ครั้งแรกของไทย! เจ้าภาพเวทีความหลากหลายทางชีวภาพ

ครั้งแรกของไทย! เจ้าภาพเวทีความหลากหลายทางชีวภาพ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดย สวทช. จับมือ สพภ. ผนึกกำลังพันธมิตรทั่วประเทศจัดงานครั้งแรกของไทย เร่งอนุรักษ์ ฟื้นฟู และวิจัย เพื่อประโยชน์สูงสุดของทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของประเทศ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ เซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBD 2019) ความว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีและถือเป็นเกียรติที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งมีทั้งนักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักอนุกรมวิธานวิทยา นักเทคโนโลยีชีวภาพ และนักเศรษฐกิจชีวภาพ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 2019

ขอต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาชาติทุกท่านสู่ประเทศไทย และข้าพเจ้าหวังว่าทุกท่านจะได้รับความสะดวกสบายขณะอยู่ที่นี่
หัวข้อหลักของการประชุมคราวนี้ได้แก่ "ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพที่ยั่งยืน" ถือได้ว่าเป็นหัวข้อที่เหมาะเจาะกับเวลายิ่ง เราทุกคนต่างทราบกันดีว่าทรัพยากรทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ถือได้ว่าเป็นความมั่งคั่งและจุดแข็งของประเทศต่างๆ แต่การนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์โดยขาดความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาติและแก่โลกโดยรวมในระยะยาวได้


ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีที่ได้ทราบว่า การประชุมครั้งนี้ตั้งเป้าหมายไปที่การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดเพิ่มขึ้นมากที่สุดเพื่อเป็นรากฐานกับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแง่มุมในทุกด้านของชีวิต ได้แก่ทางสังคม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุดังกล่าว การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจชีวภาพบนฐานของความรู้ จึงจะมีส่วนช่วยสนับสนุนภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และนำไปสู่การใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างยั่งยืนได้ ปัจจัยสำคัญเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การศึกษา เราจำเป็นต้องมีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการช่วยสร้างความตระหนักกับสาธารณชนจนนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เราจะต้องพัฒนาหลักสูตรและสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความดึงดูดใจมากยิ่งขึ้นสำหรับเด็กๆ ของเรา

เราควรจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้ลงมือศึกษาและมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อที่ว่าจะได้มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะกลายมาเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักอนุกรมวิธานวิทยา และนักชีววิทยาอย่างมากเพียงพอ ไม่แต่เพียงพอสำหรับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเพียงพอสำหรับชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกเชน ข้าพเจ้าจึงขอเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายชีวภาพ 2019 ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าขออำนวยพรให้การประชุมวิชาการนี้และผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่านประสบความสำเร็จสมดังความตั้งใจ"