขาไปเอาเสบียง แล้วจะมานอนเฝ้าไร่กับแม่ รู้อีกทีเขาก็โดนยิงตายแล้ว แม่จะไปดูศพ ทหารก็กันไม่ให้ดู เขาฆ่าลูกไม่พอ ยังเอาเสบียงไปกินหมด โทรศัพท์เครื่องละ 600 บาทก็ยังเอาไป แม่คิดถึงลูกทุกวัน ได้ยินเสียงนกเสียงไม้คิดถึงลูกไปหมด” อะหมี่มะ แซ่หมู่ มารดาของอะเบ ย้อนความทรงจำให้ฟัง

20180714164022710 (1)

ญาติ และ อะหมี่มะ แซ่หมู่ มารดาของอะเบ แซ่หมู่ และรัษฎา มนูรัษฏา ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส และอะเบ แซ่หมู่ ขยายให้ฟังเพิ่มเติมว่า ช่วงนั้นเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด อะเบซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับเพื่อน โดยสะพายหวย (ตะกร้าใส่ของ) ไว้ข้างหลัง เมื่อขับสวนกับรถจักรยานยนต์ของทหาร ทหารก็ดึงหวยของอะเบ อะเบไม่ตกจากรถ แต่เพื่อนตกใจจึงเร่งเครื่องขับต่อไป แล้วอะเบก็ถูกยิงเข้าที่หลัง จากคำให้การของทหารว่าอะเบพยายามขว้างระเบิดใส่ จึงแย้งกับวิถีกระสุนที่เข้าจากด้านหลังโดยสิ้นเชิง

นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิบอกว่า “พวกเราเป็นคนยากจน ชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีคนเหลียวแลว่าเราเดือดร้อนลำบากอย่างไร ตอนนี้ชัยภูมิไม่อยู่แล้ว เขาเป็นคนเดียวที่ช่วยแม่หาเลี้ยงครอบครัว ตอนนี้น้องก็ไม่มีเงินเรียนหนังสือ แม่ก็กินอะไรไม่ลง เพราะคิดถึงลูก คนในชุมชนก็ไม่มีใครอยากช่วย เพราะเขากลัว มีแต่ไมตรีที่คอยช่วยเหลืออยู่”

20180714164022833

นาปอย ป่าแส มารดาของ ชัยภูมิ ป่าแส ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

ชัยภูมิซึ่งนั่งรถไปกับเพื่อน ถูกทหารที่ด่านเรียกเพื่อค้นรถ ทหารบอกว่าชัยภูมิต่อสู้ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะขว้างระเบิดใส่ ทหารจึงจำเป็นต้องยิง ไม่ได้ต้องการเล็งจุดสำคัญ แต่พลาดไปโดนอวัยวะสำคัญ ในขณะที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า หลังจากชัยภูมิถูกเจ้าหน้าที่ลากลงมาจากรถก็ทุบตี ชัยภูมิลุกขึ้นได้ก็วิ่งหนี ไม่ได้หันกลับมา ไม่มีทีท่าว่าจะปาอะไร ทหารวิ่งไล่ตาม และมีเสียงทหารตะโกนว่า “ยิงมันเลย ยิงมันเลย” แล้วมีทหารถือปืนวิ่งมา 2 คน ยิงไป 3 นัด ชัยภูมิก็ล้มลง

วัฒนธรรมลอยนวล

“ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้ากลับกันเหตุการณ์นี้เป็นลาหู่ยิงเจ้าหน้าที่ ลาหู่จะรอดไหม” ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ ซึ่งเป็นเหมือนพี่ชายของชัยภูมิเอ่ย เขาคือผู้ที่อยู่เคียงข้างครอบครัวของชัยภูมิ ผลักดันเพื่อให้คดีคืบหน้า และเคลื่อนไหวให้สังคมรับรู้ถึงเรื่องนี้

การดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่วิสามัญฆาตกรรมประชาชนเกิดขึ้นน้อยมาก แม้จะมีความคลุมเครือในคดี แต่ก็ไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้เลย ทำได้แค่เพียงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเท่านั้น

20180714164022396

ไมตรี จำเริญสุขสกุล, นาปอย ป่าแส และญาติของชัยภูมิ ป่าแส ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

เคยมีชายไม่ทราบชื่อ 2 คนมาหาไมตรีถึงบ้านบอกว่า “เป็นตัวแทนจากทหาร มาขอเจรจาว่าจะเรียกร้องอะไรก็ว่ามา ให้ไมตรีหยุดการเคลื่อนไหวทางสื่อ” แต่ไมตรีก็ปฏิเสธ และเดินหน้าต่อสู้ แม้จะโดนข่มขู่ ฉันทนา ป่าแส น้าสาวของชัยภูมิต้องติดคุกด้วยการยัดข้อหายาเสพติด (ศาลยกฟ้องหลังจากฝากขังไปแล้วเกือบปี) “เขาฆ่าคนของเรา แล้วยังดึงคนของเราเข้ากระบวนการยุติธรรม จนกฎหมายพิสูจน์ว่าคนของเราบริสุทธิ์ แต่เวลาที่เสียไปในคุกก็ไม่รู้จะเยียวยาอย่างไร แต่คนของเขากลับไม่ต้องได้รับการดำเนินคดีใดๆ เลย” ไมตรีย้ำ

อะหมี่มะ เสริมว่า “ทหารเคยเสนอเงินให้ 3 แสน ขอให้จบเรื่อง แต่แม่ไม่ยอม ที่บ้านแม้จะยากจน บ้านผุพังถึงขนาดที่หมาจะเดินเข้าออกก็ได้ แต่ไม่เคยคิดจะค้ายา ไม่เคยทำผิดกฎหมาย ก็กลัวว่าถ้าเรารับเงินแล้วทหารจะได้ใจ ไปฆ่าคนอื่นอีก แม่เป็นห่วงคนข้างหน้า ทำเขาอีกก็ยัดเงินอีกไปเรื่อยๆ ยิ่งพูดก็ยิ่งเจ็บปวดใจ”

การเข้าถึงพยานหลักฐานที่มีปัญหา

“หัวใจสำคัญของปัญหาคือ การเข้าถึงพยานหลักฐาน” ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี ผู้ทำงานผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมบอก “พยานหลักฐานต้องตรงไปตรงมา ผู้กระทำผิดต้องไม่มีส่วนแตะต้องเลย ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาดูแล ไม่ให้ถูกบิดเบือน”

เขาอธิบายเพิ่มว่า ประเทศไทยมีหลักจัดการกับพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรมอยู่ โดยผู้ที่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุได้มีอยู่ 4 หน่วยด้วยกัน คือ แพทย์นิติเวช พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และพนักงานปกครอง ปัญหาก็คือกว่าทั้ง 4 จะไปถึงพื้นที่ พยานหลักฐานต่างๆ อาจถูกดัดแปลงไปแล้ว แม้โดยหลักการจะต้องกั้นพื้นที่ ไม่ทำอะไรเลย เพื่อรักษาสภาพให้คงเดิมที่สุด ประเทศไทยเป็นระบบตำรวจ การรวบรวมพยานหลักฐานจึงเป็นหน้าที่ของตำรวจ หลายครั้งพนักงานอัยการก็ไม่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจและพนักงานสอบสวนเท่านั้น

พยานหลักฐานที่เก็บมาให้แพทย์จากที่เกิดเหตุก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ไม่สามารถควบคุมการตรวจสอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์

เสริมด้วยมุมมองจากแพทย์นิติเวช น.พ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช แห่งโรงพยาบาลระนองบอกว่า “งานหลักของเราก็คือชันสูตรศพ หาสาเหตุการตาย และแพทย์ทำงานตามข้อมูลพยานหลักฐานที่มี ถ้าไม่มีก็ให้คำตอบไม่ได้”  หลายครั้งที่พยานหลักฐานถูกรวบรวมมาให้ หากติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ผิดกันไปหมด

แพทย์นิติเวชมีน้อยมากในประเทศไทย จำนวนเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญมากในการพิจารณาคดีอาญา ปัจจุบันมีการอนุโลมให้ใช้แพทย์ทั่วไปเข้ามาช่วย แต่ความเชี่ยวชาญนั้นต่างกัน ทำให้กระบวนการชันสูตรไม่สามารถควบคุมได้จริง

สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนนายความ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ.ชันสูตรพลิกศพ มีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ซึ่งวางระบบการควบคุมการวิสามัญฆาตกรรมมายาวนานแล้ว ศาลคือองค์กรแรกที่ดูแลหน่วยงานชันสูตรพลิกศพ แสดงให้เห็นว่าการชันสูตรศพสำคัญมาก จนผ่านการแก้ไขเรื่อยมา จากศาลสู่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ

กฎหมายไทยซึ่งให้อำนาจกับพนักงานสอบสวน สามารถตรวจสอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องพึ่งแพทย์นิติเวช ทำให้กว่าแพทย์นิติเวชจะเข้าถึงพื้นที่ ก็ผ่านไปแล้วเป็นวัน หรือพยานหลักฐานที่เก็บมาให้แพทย์จากที่เกิดเหตุก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ไม่สามารถควบคุมการตรวจสอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจึงเสนอว่าให้ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการนี้ และนอกจาก 4 หน่วยหลักที่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้ ต้องเพิ่มหน่วยนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาอีกด้วย

กลุ่มชาติพันธุ์กับการกดทับ

นอกจากปัญหาในกระบวนการยุติธรรมแล้ว เรื่องนี้ยังมีมิติของชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ชาติพันธุ์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรู้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตกเป็นเป้าของการใช้อำนาจรัฐกดขี่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า ความเป็นชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับสัญชาติไทยนั้นยังเชื่อมโยงกับการถูกวิสามัญฆาตกรรมอย่างง่ายดาย เพราะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เรียกร้องใดๆ

“กลุ่มชาติพันธุ์ถูกยกมาใช้เป็นเครื่องมือเรื่องความมั่นคงตั้งแต่อดีตแล้ว มีการกล่าวหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ยาเสพติด รวมถึงปลูกฝังความเกลียดชังว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนไทย ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย เมื่อเกิดการแบ่งแยกคนกลุ่มนี้ให้อยู่ชายขอบ ก็เหมือนสังคมให้สิทธิรัฐใช้ความรุนแรงกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้” เหมือนอย่างการเผาบ้านไล่ที่ปู่คออี้ ด้วยข้อกล่าวหาว่าบุกรุกป่า เมื่อพวกเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา ก็เหมือนกับให้ใบยินยอมว่าใช้ความรุนแรงได้ ตั้งแต่ขับไล่ไปจนถึงวิสามัญฆาตกรรม

20180714163917856

นิทรรศการรื่องราวของอะเบ แซ่หมู่ และชัยภูมิ ป่าแส ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นแต่กับกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทั่วไป ดังที่เคยมีคดีตำรวจยิงวิศวกรเสียชีวิต อ้างว่าเป็นสายส่งยาเสพติด ที่ จ.สกลนคร เมื่อปี 2554 ด้วยโครงสร้างการใช้อำนาจของรัฐ เมื่อมีการปกป้องความผิดของพวกพ้องในหน่วยงานที่ทำกันราวเป็นวัฒนธรรมองค์กร เจ้าหน้าที่ผู้กระทำจึงไม่เคยได้รับโทษ อำนาจจึงถูกใช้ตามอำเภอใจ และรุนแรงไปถึงการสังหาร

การพรากชีวิตโดยรัฐ

เจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำวิสามัญฆาตกรรมได้ด้วยเหตุเดียวเท่านั้น คือป้องกันชีวิตตนเองและผู้อื่น อีกทั้งสาเหตุและอาวุธที่ใช้ก็ต้องรุนแรงพอกัน สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล อธิบาย ในที่เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมจึงพบอาวุธรุนแรง และมักมาพร้อมข้อหายาเสพติดซึ่งเป็นข้อหาหนัก วิสามัญฆาตกรรมที่กระทำเกินกว่าเหตุเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเกิดความพยายามทำให้การสืบสวนวิสามัญฆาตกรรมโปร่งใสให้มากที่สุด

20180714164023345

บรรนยากาศเวทีเสวนา ภาพโดย ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

สหประชาชาติจึงมีการร่าง “พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มีชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 2016” เป็นฉบับปรับปรุงจากปี ค.ศ. 1991 โดยเปิดตัวที่สวิตเซอร์แลนด์ และที่ประเทศไทย เมื่อปี 2017 ซึ่งระบุมาตรฐานการสืบสวนต่างๆ ไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะหลักการสืบสวนในกรณีต้องสงสัยว่าอาจเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทุกขั้นตอนตลอดกระบวนการตุลาการต้องบันทึกอย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส

เป้าหมายคือ วิธีพิจารณาคดีอาญาต้องมีความเป็นสากล มีการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ (หากหน่วยงานต้นสังกัดของผู้กระทำมีอำนาจมาก) ครอบครัวผู้ตายมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในกระบวนการ สังคมมีสิทธิรับทราบความจริง ว่าการพรากชีวิตนั้นชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย คนทำผิดได้เข้ากระบวนการยุติธรรมหรือไม่

หากการแก้โครงสร้างกระบวนการยุติธรรมนั้นยากและใช้เวลา ภาคประชาสังคมเองก็ต้องให้ความสนใจกับปัญหานี้ เพราะวิสามัญฆาตกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมาย จะถือว่าเป็นฆาตกรรมร้ายแรงที่สุด เพราะกระสุนที่ลั่นออกไปมาจากภาษีประชาชน การเพิกเฉยต่อปัญหาก็เท่ากับว่าเรายินยอมให้การลั่นไกนั้นเกิดขึ้น