ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้ผูกสาแหรกให้วัยแสบ

ณัฐิยา ศิรกรวิไล  ผู้ผูกสาแหรกให้วัยแสบ

ละครที่สร้างจากเรื่องจริงและทำได้ดี ต้องยกให้เรื่องนี้ และขอเชิญชวนพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นหาโอกาสดูซีรีย์นี้ย้อนหลังได้

""""""""""""""""""""""""

ถ้าใครมีโอกาสได้ชมละครดราม่าสะท้อนสังคม วัยแสบ สาแหรกขาด โครงการ 2 ผลิตโดยบริษัทมาสเตอร์ วัน วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด ทางสถานีช่อง 3 วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.15 น. ก็จะเข้าใจวัยรุ่นมากขี้น  โดยละครเรื่องนี้ได้จบลงเมื่อเร็วๆ นี้

และละครเรื่องนี้ไม่ได้เสนอแค่ปัญหา ยังเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยมุมมองที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะแกนหลักที่เน้นว่า ให้ฟังเสียงจากข้างในตัวเอง แล้วเราจะเข้าใจกันมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นบทประพันธ์ของ ณัฐิยา ศิรกรวิไล และทีมบทโทรทัศน์โดย ณัฐิยา/ปิยรส/ชญานิน/กุศลิน/ภูธิดา 

เธอเขียนจากเค้าโครงเรื่องจริง ใช้เวลาเก็บข้อมูลและเขียน 2 ปีกว่าๆ โดยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยและแคนาดา

เธอบอกว่า “เรื่องเด็กติดเกม แล้วต่อยพ่อ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง” 

“การสอนเพศศึกษาให้เด็กออทิสติก ในละครทีวีไม่เคยมีมาก่อน”

“เด็กออทิสติกคนหนึ่งชอบเดินดมผมเพื่อนทั้งวัน ครูก็ต้องสอนว่า มาเดินดมผมเพื่อน แบบนี้ไม่ได้นะ(หัวเราะ)”

ฯลฯ

ในเรื่องนี้ ครูทรายทิพย์ นักจิตวิทยา ต้องคอยแก้ปัญหาเด็กแต่ละคนในโรงเรียน นั่นก็คือ พีท ประถมปีที่ 1 เด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง มีลักษณะ Temper Tantrum (เด็กกรี๊ด), ไออุ่น มัธยมปีที่ 3 มีปัญหาความหลากหลายในเพศของตัวเอง (Gender Creative) ,ใบพัด เด็กพิเศษออทิสติก ,บุ๊ค  เรียนมัธยมปีที่ 5 เล่นเกมอย่างบ้าคลั่ง มีอาการ Gaming Addiction และวีหนึ่ง ต้องการเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา และแพ้ไม่ได้ มีลักษณะของ Perfectionism ทำให้กดดันตัวเองตลอดเวลา

ปัญหาเหล่านี้ หากคนในครอบครัว  ครูในโรงเรียน และคนในสังคม ไม่เข้าใจ ก็จะเกิดปัญหาตามมา

และนี่เป็นอีกความรับผิดชอบของ ณัฐิยา คนเขียนบท...

 

ใช้เวลาเขียนบทนานแค่ไหน

วัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 ใช้เวลาค้นข้อมูลสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้อง 1 ปี และใช้เวลาเขียนปีกว่าๆ ถือว่านานมาก เพราะค่อนข้างยาก ปกติเขียนบทแค่ 20-24 ตอน แต่เรื่องนี้มี 35 ตอน นำเสนอบุคลิกตัวละคร 5 แบบคือ ความหลากหลายทางเพศ ,เด็กติดเกม,ออทิสติก ,เด็กกรี๊ด เอาแต่ใจตัวเอง และเด็กที่คิดว่าชีวิตต้องสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) 

อย่างกรณีเด็กติดเกมได้ข้อมูลจากคุณหมอชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช ในส่วนออทิสติกได้ข้อมูลจากจิตแพทย์หลายท่าน รวมถึงโรงเรียนสาธิตเกษตร ในส่วนที่ดูแลเด็กออทิสติกมานานกว่า20 ปี  และได้ข้อมูลจากเด็กที่ชอบเล่นเกม น้องนักเล่นเกม นักออกแบบเกม ส่วนตัวละครที่เป็นPerfectionism มีน้องๆ ที่อยู่ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ข้อมูล

 

เด็กติดเกม จนต่อยพ่อเป็นเรื่องจริงไหม

เป็นเรื่องจริง เราเคยสัมภาษณ์เด็กที่ติดเกมจริงๆ เขาบอกว่าถ้าอารมณ์กำลังขึ้น เล่นเกมอยู่ ก็ต่อยพ่อได้นะ  และในช่วงปิดเทอมเด็กจะติดเกมหนักมาก

 

กรณีเด็กออทิสติกนำเสนอยังไง

เรื่องนี้มีส่วนที่เพิ่มเติมคือ ให้เด็กออทิสติกเข้าใจเรื่องเพศศึกษา การมีเพศสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความแตกต่างระหว่างเพื่อนและแฟนมากขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้จะแยกไม่ออก ซึ่งเราหาข้อมูลหลายทางมาก ในประเทศไทยไม่มีข้อมูลอะไรที่ชัดเจน เราได้ข้อมูลชุดนี้จากคนที่สอนเด็กออทิสติกมา 20 ปีในแคนาดา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีมากสามารถสอนเด็กออทิสติกให้เข้าใจในเรื่องนี้ และเอาไปใช้ได้จริง มีพ่อแม่หลายคนดูแล้วได้ไอเดียไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานึกไม่ถึง เพราะออทิสติกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศค่อนข้างสูง พวกเขาไม่เข้าใจเรื่องทางเพศ เราก็เลยอยากสอดแทรกเรื่องนี้

 

เด็กออทิสติกเคยมีปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศ ?

เมื่อสองปีที่แล้ว เคยเห็นข่าว เด็กผู้หญิงออทิสติกถูกข่มขืน เพราะไม่รู้วิธีป้องกันตัว เขาจะไม่เข้าใจการเข้ามาของผู้ชาย และไม่รู้ว่าถูกลวนลาม ในต่างประเทศจะมีวิธีการ เพื่อให้เด็กออทิสติกรู้ว่าไม่ควรให้คนแปลกหน้าล่วงละเมิดพื้นที่ส่วนตัวของร่างกายตั้งแต่หน้าอกจนถึงต้นขา ถ้าจะมีคนจับร่างกายในส่วนที่ไม่ควรจับ เขาควรถอยห่าง หรือ ตะโกนขอความช่วยเหลือ

 

เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยมีการพูดถึงในสังคมไทย?

การสอนเพศศึกษาให้เด็กออทิสติกในละครทีวี ไม่เคยมีคนพูดถึง เราก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับคนเป็นออทิสติกการอยู่ในที่มิดชิดสองต่อสองกับคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง

 

เพราะเด็กกลุ่มนี้จะแยกความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับแฟนไม่ออก ? 

อย่างในละคร ใบพัด เด็กที่ออทิสติกบอกว่า เขาชอบอันยา เพราะตัวหอม ผมหอม เค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องจริง มีเด็กออทิสติกในโรงเรียนแห่งหนึ่งชอบเดินดมผมเพื่อนทั้งวัน ครูก็ต้องสอนว่า มาเดินดมผมเพื่อนแบบนี้ไม่ได้นะ(หัวเราะ) และสอนความแตกต่างระหว่างเพื่อนกับแฟน

 

กรณีตัวละครเด็กที่สุด พีทที่เอาแต่ใจตัวเองและกรี๊ดตลอด คุณเอาแนวคิดมาจากไหน

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีคนถ่ายคลิปเด็กกรี๊ดในร้านอาหารเยอะมาก เรามองสองมุมคือ เด็กน่าสงสาร กรี๊ดและไม่ได้มีความสุข ไม่ได้กรี๊ดเพราะเรียกร้องความสนใจ เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าคนที่เดินผ่านไปมาจะแอบถ่ายคลิป หรือคนในครอบครัวถ่าย เมื่อโพสต์ไปแล้ว มีคอมเมนต์ถ้อยคำรุนแรง คนทั่วไปที่โพสต์ ไม่ได้คิดว่ามีผลต่อครอบครัว  ส่วนอีกมิติ คือ การเลี้ยงดู ถ้าครอบครัวยอมรับ มองเห็นปัญหา ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหา

 

ในละครครูทำให้เด็กสงบสติอารมณ์ด้วยวิธีนับตัวเลข คุณเอาแนวทางนี้มาจากไหน ?

ได้แนวทางมาจากนักจิตวิทยาคนไทย ที่ปรึกษาเรื่องเด็กในแคนาดา เราเชิญมาเป็นที่ปรึกษาบท ตั้งแต่วัยแสบ สาแหรกขาด ภาคแรก จนถึงภาคนี้ เด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็จะกรี๊ด เขาใช้วิธีเอาเด็กออกไปที่สนาม แล้วให้นับเลข จนกว่าอารมณ์จะลดลง ค่อยกลับเข้าห้องเรียน

 

เด็กที่เรียนดีเรียนเก่ง แต่มีความกดดันจนเครียด ปัญหาเหล่านี้มาจากครอบครัวหรือ 

เด็กทั้งโลกเจอปัญหานี้ และต้องเจอภาวะซึมเศร้า ถูกกดดันจากครอบครัวและสังคม บางคนฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นประเด็นใกล้ตัว เพราะสังคมมีการแข่งขันและคนในครอบครัวมีความคาดหวัง ก็เพราะครอบครัวคิดว่า ความสำเร็จของลูกคือสิ่งที่พ่อแม่ภูมิใจ การกดดันและคาดหวังโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กเกิดความเครียด

 

เด็กที่ไม่พอใจในเพศสภาพตัวเอง คุณผูกเรื่องยังไง

นำเสนอแบบระมัดระวัง เราไม่สรุป และตัดสินอะไรเลย เราพูดถึงภาวะหนึ่งของวัยรุ่นในช่วงค้นหาตัวเอง ในเบื้องต้นไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่เขาค้นหาอันดับแรกคือ การยอมรับตัวเอง และถ้าครอบครัวยอมรับได้ เด็กก็จะมีความกดดันน้อยลง เพราะตัวเขาก็สับสนอยู่แล้ว ถ้าสังคมและครอบครัวไม่ยอมรับก็จะเพิ่มความกดดัน จึงอยากให้มองถึงความเป็นมนุษย์ก่อน

 

แต่ละปัญหา คุณหาทางออกให้ตัวละครยังไง

ต้องยอมรับว่า จัดหนักทุกประเด็น เรื่องที่เล่นเยอะที่สุดคือ การศึกษา เป็นละครที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาแบบตรงไปตรงมา ทั้งปัญหาการบริหารจัดการ ปัญหาคนในสังคมที่คาดหวังในเรื่องการศึกษา และสังคมที่ไม่เข้าใจความเป็นครู ครูแต่ละเจเนอเรชั่นก็มีมุมมองไม่เหมือนกัน

     อันดับแรกเด็กต้องเข้าใจตัวเองก่อน การแก้ปัญหาจะเริ่มไม่ได้ ถ้าเด็กไม่เปิดใจ ครูทรายต้องทำให้เด็กไว้วางใจ ยอมพูด เปิดใจ แล้วกระบวนการจะเริ่มขึ้น เวลาเด็กมาเปิดใจก็ต้องใส่ใจเขา ฟังในสิ่งที่เขาไม่พูดออกมา เรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงได้หมด

 

ในละครเรื่องนี้คนเขียนบทและผู้กำกับ เคยมีความเห็นต่างกันไหม

ไม่มี การทำงานกับผู้กำกับและคุณเอิร์น ผู้จัดละคร เรามีความเห็นไปในทางทิศทางเดียวกัน บทครูทรายในภาคนี้จะมีความเป็นมนุษย์สูงกว่าภาคแรก ในเรื่องเธอเป็นทั้งภรรยาผู้อำนวยการและนักจิตวิทยา ตัวละครตัวนี้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมอง บางครั้งดูอ่อนแอและสับสนอยู่บ้าง เราจะมีธีมชัดๆ ว่า ให้ฟังเสียงจากข้างใน แล้วจะเข้าใจกันมากขึ้น หลายๆ ปัญหาในสังคม เราจะต้องฟังในสิ่งที่คนไม่พูดออกมาด้วย เขาอาจพูดออกมาด้วยภาษาร่างกายและแววตา ถ้าเราอยากให้สังคมมีความเข้าใจมากขึ้น เราต้องมีการฟังอย่างลึกซึ้ง 

 

หลังจากละครออกอากาศ ผลลัพท์เป็นยังไงบ้าง

     ในกลุ่มที่เราต้องการสื่อสารด้วย วัยแสบ สาแหรกขาด โครงการ 2 ทำได้ดีกว่าภาคแรก ล่าสุดคุณเอิร์น-นิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละครเพิ่งส่งข่าวมาว่า อาจารย์จุฬาฯที่เป็นแฟนคลับละครบอกว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งสั่งให้ครูทุกคนดูวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 และทำรายงานส่ง ซึ่งจะมีผลต่อการเลื่อนขั้น และการขึ้นเงินเดือน เพราะเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับอาชีพครู

 

ทำไมให้ความสนใจประเด็นสังคมมากเป็นพิเศษ

ในฐานะคนเขียนบท เรื่องแนวนี้ฉีกไปจากแนวเดิมๆ ที่เราเคยเขียน ไม่ใช่เรื่องความรักหรือแย่งชิงสมบัติ แต่มากกว่านั้น การเขียนบทละครเด็กและเยาวชนมีความท้าทาย เราไม่ได้เขียนสไตล์วัยรุ่นมุ้งมิ้ง แต่เป็นวัยรุ่นแบบที่เห็นในละคร นักแสดงเด็กๆ ก็แสดงได้ดีมาก เหมือนเป็นเพื่อนกันจริงๆ

 

ละครได้ทำหน้าที่สะท้อนสังคมได้ดีขนาดนี้ คุณรู้สึกยังไง

ดีใจที่มีประโยชน์ มีผู้ปกครองบางคน ออนไลน์มาขอบคุณเรื่องเด็กติดเกม เพราะลูกเขามีพฤติกรรมเหมือนในละคร เด็กได้ดูก็บอกว่า เรื่องนี้ดูแล้วเหมือนเห็นตัวเอง เขาเหมือนบุ๊ค เด็กติดเกมในเรื่อง ทำให้เขาชวนแม่ไปหาหมอด้วยกัน เพราะไม่อยากเป็นจนควบคุมตัวเองไม่ได้

สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเว็บไซต์ www.HealthyGamer.net สามารถเช็คพฤติกรรมเด็กได้จากเว็บนี้ อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า การติดเกมเป็นโรคชนิดหนึ่ง ถ้าเล่นแล้ว เด็กหยุดไปกินข้าว ไปเที่ยว ก็แค่ชอบเล่นเกม เพียงแค่พ่อแม่จัดระเบียบวินัยให้มากขึ้น เราต้องคุมเกม ไม่ใช่ให้เกมคุมเรา

 

คุณใช้ชีวิตทั้งเมืองไทยและแคนาดา การศึกษาที่นั่นเป็นยังไง

 เรียนรู้แล้วลงมือทำ  แฟนเราเป็นช่างไม้ เขาเรียนในตำราแค่หกสัปดาห์ ที่เหลือลงมือทำ เขาก็มีงานที่มั่นคง มีสหภาพแรงงานที่แข็งแรง ในละครเราต้องการสื่อว่า เราเอาการศึกษามาเป็นเครื่องประดับของเราและครอบครัวหรือ

 

ในความหมายของคุณ การศึกษาที่แท้จริงคือการลงมือทำ ?

ถ้าเราเข้าใจคอนเซ็ปต์การศึกษาจริงๆ การเรียนรู้ก็เพื่อออกมาประกอบอาชีพ หรือทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ เราก็จะไม่ยึดติดกับกรอบหรือความเชื่อของสังคม ยกตัวอย่าง ตอนเราอยากเป็นคนเขียนบท เราก็มุ่งศึกษาเรื่องการเขียนบททุกรูปแบบ พาตัวเองไปอยู่ในกองถ่าย ประเทศไทยยุคนั้นไม่มีการสอนเขียนบทอย่างจริงจัง ต่อให้เราเรียนด้านนี้ในมหาวิทยาลัย เขาก็ไม่ได้มุ่งสอนให้เราเป็นนักเขียนบท เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วลงมือทำจริงๆ ต้องกล้าที่จะคิดว่า เราไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ หรือกล้าที่จะไม่อยู่ในระบบก็ได้

 

ความกล้าเหล่านั้นมาจากไหน

ครอบครัวเราไม่ได้กดดัน ไม่ได้คาดหวัง ลูกไม่ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็ได้ อะไรที่ทำแล้วมีความสุข พ่อแม่สนับสนุน ก็เลยอยากบอกว่า เด็กและครอบครัวต้องไปด้วยกัน อย่างหลานเราชอบเกษตร ชอบปลูกต้นไม้ เราก็ต้องพาเขาไปหาปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรมีเยอะ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างภูมิปัญญาไทยไว้เยอะมาก ถ้าสนใจเรื่องพวกนี้ไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ แต่พ่อแม่กล้าไหม

 ....................................

(((ครอบครัวบำบัด)))

การบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจส่วนลึกในใจตนเองและคนในครอบครัว ทำให้เข้าใจปฏิกิริยาของคนในครอบครัวที่มีต่อกัน เช่น พ่อแม่พูดอะไรบางอย่าง บางทีพูดด้วยความรักแต่ลูกฟังเจ็บช้ำน้ำใจ หรือรู้สึกว่า กดดัน ถูกคาดหวัง

ทั้งๆ ที่พ่อแม่ไม่ได้หมายความแบบนั้น ครอบครัวบำบัดจะทำให้ครอบครัวเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในเรื่องคำพูด กิริยา ความคิดและความรู้สึก

หมายเหตุ : ข้อมูลจากพญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ  โดยนำมาใช้ในสื่อละครด้วย

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

เรื่องโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกาย talk วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ