‘เรือนจำแออัด’ เสี่ยง! ระบาด COVID-19

‘เรือนจำแออัด’ เสี่ยง! ระบาด COVID-19

iLaw เสนอมาตรการลดความแออัดในเรือนจำด่วน ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังบางประเภททันทีและพักโทษผู้ต้องขังอย่างเร่งด่วน ก่อน Covid-19 ระบาดเกินรับมือ

 

ความแออัดถือหนึ่งในปัญหาใหญ่ของระบบเรือนจำไทย ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 377,830 คน เป็นชาย 329,835 คน หญิง 47,995 คน มีเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง แต่จากการศึกษาของ Prisonstudies.Org พบว่าเรือนจำไทยมีความสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 217,000 คน นั่นเท่ากับว่าเรือนจำต้องแบกรับผู้ต้องขังเกินขีดความสามารถสูงถึง 160,830 คน

ในสถานการณ์ที่ไวรัส Covid-19 กำลังระบาดอยู่เช่นนี้ เรือนจำจึงอยู่ในความเสี่ยงอย่างยิ่ง หากมีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งติดเชื้อก็อาจแพร่กระจายไปยังผู้ต้องขังคนอื่นอย่างรวดเร็วและยากจะควบคุม การลดจำนวนผู้ต้องขังจึงเป็นมาตรการที่กระทรวงยุติธรรมควรเร่งดำเนินการให้ทันสถานการณ์

ไอลอว์ (iLaw) ในฐานะเป็นองค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และกฎหมายจึงจัดทำข้อเสนอเบื้องต้นต่อหน่วยงานต่างๆ รวมถึงรัฐบาล โดยให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังบางส่วนทันที เช่น ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างสู้คดีซึ่งมีกว่า 60,000 คน ผู้ต้องขังสูงอายุซึ่งมีกว่า 5,000 คน ผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่มีไว้เพื่อเสพกว่า 30,000 คน เป็นต้น หรืออาจใช้มาตรการพักโทษ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กรมราชทัณฑ์มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากขึ้น เชื่อว่าด้วยมาตรการเหล่านี้จะสามารถลดความแออัดของผู้ต้องขังได้หลายหมื่นคน

นอกจากนี้เพื่อให้สังคมมีความมั่นใจมากขึ้นว่า ข้อเสนอนี้จะเป็นมาตรการที่ดีทั้งต่อตัวผู้ต้องขังทั้งหมดและต่อสังคมโดยรวม จึงเสนอให้กรมราชทัณฑ์มีมาตรการคัดกรองผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวอย่างเคร่งครัด โดยจัดหาพื้นที่เพื่อการกักตัวผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัว 14 วันทุกคน อีกทั้งควรมีการอบรมทำความเข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นภายนอกและหลักวิธีในการป้องกันตัวเองของผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวด้วย

มาตรการลดความแออัดของเรือนจำเป็นสิ่งที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เช่น ประเทศอิหร่าน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาในบางมลรัฐ เป็นต้น เพราะหากเกิดการระบาดภายในเรือนจำ นั่นจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ พวกเขาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต เพราะความเป็นอยู่ภายในนั้นแออัดอย่างยิ่ง ไม่ว่าโทษที่ศาลตัดสินมาจะมากน้อยเพียงใดหากเชื้อแพร่กระจายก็อาจหมายถึงโทษประหารชีวิต

 

49727331482_34041fd819_c

 

โดยรายละเอียดของข้อเสนอมีดังนี้

1.ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังบางประเภททันที โดยเสนอให้ปล่อยผู้ต้องขัง 2 ประเภทเป็นอันดับแรก คือ ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี กับผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษแต่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ต้องขังสูงอายุ ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว และผู้ต้องขังตั้งครรภ์

จากข้อมูลสถิติกรมราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีทุกชั้นศาลมีทั้งสิ้น 62,619 คน (สถิติ 1 มีนาคม 2563) ผู้ต้องขังกลุ่มนี้มีสิทธิขอศาลประกันตัวได้ ศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ควรดำเนินการร่วมกันในการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งพิจารณาลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ เช่น พิจารณาลดเงินประกัน หรือไม่ต้องวางหลักทรัพย์ หรืออำนวยความสะดวกผู้ต้องขังเข้าถึงกองทุนยุติธรรมอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมกรณีผู้ต้องขังคดีอัตราโทษสูง หรือจำเลยที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแล้ว เช่น กำหนดให้มีการรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ ห้ามออกนอกประเทศ สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) เป็นต้น

ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากได้รับเชื้อไวรัส Covid-19 สูงกว่าคนปกติ รวมทั้งผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับการปล่อยตัวอย่างเร่งด่วน หากผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพักโทษปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนกำหนด ทางราชทัณฑ์อาจต้องเร่งหารือกับรัฐบาลใช้มาตรการพิเศษปล่อยตัวผู้ต้องขังเหล่านี้จากเรือนจำเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ทางเรือนจำอาจกำหนดมาตรการควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มนี้ที่จะได้รับการปล่อยตัว เช่น ให้สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) จำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้านหรือภายในจังหวัดภูมิลำเนา และจัดให้มีพนักงานคุมประพฤติมาคอยติดตามเป็นระยะ หลังพ้นวิกฤติโรคระบาด ทางเรือนจำอาจพิจารณาปล่อยตัวนักโทษกลุ่มนี้เป็นการถาวรหรือเรียกกลับมารับโทษต่อ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง ระยะเวลารับโทษคงเหลือ และพฤติการณ์ของผู้ต้องขังระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีต้องรับโทษต่อให้นับเวลาระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลารับโทษด้วย

 

2.พักโทษผู้ต้องขังอย่างเร่งด่วน การพักโทษเป็นมาตรการปกติที่ใช้ปล่อยตัวผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ได้รับโทษมาระยะหนึ่ง มีความประพฤติดีให้ออกจากเรือนจำก่อนจะครบกำหนดโทษ แต่ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จำเป็นจะต้องบูรณาการการพักโทษในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมกันหรือในเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อระบายผู้ต้องขังจากเรือนจำอย่างเป็นระบบ

แม้กรมราชฑัณฑ์จะมีระเบียบอยู่แล้วว่านักโทษชั้นใดบ้างมีสิทธิรับการพักโทษ และแต่ละชั้นโทษจะต้องเหลือเวลารับโทษเท่าไร แต่ระเบียบของทางราชทัณฑ์ก็กำหนดข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า ในกรณีมีเหตุพิเศษอาจพิจารณาพักโทษได้มากกว่าที่ระเบียบกำหนด โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 ในขณะนี้ก็น่าจะเข้าข่ายเหตุพิเศษดังกล่าวแล้ว

กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมจึงควรพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังที่เข้าข่ายได้รับการพักโทษทั่วประเทศพร้อมกันอย่างเร่งด่วน ส่วนผู้ต้องขังตั้งแต่ชั้นดีที่ยังเหลือเวลารับโทษเกินกว่าเกณฑ์การพักโทษ แต่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีก็ควรได้รับการพักโทษด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้เป็นการขยายระยะเวลาพักโทษเป็นกรณีพิเศษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องเป็นผู้อนุมัติ

ทั้งนี้เกณฑ์เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี กำหนดขึ้นโดยอาศัยเกณฑ์ของโทษจำคุกสูงสุดที่ศาลสามารถพิจารณารอการลงโทษจำคุกจำเลยได้ ทั้งนี้ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด มะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อ Covid-19 ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี และผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ควรได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นการเร่งด่วน

ในส่วนของคดียาเสพย์ติดซึ่งเป็นคดีที่มีผู้ต้องขังมากที่สุด คณะกรรมการควรพิจารณาพักโทษผู้เสพย์และผู้ครอบครองเพื่อเสพย์ก่อน ส่วนผู้จำหน่ายคณะกรรมการพักโทษอาจกำหนดจำนวนอย่างสูงของสารเสพย์ติดแต่ละชนิดเพื่อประกอบการพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังรายย่อย โดยคำนึงถึงอายุและสุขภาพของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็น คณะกรรมการพักโทษอาจกำหนดมาตราการอื่นๆ เช่น จำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังให้อยู่เฉพาะภายในจังหวัดภูมิลำเนาหรือห้ามออกนอกประเทศ ให้อยู่ภายใต้ความดูแลของพนักงานคุมประพฤติหรือกำหนดให้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดระยะเวลาพักโทษที่เหลือเป็นระยะเวลาเท่าที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ต้องไม่เกินวันที่ผู้ต้องขังครบกำหนดโทษรับจำคุก สามารถดูรายละเอียดมาตรการและการคำนวณตัวเลขต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5588