โชว์กิ้งกือไทย 91 ชนิดใหม่ของโลก วิจัยทางการแพทย์รักษามาลาเรีย

โชว์กิ้งกือไทย 91 ชนิดใหม่ของโลก วิจัยทางการแพทย์รักษามาลาเรีย

คณะวิทย์ จุฬาฯ เปิดตัวการค้นพบกิ้งกือไทย 91 ชนิด 8 สกุลใหม่ของโลก แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ กิ้งกือกระบอก กิ้งกือกระสุน กิ้งกือตะเข็บ และกิ้งกือมังกร เตรียมจับมือคณะแพทย์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยวิเคราะห์สารในตัวกิ้งกือ นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.62 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดแถลงข่าวการค้นพบ กิ้งกือไทย 91 ชนิดใหม่ของโลกจากเกือบ228 ชนิด ในประเทศไทย และวิจัยจากงานพื้นฐานอนุกรมวิธาน สู่แนวหน้าแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของไทยโดย นายสมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าหลังจากที่ได้มีการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู (Shocking-pink dragon millipede Desmoxytes purpurosea Enghoff,Sutcharit&Panha,2008)ได้รับการประกาศให้เป็น 1ใน10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลกประจำปี พ.ศ.2551 จากสถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิต (International Institute for Species Exploration) หรือ IISE ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้ว คณะวิจัยจากจุฬาฯ ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของสปีชีส์กิ้งกือในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้คณะวิจัยได้ค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก 91 ชนิด 8 สกุลใหม่ แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กิ้งกือกระบอก จำนวน35 ชนิด 2.กิ้งกือกระสุน จำนวน 4 ชนิด 3.กิ้งกือตะเข็บ จำนวน 25 ชนิด และ 4.กิ้งกือมังกร จำนวน 25 ชนิด จากการรายงานสปีชีส์ที่ค้นพบแล้วมากกว่า 228 ชนิด ในประเทศไทย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่าการค้นคว้าและวิจัยตั้งแต่2550 ถึงปัจจุบัน ได้ค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน ได้แก่ กิ้งกือมังกรแดงใต้และกิ้งกือมังกรปีกหนามกระบี่ กิ้งกือเหล็ก กิ้งกือตะเข็บบ้านเหลืองดำและกิ้งกือยักษ์ชัยภูมิ รวมถึงได้ค้นพบกิ้งกือใหม่ๆ สวยไม่แพ้กิ้งกือมังกรสีชมพู เช่น กิ้งกือมังกรปีกชมพูพิษณุโลก กิ้งกือหางแหลมทหารเรือและจุฬา กิ้งกือกระสุนพระรามสามเหลี่ยมคู่ และกิ่งกือตะเข็บม้าลาย เป็นต้น ซึ่งกิ้งกือเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศป่าเป็นอย่างมาก เพราะได้ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช เศษใบไม้ร่วงหล่น อินทรียวัตถุต่างๆ ให้กลายเป็นธาตุอาหารหมุนเวียนกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง จนได้รับการขนานนามว่า โรงงานผลิตปุ๋ยเครื่องที่ กระจายตัวการทำงานทั่วประเทศ

"ขณะนี้กิ้งกือไม่ได้มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ หรือทางเกษตร เพราะถือเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยเท่านั้น แต่ยังค้นพบว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย โดยทางคณะวิจัยค้นพบจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่า ลิงที่อยู่ตามป่า ซึ่งปัจจุบันป่วยเป็นโรคมาลาเรียเยอะมาก พวกมันได้ใช้กิ้งกือมาทาตามตัว และพบว่ายุงไม่มากัดกินเลือดลิง ดังนั้น นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทำการศึกษาวิจัยวิเคราะห์สารที่อยู่ในตัวกิ้งกือว่ามีผลช่วยป้องกันยุง และหยุดการเกิดโรคมาลาเรียได้จริงหรือไม่ เมื่อมีผลวิจัยชัดเจน อนาคตอาจจะนำกิ้งกือมาสังเคราะห์สาร ทำเป็นสารออร์แกนิค ทำการจดสิทธิบัตร ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สเปย์ ป้องกันยุง รวมถึงนักวิจัยในประเทศแอฟริกา พบว่า ชาวแอฟริกา ได้นำกิ้งกือมาทาบริเวณหลังจากทำคลอด เนื่องด้วยยากจนไม่ได้ไปทำคลอดตามโรงพยาบาล จึงได้นำกิ้งกือมาทำความสะอาดแผล หรือบริเวณทำคลอดหลังจากทำคลอดแล้วพบว่าช่วยชะลอการบาดเจ็บหรือทำให้แผลต่างๆ ดีขึ้น ดังนั้น ทางคณะวิจัยจุฬาฯ ก็จะทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยจะขอทุนธุรกิจชีวภาพ เพื่อเพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ และธุรกิจชีวภาพต่อต่อไป" นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน การศึกษากิ้งกือในประเทศไทยประมาณการว่ามีทั้งหมดมากกว่า 500 ชนิด ซึ่งการพยายามในการศึกษาวิจัยความหลากหลายของกิ้งกือไทยได้ดำเนินการมาเกือบครึ่งทางของผลจากความพยายามของคณะวิจัยจากหน่วยปฎิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยที่ผ่านมาได้มีการลงภาคสนาม เก็บรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั่วประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย บูรไน เมียนมาร์ และญี่ปุ่น ตัวอย่างทั้งหมดได้เก็บรวบรวมไว้ตามมาตรฐานของตัวอย่างอ้างอิง ณ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสิ่งมีชีวิตที่มีการค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ที่มีรายงานครั้งแรกของโลก ได้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ จากความรู้พื้นฐานสู่การประยุกต์ สู่ธุรกิจ Startup ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นทั้งโลก และกลุ่มกิ้งกือยังมีมิติที่รอคอยการศึกษาวิจัยอยู่อีกหลายแง่มุม เช่น การสร้างสารป้องกันตัวที่มีโครงสร้างทางเคมีเฉพาะไว้ทำหน้าที่ได้หลากหลาย ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการนำมาใช้ประยุกต์ทางการแพทย์ การเกษตร และที่สำคัญเป็นการศึกษาวิจัยที่ถือเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรทางชีวภาพ และการยกระดับธุรกิจชีวภาพของไทย ขณะนี้ได้มีการสนับนสนุน อนุกรมวิธานไส้เดือน-กิ้งกือในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยได้รับการตีพิมพ์ค้นพบ เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของการศึกษากิ้งกือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการใช้ประโยชน์ต่อยอดองค์ความรู้อย่างยั่งยืน