“หลู่ ซือชิง” กับ “บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส” – อีกแล้วเหรอ?

“หลู่ ซือชิง” กับ “บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส” – อีกแล้วเหรอ?

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 เริ่มขึ้นแล้ว มาดูกันว่ามีอะไรเด็ด ๆ ในเทศกาลนี้กันบ้าง

คอลัมน์ : มิวสิค คอร์เนอร์

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 ในบ้านเราเปิดการแสดงไปแล้ว ไฮไลต์เปิดมหกรรมฯ เป็นการแสดงรอบปฐมทัศน์ของโลก บัลเลต์เรื่อง แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม บัลเลต์สร้างสรรค์ใหม่หมด ทั้งดนตรี เนื้อเรื่อง การออกแบบท่าเต้น ฯลฯ นำเสนอโดย คณะเยกาเตรินเบิร์ก บัลเลต์ แอนด์ โอเปร่า เธียเตอร์ จากประเทศรัสเซีย

 

21753141_1307388122716321_4168860394666657134_o

04(26)

05(13)

            อุ่นหนาฝาคั่งด้วยจำนวนผู้ชม สมกับเป็นการแสดงรอบ “เวิลด์พรีเมียร์” ความรู้สึกแรกในใจของผู้เขียนระหว่างชมการแสดง แปลกใจว่า บัลเลต์เรื่องใหม่ เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย ลงทุนลงแรงไปมากมาย ทำไมถึงจัดการแสดงเพียงรอบเดียว?

พิจารณาในแง่เศรษฐศาสตร์ น่าจะใช้ประโยชน์แนวคิดเรื่อง “การประหยัดจากขนาดการผลิต” (Economies of Scale) เล่นหลายรอบ เพื่อใช้ประโยชน์จาก “ต้นทุนคงที่” อาทิ ต้นทุนเรื่องฉาก, เครื่องแต่งกาย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทั้งหมดของการจัดการแสดงลดน้อยลง ในแต่ละรอบของการแสดงที่จัดแสดงเพิ่มขึ้น

            เพิ่งถึง “บางอ้อ” และ รู้สึกว่าผู้เขียนมองข้ามแนวคิดบางประเด็นไป ก็ต่อเมื่อได้มีโอกาสสนทนากับผู้สันทัดกรณี คลุกคลีอยู่กับการจัดการแสดง “ซีเรียส อาร์ตส์” มาพอสมควร เอ่ยเอื้อนว่า คิดว่าผู้จัดการแสดง คงอยากจัดการแสดงหลายรอบ แต่คงติดขัดว่า แล้วจะหา “ผู้ชมผู้ฟัง”จำนวนมากมาย มาสร้างความ “อุ่นหนาฝาคั่ง” เช่นการแสดงรอบแรกได้อย่างไรกัน?

            ขนาดแสดงรอบเดียว ก็ต้อง “เหนื่อย” และต้อง “ทำงานหนัก” หืดขึ้นคอพอสมควร ในการดึงคนให้มาชมการแสดง ถ้าจัดรอบสอง แล้วมีคนดู “โหรงเหรง” คงจิตตก หมดกำลังใจ และสูญสิ้นทรัพยากรหลายอย่างไป ทั้งผู้แสดงและผู้จัดการแสดง เป็นแน่แท้

            ปัญหาจากกรณีศึกษานี้ คือ ทำอย่างไรจะมีผู้ชมผู้ฟังการแสดงจำนวนมากเพียงพอ ที่จะจัดการแสดงได้หลายรอบ เพื่อลดต้นทุนในการจัดการแสดง และเพื่อเผยแพร่ศิลปะการแสดงตะวันตกสู่มหาชนจำนวนมากขึ้น

            นำไปสู่แนวคิดที่นักวิชาการด้านบริหารจัดการศิลปะการแสดงได้เคยศึกษา ชี้แนะหนทางแก้ไขไว้แล้วบางประการ คือ ต้องสร้างผู้ชมผู้ฟัง ผ่าน “การปลูกฝังและสั่งสมรสนิยมเรื่องศิลปะ” ให้กับมหาชนทั่วไป ทำอย่างไรให้ประชาชนมีโอกาสสัมผัสศิลปะการแสดงได้อย่าง “ง่ายดาย” สั่งสมเป็นระยะเวลา “ยาวนาน” เพียงพอ เพื่อสร้างและพัฒนารสนิยมเรื่องศิลปะให้บังเกิดขึ้นกับผู้สนใจทั่วไป

            ตัวอย่างรูปธรรม ผู้เขียนเห็นได้จากมหกรรมฯ ครั้งที่ 19 คือการที่บริษัทธุรกิจเอกชน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการแสดง รายแรก ธนาคารกรุงเทพ ได้ “เหมารอบ” การแสดงรอบ 14.30 น. เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน แสดงบัลเลต์เรื่อง ซินเดอเรลล่า ให้เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษาได้เข้าชมการแสดง เช่นเดียวกับ ปตท. เหมารอบบ่ายสองโมงครึ่งวันนี้ การแสดงชุด ฟลายอิง ซูเปอร์คิดส์ ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเข้าชมเช่นเดียวกัน

 

01(55)

02(51)

            เป็นการสร้างและพัฒนาผู้ชมผู้ฟังด้านศิลปะการแสดง ที่องค์กรธุรกิจอื่นๆ น่าจะเป็น สปอนเซอร์ ลักษณะเดียวกันบ้าง

------------------------

            ใครจะไปคาดคิดว่าเมื่อหมดยุค “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยุคนั้นปฏิเสธดนตรีคลาสสิกอย่างสิ้นเชิง ประเทศจีนจะผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดนตรีคลาสสิกอีกประเทศหนึ่ง ทั้งในฐานะ “ผู้บริโภค” หรือผู้ชมผู้ฟังการแสดง และฐานะ “นักดนตรี”คลาสสิกจีนรุ่นใหม่ โด่งดังในเวทีการแข่งขันทางดนตรีและเวทีการแสดงดนตรีระดับนานาชาติ

            เมื่อนึกถึงบทเพลงเพลงคลาสสิกจีน สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยอิงลักษณะดนตรีคลาสสิกยุโรปตะวันตก หลายคนต้องนึกถึงเพลงสำหรับเดี่ยวเครื่องดนตรี ประชันกับวงออร์เคสตรา รูปแบบ “คอนแชร์โต” ขึ้นมา 2 เพลงคือ เยลโล รีเวอร์ เปียโน คอนแชร์โต และ บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งทั้งสองเพลงแต่งขึ้นยุคแนวคิดสังคมนิยมในเมืองจีน ยังมีบทบาท “ชี้นำ”ด้านวัฒนธรรมอยู่สูงมาก

            เยลโล รีเวอร์ เปียโน คอนแชร์โต สามารถสนองตอบแนวรบด้านวัฒนธรรมช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี แตกต่างจาก บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส ไวโอลิน คอนแชร์โต ที่ถูกโจมตีว่าเป็น ดนตรีคลาสสิกที่สะท้อน “วัฒนธรรมของพวกกระฎุมพี”

            บทเพลง บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส เป็นการเดี่ยวไวโอลิน สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยที่เทคนิคการบรรเลงบางส่วน อิงกับการบรรเลงซอสองสายของจีน อาทิ การสร้างสีสันของเสียงดนตรี ผ่าน เทคนิคการสร้าง Ornamentation ต่างๆ ผ่านเสียงไวโอลิน

            ผู้แต่ง 2 คน เป็นนักเรียนดนตรีแห่งสถาบันดนตรีนครเซี่ยงไฮ้ คนหนึ่งเป็นนักเรียนด้านการประพันธ์ดนตรี อีกคนเป็นนักไวโอลิน นำออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1959 ผู้เดี่ยวไวโอลิน การแสดงรอบปฐมฤกษ์ ได้แก่ หวิ หลีหนา (Yu Li-na)  นักเรียนดนตรีสาววัย 17 ปี ร่วมกับวง เซี่ยงไฮ้ คอนเชอร์วาทอรี ซิมโฟนี ออร์เคสตรา อำนวยเพลงโดย Fan Cheng-wu

            เป็นบทเพลงที่ต้องการแต่งออกมาลักษณะ “โปรแกรม มิวสิค” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่าง จู้อิงไถ และ เหลียงซานป๋อ ความยาวท่อนเดียวประมาณ 25-28 นาที (ขึ้นกับการบรรเลงของผู้เดี่ยวไวโอลินแต่ละคน) บทเพลงนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งปลายทศวรรษ 70 เมื่อสิ้นยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม

---------------------------------

            สื่อผลิตซ้ำทางดนตรี น่าสนใจ บทเพลง บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส ไวโอลิน คอนแชร์โต อาทิ การเดี่ยวไวโอลินของ หวิ หลีหนา (Yu Li-na) นักไวโอลินหญิงที่เล่นเพลงนี้เป็นคนแรก มีตั้งแต่แผ่นเสียง, เทปคาสเซท และ แผ่นซีดี บันทึกการแสดงเมื่อปี ค.ศ. 1959 เป็นเวอร์ชั่นที่น่ามีเก็บไว้ลักษณะ Historic Recording การบันทึกเสียงดีกว่าที่คิดไว้ อาจจะดีกว่าการบรรเลงใหม่ของเธอในปี ค.ศ. 1996 ร่วมกับวงบีบีซี คอนเสิร์ต ออร์เคสตรา

            ต่อมานักไวโอลินหญิง ชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้บทเพลงนี้โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอีกคน น่าจะเป็น ทาคาโกะ นิชิซากิ กับอัลบั้มสังกัด ฮ่องกง เรคอร์ดส์ การบรรเลงร่วมกับวง นาโกย่า ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา

            นักไวโอลินชาวตะวันตก ที่ไม่ใช่คนจีน นำบทเพลงนี้ไปบรรเลงได้น่าฟัง ล่าสุดผู้เขียนมีโอกาสฟังมา เป็นการเดี่ยวไวโอลิน โดย กิล ชาฮาม นักไวโอลินชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ร่วมกับวงสิงคโปร์ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา การบันทึกเสียงดี มีการแบ่งเป็นแทร็กย่อยๆ รวม 7 แทร็ก

            นักไวโอลินจีนหลายคนนำบทเพลงนี้ไปบรรเลงและจัดทำเป็นสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีที่น่าฟังที่สุดชุดหนึ่ง ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ เป็นการเดี่ยวไวโอลินโดย หลู่ ซือชิง (Lu Si-qing) บันทึกเสียงเพลงนี้ จัดทำเป็นสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีมาแล้วหลายเวอร์ชั่น

 

02(54) (1)

            ความโดดเด่นของ หลู่ ซือชิง อยู่ที่ความสามารถในการบรรเลงไวโอลินของเขาที่ “กุม” เทคนิคการเล่นไวโอลินได้ครบถ้วน, เสียงแม่นยำมั่นคง, สีสันเสียงไวโอลินหลากหลาย และการตีความเพลง บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส ไวโอลิน คอนแชร์โต โดยยังคงรักษา “สำเนียง” เสียงดนตรีจีนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

            หลู่ ซือชิง เรียนไวโอลินในสถาบันดนตรีกลางแห่งนครปักกิ่ง ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ต่อมาเรียนไวโอลินต่อที่สถาบันดนตรีเมนูฮิน ประเทศอังกฤษ และ สถาบันดนตรีจูลลิอาร์ด นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทำให้เขามีประสบการณ์ดนตรีถึง 3 สำนักทางดนตรีที่แตกต่างกัน

เข้มงวดและเน้นเทคนิคการเล่น ตามการสอนแบบจีน, การมุ่งความหลากหลายทางดนตรี ทั้งการเล่นเดี่ยว เล่นเชมเบอร์ มิวสิค การเล่นในวงออร์เคสตรา แบบอังกฤษ และการมุ่งไปสู่ความเป็นหนึ่งทางดนตรีของการสอนแบบอเมริกัน

 

หลู่ ซือชิง กับ อัลบั้มยอดฮิต

 

            แฟนเพลงคลาสสิกไทยคุ้นหน้าคุ้นตา หลู่ ซือชิง เป็นอย่างดี เพราะเขาเคยมาแสดงคอนเสิร์ตในบ้านเราแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1995 และอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 เดี่ยวไวโอลิน คอนแชร์โต – บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส ร่วมกับวง เซี่ยงไฮ้ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา

            วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน นี้ เวลา 14.30 น. (เวลาไม่ปกติทั่วไปของการแสดงดนตรีคลาสสิก แต่ผู้จัดต้องการให้ผู้ชมผู้ฟังมีโอกาสพักผ่อน ก่อนไปทำงานต่อในวันจันทร์) หลู่ ซือชิง จะนำเพลงเก่ง บัตเตอร์ฟลาย เลิฟเวอร์ส ซึ่งเป็น Signature Repertoire ของเขา มาแสดงในบ้านเราร่วมกับวง เซี่ยงไฮ้ ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา อำนวยเพลงโดย Liang Zhang

          เป็น “อีกแล้วเหรอ?” ที่เขาจะเล่นเพลงนี้ แต่เป็นอีกแล้วเหรอ ที่คอเพลงคลาสสิก “รอคอย” เพราะอยากฟังเพลงนี้ จากฝีมือการเดี่ยวไวโอลินของเขาครับ