คาดอิเล็กฯไทยครึ่งปีหลังโต 5% จี้แรงงานปรับทักษะรับ "เอไอ"

คาดอิเล็กฯไทยครึ่งปีหลังโต 5% จี้แรงงานปรับทักษะรับ "เอไอ"

สถานการณ์ปัจจุบัน โรงงานผลิตเปลี่ยนสู่ระบบอัตโนมัติ 70% แล้ว

นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ (ECEA) ประเมินอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ต่อเนื่องในอัตรา 5-10% แม้ครึ่งแรกชะงักไปบ้าง จากภาพรวมตลาดโลกโต ด้วยอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนมีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง มองแนวโน้มน่าสนใจ แรงงานคนที่เคยขาดแคลน จะมีเทคโนโลยีเข้าทดแทน หมดยุคการจ้างงานจำนวนมาก ขณะที่กิจการที่จำเป็นต้องใช้คน ต้องหาความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคคลากรที่ได้คุณภาพ

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ECEA) บรรยายพิเศษ “ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย-โอกาสและความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมภาคแรงงาน” ภายในงานสัมมนาเนปคอน ฟอรั่ม 2019 หัวข้อ “เชื่อมโยงเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์สู่ระบบการผลิตแห่งอนาคต” ซึ่งจัดโดยบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ร่วมกับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ECEA) ว่า แม้ครึ่งแรกของปี 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะชะลอไปบ้าง จากสงครามการค้า และโอเวอร์ ซัพพลาย แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังจะกลับมาเติบโตแน่นอน ประมาณ 5-10% ถือเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมเนื่องด้วยสิ่งต่างๆ ล้วนต้องมีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อที่เริ่มมีเข้ามาแล้ว เพราะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่บนสายพานแห่งการแข่งขัน การปรับเปลี่ยน ลด เพิ่ม มีตลอดเวลา ต้องบริหารให้อยู่ได้ ท่ามกลางราคาสินค้าถูกลงทุกวัน ไม่เห็นตัวเลขการเติบโตการจ้างงาน และยอดส่งออก ยกเว้นการย้ายฐานการผลิตซึ่งมีตลอดเวลา เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ทั้งซีเกท และดับบลิวดี ต่างย้ายฐานมาอยู่ไทย โดยเฉพาะดับบลิวดี ปิดโรงงานทุกประเทศมาอยู่ไทยทั้งหมด แม้จะเสี่ยง แต่ไทยจะมีสินค้าพอเพียงต่อความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ต้องมีสินค้าให้ทันที มิฉะนั้นจะเปลี่ยนไปหาคู่แข่ง

ปรับโครงสร้างองค์กรทุก2ปี

จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม มีผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกกว่า 1 พันราย ของพีดับบลิวซี 77% เป็นห่วงเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน กังวลต่อการสูญเสียในกระบวนการผลิต และ 52% เป็นห่วงต่อค่าจ้างแรงงานซึ่งเพิ่มสูงมาก แต่ไทยปรับใหญ่มาเพียงครั้งเดียวเป็น 300 บาทต่อวัน นอกนั้นเป็นการเพิ่มปกติ 1-2% หรือมากหน่อยที่ 2-5% โดยรวม 4-5 ปีค่าจ้างแรงงานจะเพิ่ม 30%

ดังนั้น ทุก 2 ปีจะมีโครงการชักชวนพนักงานลาออก และปรับองค์กร ซึ่งอนาคตแม้คนจะอายุยืนขึ้น แต่อายุคนทำงานจะลดเหลือที่ 40 ปีเพราะมี skill set ที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นบริษัทต้องเตรียมคน ฝึกฝนอย่างดี สร้างคนคุณภาพระดับเวิลด์คลาสสู่อุตสาหกรรม รับมือการเปลี่ยนงานจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก คนเหล่านี้จะไม่ตกงานเพราะในอุตสาหกรรมต่างๆ มีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อคนที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีเหล่านี้จะไหลสู่อุตสาหกรรมอื่น

ส่วนปัญหาแรงงานระดับฝีมือที่ขาดแคลนนั้น ซีอีโอยุคใหม่หากต้องการคนเก่ง และดี จะไม่รอให้มาสมัครที่บริษัท แต่รุกเข้าร่วมมือกับสถานศึกษา จัดหลักสูตรอบรมและให้เข้าฝึกงานในโครงการสหกิจศึกษา ซึ่งจะได้เห็นกันและกัน เมื่อรับเข้าทำงานจะช่วยลดอัตราเทิร์น โอเวอร์ 4-5 เท่า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจ้างงานในอุตสาหกรรมจะลดลง การจ้างงานจะมีเพื่อทดแทนคนเก่าแต่เป็นช่างเทคนิคสมัยใหม่ ซีอีโอจึงไม่ห่วงเรื่องการจ้างคนเพิ่ม แต่ห่วงการเพิ่มทักษะคนเดิมที่มีอยู่ ควรส่งเสริมพนักงานเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรที่เป็นความต้องการของบริษัท

โรงงานเปลี่ยนสู่ระบบอัตโนมัติ

ขณะที่ สถานการณ์ปัจจุบัน โรงงานผลิตเปลี่ยนสู่ระบบอัตโนมัติ 70% แล้ว โดยขึ้นอยู่กับว่าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ใด จาก 30 ปีก่อนโรงงานเป็นระบบแมนวล จำนวนคนงาน front line จึงลดลงมากว่าครึ่ง นำมาสู่ความกังวลว่า เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์จะทำให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแพลตฟอร์มหรือไม่

ทั้งนี้ นายสัมพันธ์ มองว่า ภายใน 3 ปี ประเทศไทยจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น เอไอยังเป็นเรื่องอยู่ในกระดาษมากกว่าเปลี่ยนเป็นรูปธรรม การจะเปลี่ยนต้องใช้เวลา และเริ่มจากการทำงานที่เป็น non value added ก่อน

นายวิวัฒน์ พันธ์สระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในประเด็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์สู่ระบบการผลิตแห่งอนาคตว่า บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าจำหน่ายในประเทศ ดังนั้น การแข่งขันจะสูง ส่วนปัญหาค่าแรง ประเทศในอาเซียนมีค่าจ้างแรงงานสูง ขณะที่จีนมีปัญหาค่าแรง แต่กำลังเปลี่ยนไปใช้โรบอตมากขึ้น และถ้ามองโรบอตคือตัวแทนของระบบอัตโนมัติ ก่อนจะก้าวสู่อัตโนมัติต้อง lean ขจัดความสูญเสียในโรงงานออกให้หมด จุดที่ไม่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแต่จำเป็นต้องทำจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น และทำโดยคิดถึงจุดคุ้มทุนด้วย

ใช้กับงานเสี่ยง

นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิอีเล็คทริค แฟคทอรี่ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มิตซูบิชิ สร้างระบบอัตโนมัติ E-Factory ใช้ในโรงงานที่ญี่ปุ่น และนำระบบออกทำตลาดด้วย ซึ่งอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเข้าใกล้อัตโนมัติ 100% ซึ่งแนวโน้มการสร้างโรงงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบนั้น เหมาะแก่งานที่มนุษย์ทำไม่ได้ เช่น การผลิตของที่ขนาดเล็กมาก หนักมาก หรือเสี่ยงมาก

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเป็นการรับจ้างผลิต จึงเสี่ยงต่อการยุบฐาน หรือย้ายฐานการผลิต หากต้องการให้อุตสาหกรรมยังอยู่ในประเทศต่อไป จะต้องปรับตัว นำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ และรัฐบาลต้องให้เงื่อนไขที่เป็นแรงจูงใจ

เตรียมคนสู่อุตสาหกรรม

ส่วนปัญหาเรื่องคนนั้น นายวิเชียร กล่าวว่า มิตซูบิชิ มีหลักสูตรฝึกคน Inhouse ซึ่งผลิตได้จำนวน 2,500 คนต่อปี โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดหลักสูตรให้ความรู้แก่บุคลากรอิเล็กทรอนิกส์

พร้อมกันนี้ ได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และมหาวิทยาลัยบูรพา สร้าง Automation Park ที่พัทยา กำหนดเสร็จสิ้นปี 2562 จะสร้างบุคลากรสายโรโบติก และออโตเมชั่นสู่อุตสาหกรรมได้ปีละ 7 พันคน

ทั้งนี้ ผู้สนใจความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ งานเนปคอน ไทยแลนด์ 2019 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย. 2562 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา