ล่องโขงลาวใต้ ความประทับใจแห่งอุษาคเนย์

ล่องโขงลาวใต้ ความประทับใจแห่งอุษาคเนย์

การเดินทางช้าๆ ไปตามสายน้ำมหัศจรรย์ทีไม่มีวันลืม มีแต่จะรักมากขึ้นกว่าเดิม

แม่น้ำโขง คือแม่น้ำยาวอันดับ 10 ของโลก เป็นสายธารามหานทีที่ยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร ลดเลี้ยวผ่านจีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา แล้วไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม เป็นสายน้ำที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในบราซิล และแม่น้ำแซร์ในแอฟริกา ผมอยากไปเห็นกับตาสักครั้ง เลยได้โอกาสชวนเพื่อนสนิทไปล่องเรือลาวใต้ ในแม่น้ำโขงช่วงเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ใช้เวลา 3 วัน 2 คืนกินนอนอยู่บนเรือใหญ่ชื่อ Vat Phou Boat

นี่เป็นหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่ผมจะไม่มีวันลืม...

ยอดลึงคบรรพต

 

การผจญภัยของผมเริ่มต้นขึ้นแบบง่ายๆ ด้วยการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วข้ามด่านชายแดนช่องเม็กเข้าสู่เมืองปากเซแขวงจำปาสัก แขวงนี้ของลาวไม่ธรรมดา เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปได้ถึงยุคต้นอาณาจักรล้านช้างอันเรืองรุ่ง ทว่าเมื่อกล่าวถึงการท่องเที่ยวแล้ว จำปาสักช่างมีกลิ่นหอมหวนไม่ต่างกับดอกจำปา (ดอกลั่นทม หรือดอกลีลาวดี) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติลาว เพราะเมืองนี้มีชื่อเสียงขจรไกลไปทั่วโลก โดดเด่นทั้งธรรมชาติของที่ราบสูงโบโลเวน ไร่กาแฟ ไร่ชา อากาศเย็นสบาย มีวัฒนธรรมชนเผ่า โบราณสถานสมัยขอมยุคเริ่มต้น และขาดไม่ได้ คือ น้ำตกคอนพะเพ็ง 'ไนแอการาแห่งเอเชีย'

ภูมิประเทศสำคัญที่สุดของปากเซคือ ที่ราบสูงโบลาเวน (Bolaven Plateau บางครั้งเขียนว่า Bolovens) ซึ่งคนลาวเรียกในภาษาถิ่นว่า ภูเพียง โบลาเวน’ (Phu Phieng Bolaven) บนระดับความสูง 1,000-1,350 เมตรเหนือน้ำทะเลอันหนาวเย็น จึงเหมาะแก่การปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้า มีการจัดอันดับให้เมล็ดกาแฟลาวมีความอร่อยเป็นอันดับที่ 6 ของโลกเลยล่ะ

ดอนคอน 2

การล่องโขงในปากเซของผม เริ่มขึ้นในยามบ่ายที่ไม่ร้อนอบอ้าวนัก เรือหางยาวลำน้อยจอดรออยู่แล้ว เพื่อการล่องไปชม สี่พันดอน หรือ 'มหานทีสี่พันดอน’ ซึ่งฝรั่งมังค่าเข้าใจผิดไปตั้งชื่อว่าเป็น ‘4,000 Islands’ ทว่าในความเป็นจริงไม่ใช่ แม่น้ำโขงช่วงนี้ไหลผ่านดินตะกอนนุ่มจึงทะลุทะลวงผืนดินแตกออกราวแฉกนิ้วมือ ก่อเกิดเกาะกลางน้ำที่เรียกว่า สี่พันดอน (Si Phan Don) ซึ่งมีรากศัพท์มากจากคำว่า ‘มหานทีสีทันดร’ คือมหาสมุทร 7 ชั้นที่ล้อมรอบเขาสัตตบริภัณฑ์ โดยมีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงจุดกลาง ตามความเชื่อของฮินดู

ในที่สุดเรือก็มาจอดเทียบเกาะใหญ่ที่สุดของมหานทีสีทันดร คือ เกาะดอนคอน เราต้องแปลกใจ เมื่อพบว่าบนเกาะที่ดูบ้านนอกสุดขีดนี้ กลับกลายเป็นแหล่งรวมของฝรั่งแบ็กแพ็กเกอร์ผู้รักสงบ ต่างมาพักผ่อน long-stay นอนในกระต็อบมุงจาก ผูกเปลอ่านหนังสือ ปั่นจักรยานเล่น ทำให้รู้สึกอิจฉาในรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ บนเกาะดอนคอนมีทางรถไฟและซากหัวรถจักรไอน้ำเก่า ร่องรอยครั้งที่ฝรั่งเศสยึดลาวเป็นอาณานิคม แล้วพยายามใช้เป็นเส้นทางผ่านขึ้นไปสู่จีนตอนใต้ แต่ก็ไม่สำเร็จ

เย็นวันนั้นเรือหางยาวลำเดิมนำผมมาถึงเรือ Vat Phou Boat อย่างปลอดภัย เรือไม้ขนาดใหญ่สองชั้นถูกตกแต่งอย่างหรูเรียบ บนดาดฟ้าชั้นบนสุดมีหลังคาคลุม พร้อมฟูกและเก้าอี้หวายให้นอนนั่งเอกเขนกตามใจปรารถนา ทำให้ผมเพลินกับการเก็บภาพแสงสุดท้ายของวัน

เรือวัดพู 2

เช้าวันถัดมา เรือใหญ่ค่อยๆ แล่นทวนน้ำโขงขึ้นไปเอื่อยๆ กัปตันมากประสบการณ์บังคับเรือแล่นทวนสายน้ำเชี่ยวสีโอวัลตินแบบซิกแซกไปมา มีสายลมเย็นโบกพลิ้วต้องผิวกายเป็นระยะๆ ทำให้หลายคนผล็อยหลับไปโดยไม่รู้ตัว แต่ผมหลับไม่ลง เพราะตื่นตากับทัศนียภาพแม่น้ำโขงที่กว้างมาก ผิดกับในช่วงที่ไหลเลียบชายแดนไทยซึ่งไม่ค่อยกว้างนัก ทว่าแม่น้ำโขงที่ผมเห็นตอนนี้ใหญ่ยิ่งราวกับมหาสมุทร สองฝั่งเต็มไปด้วยป่าไม้รกชัฏ หมู่บ้าน วิถีประมง และความน่ารักของเด็กๆ ซึ่งพากันวิ่งออกมาโบกมือทักทายเรือของเราด้วยความตื่นเต้น ความใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กๆ นี่เอง ที่ช่วยเติมเต็มการเดินทางครั้งนี้ให้สมบูรณ์ อิ่มเอม อย่างเต็มที่

เรือจับปลาที่จำปาสัก 1

เรือแล่นมาจอดเทียบที่หมู่บ้านเดื่อเตี้ย เพื่อนำชมวิถีการกินอยู่พื้นบ้านแบบลาวแท้ๆ ใช้เวลาเดินเที่ยวอยู่ราวชั่วโมงเศษ ก็กลับมาขึ้นเรือ แล้วล่องยาวราว 5 ชั่วโมง จากเที่ยงถึงเย็น แวะจอดเทียบท่านอนที่บ้านห้วยโต๊ะโม๊ะ ซึ่งไกด์พาเดินป่าระยะสั้นประมาณ 30 นาที เข้าไปชมปราสาทขอมโบราณชื่อ ปราสาทวัดอุโมงค์ (Oum Muong) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13-14 บนเส้นทางโบราณสู่ปราสาทวัดพูที่ต่อเนื่องไปยังนครวัดได้ ปราสาทวัดอุโมงค์มีขนาดเล็กและยังไม่ได้รับการบูรณะ กอปรกับตั้งอยู่ในป่ารกชัฏ จึงรกเรื้อลึกลับมาก

ปราสาทวัดพู 1

เช้าวันสุดท้าย ในที่สุดผมก็มาถึงไฮไลท์ของทริปล่องโขงลาวใต้ คือการเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ปราสาทวัดพู (Vat Phou บางที่เขียน Vat Phu) ซึ่งมีความเก่ากว่านครวัดเสียอีก เพราะวัดพูสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6-8 สมัยอาณาจักรเจนละบก ส่วนนครวัดเพิ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เมื่อศตวรรษที่ 17 นี่เอง 

ปราสาทวัดพู 2

จากท่าเรือเราอาศัยรถสองแถวไปราว 30 นาที สู่ตีนเชิงภูเกล้า (ลึงคบรรพต) ซึ่งสามารถมองขึ้นไปเห็นตัวโบราณสถานตระหง่านอยู่บนเชิงผาและป่าดิบ ตัวโบราณสถานแบ่งเป็น 3 ชั้น ต้องใช้แรงไม่ใช่น้อยในการเดินขึ้นไปชม ชั้นล่างสุดมีบาราย (สระน้ำ) ที่ใช้ชำระล้างร่างกายก่อนขึ้นไปบูชาเทพ ชั้นสองเป็นปราสาทหิน และชั้นบนสุดเป็นหน้าผาที่มีลานบูชายันต์ มีหินจระเข้ให้หญิงสาววัยละอ่อนลงไปนอน แล้วตัดหัวเพื่อนำโลหิตไปทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่อาณาจักร! นี่เป็นความเชื่อของชาวเจนละเมื่อหลายพันปีก่อน ปัจจุบันไม่มีแล้ว ไม่ต้องตกใจ

ในยุคหลังเมื่ออาณาจักรเจนละและขอมเสื่อมลง พุทธศาสนานิกายมหายายนก็ก้าวเข้ามาแทนที่ ปราสาทวัดพูจึงถูกใช้เป็นวัด การบูชาศิวะลึงค์และโยนีแบบขอมนิกายไศวะ (ศิวะ) จึงสิ้นไปด้วย แต่เราก็ยังสัมผัสได้ถึงความขรึมขลังของหินทุกก้อนที่รวมตัวกันเป็นมหาปราสาทนี้ เมื่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ก็จะได้ตื่นตากับวิวพาโนรามา มีวิหารหิน บาราย โคปุระ และทุ่งราบกว้างไกล 

ไกด์เล่าว่าจากวัดพูมีเดินทางต่อไปราว 240 กิโลเมตร สู่นครวัดในเขมร ผ่านเส้นทางเดินเท้าโบราณ โดยยังมีร่องรอยของโบราณสถานที่ใช้เป็นจุดพักและอโรคยาศาลา (โรงพยาบาลชุมชน) ให้แก่นักแรมทางในอดีตกาลด้วย

local life 2

เย็นย่ำแล้ว แสงแดดจ้าเปลี่ยนเฉดไปเป็นสีทองอมส้ม สายน้ำโขงสีปูนยังคงไหลเข้ามาต้านหัวเรืออย่างไม่หยุดหย่อน ผมมองไปไกลลิบๆ เบื้องหน้า เห็นสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น และตัวเมืองปากเซรออยู่แล้ว ทำให้รู้สึกว่าช่วงเวลาแห่งความสุขในการเดินทางมันรวดเร็วเหมือนฝัน ระยะทางกว่า 220 กิโลเมตร ตลอด 3 วัน 2 คืน บนเรือลำนี้ผ่านไปเร็วราวกะพริบตา ไม่มีคำว่าน่าเบื่อ มีแต่เรื่องราวพิเศษและสถานที่แปลกใหม่ให้เรียนรู้ 

อีกไม่กี่อึดใจการล่องโขงของผมคงสิ้นสุด แต่ความปรารถนาในการท่องโลกนั้นยังไม่หยุด เช่นเดียวกับสายน้ำโขงที่ไม่เคยหยุดไหล เป็นแน่...