เดินไปด้วยสายลมกับ Strandbeests สัตว์แห่งชายหาดของ Theo Jansen

เดินไปด้วยสายลมกับ Strandbeests สัตว์แห่งชายหาดของ Theo Jansen

ทำความรู้จักศิลปินผู้สร้างสัตว์พันธุ์ใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวด้วยพลังงานลมด้วยกลไกที่ประยุกต์มาจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ผ่านนิทรรศการ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่สิงคโปร์

วิดีโอการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองของประติมากรรมขนาดใหญ่ริมชายหาดที่เคยเป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าใครเคยเห็นคงอดรู้สึกทึ่งไม่ได้กับกลไกข้อต่อ ซึ่งผลัก หมุน ควง เชื่อมโยงต่อกัน จนสามารถเดินได้คล้ายสัตว์ แต่ก็ไม่เหมือนสัตว์พันธุ์ไหนในโลก ความยุ่บยั่บของแข้งข้อท่อพีวีซีอันเป็นโครงสร้างของประติมากรรมนี้ชวนให้ขนลุก แต่นี่คือศาสตร์และศิลป์ที่เกิดขึ้นจากศิลปินผู้ไม่ขีดเส้นแบ่งระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะออกจากกัน

Theo Jansen with Plaudens Vela 2 ©️ Media Force

Theo Jansen with Plaudens Vela 2 ©️ Media Force

เธโอ ยานเซ่น (Theo Jansen) ศิลปินชาวดัชต์ เคยบอกว่าจะให้เวลาตัวเองทดลองทำ Strandbeests 1 ปี แต่กลายเป็นว่าตลอด 28 ปีที่ผ่านมาเขาก็ยังคงพัฒนา Strandbeests สายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง

“กำแพงที่ขวางระหว่างศิลปะและวิศวกรรมมีอยู่ก็เฉพาะในความคิด” เธโอ ยานเซ่น กล่าว

“จุดประกาย” ได้เดินทางไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ Wind Walkers: Theo Jansen's Strandbeests ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้เห็นทั้ง Strandbeests ตัวจริงที่เคลื่อนไหวจริง และได้พูดคุยกับเธโอ ยานเซ่น ที่ได้ให้มุมมองเรื่องวิวัฒนาการไปจนถึงการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันได้

ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกันว่า Strandbeests คืออะไร

กำเนิด Strandbeests

Strandbeests – สแตรนด์บีสทส์ มาจากภาษาดัตช์ คำว่า Strand แปลว่า Beach และ Beest ซึ่งแปลว่า Animals จึงเท่ากับสัตว์พันธุ์ใหม่แห่งชายหาด

มีจุดเริ่มจากความคิดที่จะหาทางแก้ปัญหาการลดลงของแผ่นดิน และการพังทลายของเนินทรายที่จะกั้นทะเลจากแผ่นดินของประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอย่างเนเธอแลนด์ ที่เนเธอแลนด์กำลังประสบอยู่ในขณะนั้น ทำให้เธโอ ยานเซ่นจินตนาการถึงสัตว์ประดิษฐ์ที่สามารถเดินไปมาและกวาดสร้างเนินทรายขึ้นมาเพื่อรักษาระดับความสูงของเนินทรายไว้ได้ นั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1990 เขาทดลองใช้ท่อพลาสติกสีเหลือง พันด้วยเทปกาว สร้างสัตว์ด้วยแนวคิดดังกล่าวขึ้นมา

Animaris Apodiacula ©️ Media Force

Animaris Apodiacula ©️ Media Force

“ผมใช้ท่อพีวีซี เพราะสามารถสร้างโครงสร้างต่างๆ ได้ง่ายมาก ไม่กี่ชั่วโมงก็ขึ้นโครงได้เลย เห็นรูปร่างและทดสอบการใช้งานได้เลย” เขายังเสริมว่าท่อพลาสติกราคาถูก หาง่าย เขาชอบประดิษฐ์อะไรขึ้นมาจากวัสดุใกล้มือไม่เกิน 10 เมตรรอบตัวนั่นแหละ

แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ความตั้งใจเดิมที่จะประดิษฐ์สิ่งที่ช่วยรักษาเนินทราย ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นมุ่งสร้างสัตว์พันธุ์ใหม่ที่เคลื่อนที่ได้ และอยู่รอดด้วยตัวเองบนชายหาด หนังสือในยุค 80s เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต คือสิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อเขามาก เขามีต้นแบบการเคลื่อนไหวจากสิ่งมีชีวิต แต่ในเรื่องของฟอร์มนั้น เขาไม่เลียนแบบสิ่งใดเลย เพราะอยากให้เป็นสัตว์พันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก

สมุดสเก็ตช์ของ Theo Jansen

สมุดสเก็ตช์ของ Theo Jansen ภาพโดย อาศิรา พนาราม

“ผมสเก็ตช์เยอะมากในการออกแบบ รูปแบบที่เกิดขึ้นนั้นมาจากฟังก์ชั่น แต่รูปทรงไม่ได้มาจากธรรมชาติ คือผมจะไม่ลอกเลียนหรือก๊อปปี้ฟอร์มของสัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพราะต้องการสร้างสัตว์พันธุ์ใหม่ขึ้นมา และไม่ได้ต้องการสร้างอะไรที่สวย แต่ต้องการสร้างสิ่งที่สามารถอยู่รอดได้ ทำงานได้ตามที่ต้องการเป็นหลัก”

ปีกที่โบกลม หางที่กวัดแกว่ง เท้าที่เป็นทรงโค้ง ทุกอย่างล้วนมีความหมายและเพื่อการใช้งาน ตั้งแต่การเก็บกักลมเข้ามาไว้ใน “เครื่องใน” ที่เป็นขวดพลาสติก เพื่อปั๊มลมออกมาใช้เดินไปมา หรือใช้ตอกสมอปักตัวเองให้อยู่กับที่ เป็นต้น

Strandbeests เคลื่อนที่ได้จากทั้งการใช้แรงคนลาก แรงลมพัดปีกแล้วส่งต่อไปยังเท้า และบางสายพันธุ์ยังมีสมองคอมพิวเตอร์ควบคุมการเคลื่อนไหว เขาพยายามปรับแต่ง และวิวัฒน์สายพันธุ์ออกมาเป็นยุค ซึ่งก็มีจุดเน้นในการศึกษาต่างกันของสัตว์แต่ละตระกูล เพื่อสร้าง Strandbeests ที่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองบนชายหาด

Strandbeests แพร่กระจายกลายพันธุ์

หลังจากที่ยานเซ่นเผยแพร่ Strandbeests ออกไปตั้งแต่ยุคแรก ก็เป็นที่ประทับใจของทั้งศิลปิน และนักศึกษาสายฟิสิกส์ และวิศวกรรมให้ลองประดิษฐ์ Strandbeests ของตัวเองขึ้นมาบ้าง และยานเซ่นเองก็มีแนวคิดเปิดกว้าง เขาคิดว่าสิ่งมีชีวิตไม่ได้มีแค่ส่งต่อกันด้วยยีนเท่านั้น แต่เกิดจากการส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น การรับเอาและปรับเปลี่ยนส่งผลดีต่อวิวัฒนาการอย่างยิ่ง

Animaris Umerus Segundus สามารถปั๊มลมและกักพลังลมไว้ในท้องที่เป็นขวดพลาสติก ทำให้เดินเองได้

Animaris Umerus Segundus สามารถปั๊มลมและกักพลังลมไว้ในท้องที่เป็นขวดพลาสติก ทำให้เดินเองได้ ภาพโดย อาศิรา พนาราม

เขาจึงเผยแพร่ “13 Holy Numbers” โค้ดสำหรับการประดิษฐ์ Strandbeests ออกไปให้เป็นแหล่งข้อมูลแบบเปิด ใครจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ ยิ่ง Strandbeests “กลายพันธุ์” ไปมากเท่าใด ก็ยิ่งเกิดการทดลอง การแบ่งปันข้อมูล เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกันมากขึ้น เราจึงได้เห็นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Strandbeests มากมาย ทั้งงานทดลองของนักศึกษา MIT ไปจนถึงงานศิลปะ ที่ศิลปินอย่าง Isabelle Desjeux เจ้าของผลงาน Backyard Lab ก็บอกชัดเจนว่าเธอได้แรงบันดาลใจมาจากงานของเธโอ ยานเซ่นแบบเต็มๆ

จินตนาการที่ทำงานบนความเป็นจริง

สมัยมหาวิทยาลัย ยานเซ่น ใช้เวลาเรียนสาขาฟิสิกส์อยู่ถึง 7 ปี ที่ Delft University แต่ไม่ได้สำเร็จปริญญามา แม้เรียนไม่จบ แต่เขาก็ไม่เคยหยุดคิดและหยุดทำงาน เขาเป็นคนชอบจินตนาการ แต่ก็รักที่จะอยู่กับความเป็นจริง สิ่งที่เข้ามาเชื่อมโยงและช่วยสมดุลระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง ก็คือความเชื่อและศิลปะนั่นเอง เขาบอกว่าตัวเองไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ “โดยทำงานเหมือนหุ่นยนต์อยู่ในบริษัทเครื่องไฟฟ้าฟิลลิปส์ หรืออะไรทำนองนั้น” เขาจึงอุทิศชีวิตให้กับงานศิลปะ ในช่วงแรกของเน้นหนักที่การวาดภาพแลนด์สเคป แล้วค่อยๆ ผนวกการสร้างผลงานเชิงวิศวกรรมเข้ามา

ศิลปะเชิงทดลองที่แสดงตัวตนของเขาชิ้นแรก เกือบจะเรียกว่าเป็น “การเล่นแผลง” เขาสร้าง “UFO” ในปี 1980 โดยใช้แผ่นผ้าใบสีดำขึ้นโครงด้วยท่อพีวีซีขนาดความกว้าง 4 เมตร แล้วปล่อยลอยขึ้นไปในท้องฟ้าเหมือนบอลลูน เงาทะมึนของ “UFO” กลายเป็นจลาจลย่อมๆ ที่ทำให้ผู้คนแตกตื่น คิดไปต่างๆ นานา งานชิ้นนี้ลอยลับตาไป ไม่เคยกลับมาอีก

Animaris Burchus Primus at Wind Walkers ©️ Marina Bay Sands

Animaris Burchus Primus ซึ่งเลียนแบบการเดินของหนอน ในนิทรรศการ Wind Walkers ©️ Marina Bay Sands

แม้ศิลปะของเขาจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และใช้เทคโนโลยี แต่ถ้าถามถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาสมองของสัตว์พันธุ์ใหม่ของเขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ยานเซ่นก็บอกว่า

“สัตว์ของผมค่อนข้างห่างไกลจากปัญญาประดิษฐ์ เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาก็เทียบไม่ได้กับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าคุณให้เวลาผมอีกสักล้านปี สัตว์ของผมก็น่าจะวิวัฒนาการให้ฉลาดขนาดนั้นได้ แต่จริงๆ สัตว์ของผมก็มีสมอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการเอาตัวรอด สมองที่สามารถพัฒนาให้เก็บข้อมูลลม แสงอาทิตย์ แล้วก็วิเคราะห์ เช่น ติดตั้งบารอมิเตอร์ วัดแรงกดอากาศ เพื่อทำนายแรงลม ถ้าวันนี้ลมแรงก็จะสั่งการให้ขุดและปักตัวเองกับพื้นทรายให้แน่น เพื่อไม่ให้ปลิวไปตามลม ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ แต่ก็สามารถเป็นไปได้”

Animaris Siamesis

Animaris Siamesis แฝดสยาม ในนิทรรศการ Wind Walkers ภาพโดย อาศิรา พนาราม

และในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะด้วยรูปทรงและการเคลื่อนไหว ก็ต้องบอกว่า Strandbeests เป็นงานที่เหมือนหลุดออกมาจากโลกแฟนตาซี แต่เจ้าของผลงานบอกว่าตัวเขาเองเป็นคนไม่ใช่แฟนตัวยงของหนังหรือหนังสือไซ-ไฟ เขาชอบดูหนังที่เกี่ยวกับมนุษย์และความพยายามของมนุษย์มากกว่า ในทางกลับกันเขาเป็นคนชอบใช้จินตนาการมาก และจินตนาการของเขาก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

บางคนก็คิดว่าเขามองตัวเองเป็นพระเจ้า ผู้สร้างสัตว์พันธุ์ใหม่ขึ้นมาหรือเปล่า เธโอ ยานเซ่น ปฏิเสธ “กลับกัน ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นทาสมันต่างหาก เพราะตอนนี้ทำอะไรก็คิดถึงมันไปหมด ทำทุกอย่างเพื่อให้มันเอาตัวรอดได้”

วิวัฒนาการกับมนุษย์ในอนาคต

เธโอ ยานเซ่น เป็นศิลปินที่เปิดกว้าง เข้าถึงง่าย ไม่มีมาดของศิลปินใหญ่ และยินดีให้ข้อมูลทุกอย่าง เหมือนเขาได้ตกผลึกกับการทำงานและการใช้ชีวิตมามาก จนมองทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ นอกจากการทำงาน เราอยากรู้มุมมองของเขาเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเรื่องวิวัฒนาการ

หลังจากทำงานเกี่ยวกับวิวัตนาการของสิ่งมีชีวิตมาแม้จะเฉพาะทาง แต่ยานเซ่นก็ยอมรับว่า การทำงานที่ผ่านมาทำให้เขารู้มากขึ้น

Theo Jansen at press preview of Wind Walkers ©️ Marina Bay Sands

Theo Jansen อธิบายนิทรรศการ Wind Walkers ©️ Marina Bay Sands

“รวมถึงมุมมองในการมองโลกด้วย มนุษย์วิวัฒนาการให้เราสามารถใช้ชีวิตรอดได้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง สามารถมีความสุขได้กับผู้คน กับสังคมที่มีคนมากมาย การเอาชีวิตรอดในสังคมนั้นต่างจากการเอาตัวรอดในป่าโดยสิ้นเชิง ทาร์ซานสามารถเอาตัวรอดจากจระเข้ แต่ก็คงไม่สามารถเอาตัวรอดในนิวยอร์กได้ อาจถูกรถชนทันทีเลย

"การเอาตัวรอดในสังคมเป็นทักษะพิเศษ เราก็คงไม่ต้องทำอะไรมาก ถ้าเรามีความสามารถในการเข้ากับผู้คน มีพรสวรรค์ในการมีความสุขในสังคม ท่ามกลางสังคมที่เย็นชาในบางครั้ง ซึ่งก็เอาตัวรอดได้ยากนะ ผมคิดว่าวิวัฒนาการก็ไปเรื่อยๆ กับคน ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความคาดหวังมากขึ้น มีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม เรื่องเด็กที่เกิดน้อย แต่โชคดีที่ทั้งโลกก็มีแนวโน้มในทางบวกมากกว่า ผมว่าก็ดีขึ้นกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว อย่างเรื่องความก้าวหน้าต่างๆ ของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น”

ฉะนั้น ท่ามกลางกระแสที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนเรามาก ทำให้บางคนเริ่มกลัวเทคโนโลยี บางองค์กรออกมาเตือนเรื่องความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ที่อาจเป็นภัยกับมนุษยชาติในอนาคต ศิลปินวัยกว่า 70 ปีที่เห็นโลกมามากเห็นต่างออกไป เขาคิดว่าเทคโนโลยีคือสิ่งสวยงาม

“เทคโนโลยีก็เหมือนกับทุกสิ่งที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี อย่างคนก็ยังมีคนดีและคนเลว มีสิ่งดีเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่ดีก็ย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน เทคโนโลยีที่ดีก็เช่น ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ส่วนสิ่งไม่ดี คนเราก็ต้องสร้างมันให้เกิดขึ้นมาอยู่แล้วตามประสา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปถึงเรื่องใหญ่อย่างสงคราม ผมไม่คิดว่าเราจะเจอกับสงครามหุ่นยนต์หรอกนะ แต่จริงๆ แล้วเราก็เป็นเหยื่อของเทคโนโลยีอยู่ดี เพราะเราเสพติดอะไรที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น และยากที่จะเลิกเสพติดได้”

ถึงอย่างไร เทคโนโลยีก็ต้องวิวัฒน์ไปข้างหน้าไม่ต่างกับสิ่งมีชีวิต ฉะนั้น อย่ากลัวเทคโนโลยีเลย

Wind Walkers

จะรู้จักเธโอ ยานเซ่น ให้ดียิ่งขึ้น ควรพาตัวเองไปเผชิญหน้า Strandbeests ตัวจริงทั้ง 13 ชิ้นงาน ซึ่งกำลังแสดงที่สิงคโปร์ ในนิทรรศการ Wind Walkers: Theo Jansen's Strandbeests ณ ArtScience Museum ไม่เพียงแต่นำผลงานจริงที่ขยับได้ และงานที่เป็น “ฟอสซิล” (ขยับไม่ได้แล้ว) ยุคต่างๆ มาแสดงแล้ว ยังได้เห็นกระบวนการทำตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งแบบร่าง การทดลอง ข้อต่อ อุปกรณ์ที่ใช้ และกลไกพื้นฐาน ถือเป็นการเผยความคิดชนิดผ่าสมองกันเลย

Animaris Sabulosa in the first gallery of Wind Walkers ©️ Marina Bay Sands

Animaris Sabulosa ตั้งอยู่ในโถงแรกของนิทรรศการ Wind Walkers ©️ Marina Bay Sands

Wind Walkers: Theo Jansen's Strandbeests ได้รับการสนับสนุนจาก Audemars Piguet ซึ่งทำงานร่วมกับเธโอ ยานเซ่น มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ Art Basel 2014 ซึ่งจัดแสดงใน Miami Beach โดยทางแบรนด์ได้ค้นหาศิลปินที่มีความเป็นเลิศทั้งศาสตร์และศิลป์ และมีแนวคิดเป็นอิสระ เพื่อสร้างสรรค์งานร่วมกันในแง่มุมต่างๆ และเธโอ ยานเซ่น ก็คือหนึ่งในนั้น ที่ได้พิสูจน์ความสุดยอดที่ทำให้เราขนลุกได้ตั้งแต่แรกเห็น แล้วก็ทึ่งในกระบวนการคิด และนับถือต่อความมุ่งมั่นในการสร้างงานระดับมาสเตอร์พีซ ที่ยินดีให้คนนำไปดัดแปลงได้อย่างไม่หวงแหน

นิทรรศการนี้แสดงระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน - 30 กันยายน 2561 ที่ ArtScience Museum มารินา เบย์ แซนด์ ประเทศสิงคโปร์