กทท.ยันตัดสิทธิแหลมฉบัง 'เอ็นซีพี' ยื่นกพอ.ทบทวน

กทท.ยันตัดสิทธิแหลมฉบัง 'เอ็นซีพี' ยื่นกพอ.ทบทวน

ประมูลแหลมฉบังยืดเยื้อ กทท.ยืนยันตัดสิทธิ์ประมูลแหลมฉบัง ชี้พิจารณาตามขั้นตอน รอคกก.กฎหมายอีอีซีเคาะผลตัดสิทธิ์

ด้าน “เอ็นซีพี” ร้อง กพอ.ทบทวนตัดสิทธิ กลุ่มพนักงานการท่าเรือฯ เคลื่อนไหวเคาะประมูลอิงผลประโยชน์รัฐ

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อย่างโปร่งใส โดยการตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ได้พิจารณาเงื่อนไขตามข้อกำหนดในเอกสารเสนอโครงการ (RFP)

สำหรับการตัดสิทธิ์ในขั้นตอนข้อเสนอซอง 2 (คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ) พิจารณาจากกลุ่มเอ็นซีพี ยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ

“เอกสารที่ไม่ครบถ้วน คือ เอกสารแสดงคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่มีการลงนามความรับผิดชอบร่วม ถือเป็นเอกสารที่สำคัญมาก เพราะถ้ามีเอกชนรายใดรายหนึ่งทำผิดแล้ว กทท.จะเรียกร้องจากใครไม่ได้เลย เพราะไม่ระบุข้อมูลการรับผิดชอบร่วมเอาไว้”

นอกจากนี้ การตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทำให้กลุ่มเอ็นซีพีไม่ผ่านการประเมินซอง 2 รวมทั้งไม่ได้เข้าสู่การเปิดซองที่ 3 (ข้อเสนอทางเทคนิค) ซองที่ 4 (ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทน) และซอง 5 (ข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ)

ในขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอของอีกกลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี โดยเปิดซอง 3 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และเปิดซอง 4 ซึ่งกำลังพิจารณาข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทน พร้อมทั้งเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี มาชี้แจงแผนการเงินแล้ววานนี้ (17 พ.ค.) แต่ยังไม่เริ่มต้นเจรจา

ลุ้นฝ่ายกฎหมาย สกพอ.

สำหรับกรณีกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยื่นฟ้องศาลปกครองเป็นคดีดำเลขที่ 818/2562 กรณีถูกตัดสิทธิ์นั้น ศาลปกครองพิจารณาไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีเป็นคดีแดงเลขที่ 488/2562 แล้ว ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าทบทวนการตัดสิทธิ์ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลปกครองกลาง ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีไม่อำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้อีก และการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการเสนอความคิดเห็นต่อส่วนราชการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รายงานการตัดสิทธิ์ดังกล่าวให้ฝ่ายกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาความเห็นการตัดสิทธิ์ โดยถ้าฝ่ายกฎหมายเห็นชอบก็จะเดินเจรจากับกิจการร่วมค้าจีพีซี และรายงานให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รับทราบในวันที่ 27 พ.ค.นี้

“หากฝ่ายกฎหมาย สกพอ.เห็นว่าไม่ควรตัดสิทธิ์ จะทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องทบทวนกระบวนการใหม่และกลับไปพิจารณาซอง 2-4 ของกลุ่มเอ็นซีพี”

เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกฯ กล่าวว่า หากได้รับทราบผลการพิจารณาของคณะกฎหมายอีอีซีแล้วจะเดินหน้าเจรจากลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ควบคู่ไปกับการเปิดซอง 5 เพื่อพิจารณาข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ แต่ยืนยันว่าข้อเสนอในซองที่ 5 ไม่เป็นผลต่อการพิจารณาข้อเสนอโครงการในส่วนอื่น

“เอ็นซีพี”ร้อง กพอ.ทบทวน

รายงานข่าวจากกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ระบุว่า วานนี้ (17 พ.ค.) กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีได้ทำหนังสือ 4 ฉบับ เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์การประมูล ประกอบด้วย 1.หนังสือถึงนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.เพื่อแจ้งข้อมูลการอุทธรณ์และโต้แย้งคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งขอให้ กพอ.ทบทวนคำสั่งที่พิพาทของคณะกรรมการคัดเลือกฯ รวมถึงทบทวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

2.หนังสือถึงผู้อำนวยการ กทท.เพื่อโต้แย้งการพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี โดยระบุถึงการพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีไม่ชอบด้วยขั้นตอนกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งที่พิพาทเกิดจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเอกสารในซอง 2 ของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีครบถ้วนและถูกต้องตามหลักเกณฑ์

ร้องผู้ตรวจการยื่น ป.ป.ช.

3.หนังสือถือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยขออุทธรณ์คำสั่งการแจ้งผลประเมินเอกสารซอง 2 (คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ)

4.หนังสือถึง พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแจ้งข้อมูลกรณีขอร้องเรียนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว

นอกจากนี้ พนักงาน กทท.กลุ่มท่าเรือก้าวหน้า ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพนักงาน กทท.เพื่อขอให้พนักงานช่วยกันผลักดันให้มีการพิจารณาโดยเห็นแก่ประโยชน์ของ กทท.ที่ต้องการรักษารายได้ให้กับองค์กรและรายได้เข้ารัฐ เพราะมีความแตกต่างของค่าตอบแทนอายุสัมปทานตลอด 35 ปี ของผู้ยื่นทั้ง 2 กลุ่ม

ทร.มั่นใจข้อมูลแจงศาล

พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กรณีกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ฟ้องต่อศาลปกครองกลางและยื่นขอให้คุ้มครองชั่วคราวการประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานต่อศาลปกครอง ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวน

“ศาลอนุญาตให้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมได้ภายใน 7 วัน โดยกองทัพเรือยืนยันการดำเนินการด้วยความยุติธรรมและความเสมอภาคต่อเอกชนทุกราย และพอใจในการให้ข้อเท็จจริงและเชื่อว่ามีหลักฐานจะเพียงพอต่อการพิจารณาของศาล ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะทำตามแผนงานคู่ขนานกับการพิจารณาของศาลปกครอง โดยจะประเมินข้อเสนอเอกชนเสร็จเดือน มิ.ย.นี้”