อายุยืน เลือกได้ แต่ต้องทำด้วยตัวเอง

อายุยืน เลือกได้ แต่ต้องทำด้วยตัวเอง

ใครๆ ก็อยากอายุยืนแล้วมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ แล้วคุณเลือกได้ไหม

"""""""""""""""""""""

ไม่ว่าเทศกาลใด พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มักจะได้รับคำอวยพรจากลูกหลาน ว่า ขอให้อายุยืนๆ เป็นที่พึ่งของลูกหลาน... 

หากมีอายุยืน แล้วต้องนอนติดเตียงเป็นปีๆ หรือเป็น 10 ปี เแบบนี้จะอยู่ดี มีสุขไหม

บนเวทีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่อง สังคมอายุยืน แข่งขันได้ อยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร ?  ชวนทบทวนคำว่า ขอให้มีอายุยืนยาว ซึ่งเป็นได้ทั้ง “คำอวยพร” หรือ“คำสาป” (ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรง)

ในสังคมไทย หากคุณต้องใช้ชีวิตถึงอายุ 100 ปี ตามข้อมูลสถิติ คุณควรมีเงินออมตอนอายุ 60 ปี อย่างน้อยที่สุดคือ 4.3 ล้านบาท โดยสามารถใช้จ่ายแบบปานกลางได้เดือนละ 7,000 บาท ถ้าต้องการอยู่แบบสุขสบาย มีเงินใช้เดือนละ 19,000 บาท คุณควรมีเงินออมตอนอายุ 60 ปี จำนวน 11.5 ล้านบาท      

และเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบสาธารณสุขบ้านเราไม่สามารถตอบโจทย์ให้คนทั้งประเทศได้ รัฐยังไม่มีระบบการดูแลผู้สูงวัยในระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว 

อีกไม่กี่ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ

ถ้าจะอายุยืน ต้องอยู่ดี มีสุข ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นักวิเคราะห์การเงิน ที่หันมาศึกษาและเขียนบทความเรื่องสุขภาพอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บอกว่า มีวิธีทำให้เซลล์ในร่างกายของคนเราอายุยืนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ

มีรายงานจากบริษัทในอเมริกาบอกว่า คนเราต้องใช้เงินรักษาโรคๆ หนึ่งเฉลี่ยประมาณ 2-3 แสนบาทต่อปีต่อคน  นั่นก็คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจตีนและตัน,โรคหัวใจ ก็เกี่ยวกับความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน โรคเหล่านี้เชื่อมโยงกันหมด  และมีวิธีการแก้ด้วยการเปลี่ยนการดำเนินชีวิต

นอกจากนี้มีข้อมูลอีกว่า ถ้าเมื่อใดที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย แล้วรัฐไม่ดูแลเลย และคนไทยไม่ดูแลตัวเอง ต้นทุนการดูแลสุขภาพจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท โดยคนส่วนใหญ่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคือ โรคที่ทำตัวเอง จำพวกหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ 

“ผมอยากถามว่าแล้วคุณจะดูแลตัวเองยังไง โรคที่เป็นเยอะสุดและตายเยอะในอเมริกาก็คือ โรคหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองไม่พอ ถ้าดูแลตรงนี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงไปได้ 29 เปอร์เซ็นต์ และยังมีโรคมะเร็งที่มีความเสี่ยงอีก 23 เปอร์เซ็นต์ ถ้าลดความเสี่ยงได้ รวมๆ ชีวิตจะลดความเสี่ยงได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว และบอกว่า คนส่วนใหญ่กลัวที่จะป่วยเป็นโรคเรื่องสมองเสื่อมมากที่สุด โดยมีข้อมูลว่า คนอายุ 65 ปี มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์แค่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าอายุ 85 ปีจะมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นโรคที่หายารักษาไม่ได้ ต้องดูแลตัวเอง

"มียีนบางตัวที่ทำให้คนในโลกมีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ 20 เปอร์เซ็นต์ และ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนเป็นอัลไซเมอร์เป็นโรคหัวใจด้วย ฉะนั้นอย่าเป็นโรคหัวใจ เพราะไม่ดีต่อระบบสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย โดยเฉพาะสมองที่มีน้ำหนัก 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว สมองต้องใช้พลังงานในร่างกายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และใช้เลือดไปเลี้ยงสมองเยอะที่สุด ถ้าระบบหัวใจไม่ดี สมองไม่ดีแน่นอน”

ถ้าจะทำตัวให้อายุยืน สุขภาพดี ดร.ศุภวุฒิ แนะว่า แต่ละคืนควรนอนหลับลึกให้ได้ 1 ชั่วโมง 50 นาที เนื่องจากมีข้อมูลเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว พบว่า ในสมองของเรามีระบบชำระล้างสมอง ตอนหลับลึกจะมีน้ำจากไขกระดูสันหลังไหลเข้าไปล้างสมองให้สะอาด

“ตลอดทั้งวันที่สมองใช้งาน จะมีโปรตีนเรียกว่า beta amyloid plaque ถ้าไม่มีการล้างออกทุกคืน โปรตีนตัวนี้จะรวมตัวกันเป็นเมือกๆ เกาะบริเวณรอยต่อเซลล์สมอง ซึ่งมีส่วนที่เชื่อมต่อกับสัญญาณไฟฟ้าในร่างกาย ถ้ามีการอุดตันมากๆ วันหนึ่งก็จะเป็นอัลไซเมอร์ ตามทฤษฎีจะเริ่มอุดตันตั้งแต่อายุ 40 และสมองเริ่มเปลี่ยนแปลงคือ เสื่อมตั้งแต่อายุ65 ดังนั้นคนเราควรเริ่มหลับลึกตั้งแต่อายุ 40 “

อีกอย่างที่น่าสนใจ ดร.ศุภวุฒิ บอกว่า คนเราควรออกกำลังกาย เพราะจะช่วยสร้างเซลล์สมองใหม่ ทำให้ระบบเส้นเลือดแข็งแรง สมองก็แข็งแรงด้วย

“ถ้ามีปัญหาคอเลสเตอรอล ก็แน่นอนว่าเส้นเลือดก็มีปัญหา” ดร.ศุภวุฒิ กล่าวและยกตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสมองของนักบวชหญิงในต่างประเทศ จำนวน 538 คน ตั้งแต่ปีคศ.1984-2003 โดยนักบวชเหล่านั้นอนุญาตให้ทีมวิจัยถามได้ทุกคำถาม หากเสียชีวิตแล้วก็อนุญาตให้ผ่าสมองได้ด้วย

“ปรากฎว่า มีแม่ชีบางคนอายุกว่าร้อยปีพูดคุยรู้เรื่องหมด เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ก็มีการผ่าสมองพบว่า มียีนที่ควรจะเป็นอัลไซเมอร์ แต่ไม่เป็น เนื่องจากพบว่า ตั้งแต่อายุน้อยๆ เขามีการสมองใช้ตลอด เขียนและพูดในเรื่องที่มีความซับซ้อน คิดอะไรได้ลึกซึ้ง ดังนั้นถึงจะมียีนอัลไซเมอร์ แต่สมองก็ยังสามารถสร้างเซลล์ใหม่ๆได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยปีคศ.1977 บอกว่า ถ้าเมื่อใดที่คนเราเริ่มเดินช้าลง จะมีความเสี่ยงที่จะสมองเสื่อม ปกติคนเราจะเดิน 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าช้ากว่านั้นใน 5-10 ปี อาจเป็นอัลไซเมอร์

แล้วจะทำยังไงให้อายุยืน

งานวิจัยของปี 2018 มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด มีการติดตามพฤติกรรมบุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้หญิงจำนวนเจ็ดหมื่นคน และผู้ชายสี่หมื่นคน ปรากฎว่า คนที่จะทำตามกฎห้าข้อ

คือกินอาหารถูกต้อง ออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง รักษาน้ำหนักตัวเอง ไม่สูบบุหรี่ ส่วนเรื่องดื่มสุรา ผู้ชายดื่มได้วันละสองแก้ว ผู้หญิงวันละแก้วเดียว จะทำให้อายุยืนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"ถ้าตอนนั้นคนเหล่านั้นอายุ 50 ปีและยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม ก็จะอายุขัย 75 ปี ส่วนผู้หญิงประมาณ 79 ปี แต่ถ้าทำตามกฎห้าข้อนี้ พบว่า ทำให้ผู้หญิงก็จะอายุยืนไปอีก 14 ปี ส่วนผู้ชายอายุยืนไปอีก 12 ปี" ดร.ศุภวุฒิ กล่าวคนเหล่านั้นอายุ 50 ปีและยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม ก็จะอายุขัย 75 ปี ส่วนผู้หญิงประมาณ 79 ปี แต่ถ้าทำตามกฎห้าข้อนี้ พบว่า ทำให้ผู้หญิงก็จะอายุยืนไปอีก 14 ปี ส่วนผู้ชายอายุยืนไปอีก 12 ปี" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

"""""""""""""""""""

ถ้าคนไทยอายุยืนมากขึ้น 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“การพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ที่คนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี ซึ่งหมายความว่า ต่อไปจะมีคนไทยอายุเกิน 100 ปีเป็นเรื่องปกติ ล่าสุดในปี 2560 มีคนไทยที่อายุยืนกว่า 100 ปีแล้วถึง 9041 คน”        

............................... 

รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาขอนแก่น ที่ปรึกษานโยบายด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ 

“ประมาณการว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยติดเตียงมากถึง 2 แสนคน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลระยะยาวสูงถึง 1.2 แสนบาทต่อคนต่อปี และมีผู้ป่วยติดบ้านอีกกว่า 3 แสนคน ทำให้มีค่าใช้จ่าย 2.3 แสนต่อคนต่อปี"

..............................

เขียนโดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2562