ศุลกากรโชว์จัดเก็บ7เดือนเกินเป้า10%

ศุลกากรโชว์จัดเก็บ7เดือนเกินเป้า10%

กรมศุลกากรเผยยอดจัดเก็บรายได้รอบ 7 เดือนปีงบ 62 เกินเป้าหมาย 10% คาดทั้งปีจัดเก็บเกินเป้า โดยสินค้าประเภทยานยนต์และส่วนประกอบจัดเก็บเพิ่มมากสุด 21% ขณะที่ สถิติการปราบปรามทำได้ 1.89 หมื่นคดี มูลค่ากว่าพันล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562ว่า สามารถจัดเก็บได้ 3.85 แสน ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น จำนวน 3.15 แสนล้านบาท มีสัดส่วน 82% ของรายได้ที่จัดเก็บรวม
ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 6.0% และรายได้ศุลกากรจัดเก็บได้จำนวน 6.9 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.35 พันล้านบาท หรือ 10%สูงกว่าและสูงกว่าปีก่อน 291 ล้านบาท หรือ 0.4%

เขากล่าวว่า ผลจัดเก็บที่ดีขึ้นสาเหตุหลักมาจาก สินค้าประเภทยานยนต์และส่วนประกอบ จัดเก็บเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.74 พันล้านบาท หรือ 21.2% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ จัดเก็บเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 585 ล้านบาท
หรือ 9.9% และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จัดเก็บเพิ่มขึ้น 485 ล้านบาท หรือ 11.1%


ทั้งนี้ กรมศุลกากรยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรจะสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 1.08 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ และคาดการณ์ของกระทรวงการคลังที่ 1 แสนล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้อาจใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าอาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม

สำหรับสถิติผลการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องของกรมฯ พบการกระทำความผิด 1.89 หมื่นคดี มูลค่า 1.44 พันล้านบาท แบ่งตามประเภทฐานความผิด อาทิ ความผิดคดีลักลอบจำนวน 3.7 พันคดี คิดเป็นอากรศุลกากร 3.97 หมื่นบาท ภาษีสรรพสามิต 42.9 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 12.6 ล้านบาท

ความผิดหลีกเลี่ยงราคาต่ำ จำนวน 7.76 พันคดี คิดเป็นอากรศุลกากร 15.8 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 4.6 แสนบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 ล้านบาท
ความผิดหลีกเลี่ยงตรวจสอบเอกสารจำนวน 28 คดี คิดเป็นอากรศุลกากร 56 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 3.1 ล้าน บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 ล้านบาท เป็นต้น