สตาร์ทอัพอิสราเอลรุกธุรกิจฟินเทคไทย

สตาร์ทอัพอิสราเอลรุกธุรกิจฟินเทคไทย

ตลาดเทคโนโลยีการเงิน(ฟินเทค)ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์ถึง1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563

ตลาดเทคโนโลยีการเงิน(ฟินเทค)ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์ถึง1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งเซาธ์อีสต์เอเชีย โกลบเผยแพร่รายงานล่าสุดบ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีการขยายตัวของตลาดฟินเทคในอัตราที่รวดเร็วมากครอบคลุมฟินเทคในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

“ดะกัน อโลนี”ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่าตลาดฟินเทคในประเทศไทยมีศักยภาพ และเป็นโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ อย่างที่เห็นว่าปัจจุบันมีผู้ทำธุรกรรมการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัลแบงก์กิ้งในประเทศไทยมากกว่า 40 ล้านคน และเมื่อพิจารณาดูจากการดำเนินงานของสถาบันการเงินใหญ่ๆในไทย ต่างมีความชำนาญด้านการใช้เทคโนโลยีการเงิน มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชั่นมากมาย

 ทั้งยังมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลหมุนเวียนภายในระบบธุรกิจการเงินดิจิทัลในไทยผ่านช่องทางการชำระเงินทางออนไลน์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น อีเพย์เมนท์ อีแบงก์กิ้งโมบายเพย์เมนท์ และการโอนเงินผ่านระบบดิจิทัล ยิ่งทำให้ตลาดฟินเทคของไทยมีความน่าสนใจ และท้าทายอย่างมากในสายตานักลงทุนต่างชาติ

 อโลนี มองว่า การที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้แนวโน้มความต้องการในตลาดฟินเทคของประเทศไทยสูงขึ้นตามด้วยนอกเหนิือจากธุรกิจการชำระเงินออนไลน์ของไทยที่ขยายตัวมากสิ่งที่จะเห็นต่อไปคือ บริษัทประกันภัยและธุรกิจอื่นๆในตลาดทุนดิจิทัล มีความเติบโตตามไปด้วย

ด้วยเหตุผลนี้  สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทยจึงจัดงาน ‘โรดโชว์ฟินเทคอิสราเอล 2019’ เพื่อนำ 12 บริษัทชั้นนำในธุรกิจเทคโนโลยีฟินเทคของอิสราเอลจัดแสดงและนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินล้ำสมัยในประเทศไทยอาทิ บริษัทกลาสบอกซ์ (Glassbox) เป็นสตาร์ทอัพที่สร้างแพลตฟอร์มวิเคราะห์และสนทนาโต้ตอบแบบอัตโนมัติ100% ซึ่งเติบโตสูงก้าวไปสู่การเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน นิวยอร์ก และเทลอาวีฟ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเช็คมาร์กซ์(Checkmarx) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ดูแลและจัดการตรวจสอบความปลอดภัยให้กับแอพพลิเคชั่น และบริษัท เพย์คีย์(Paykey) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้การเข้าถึงการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือสมาร์ทโฟนของลูกค้าเป็นไปได้ง่ายดายและรวดเร็วมากขึ้นผ่านปุ่มลัดบนแป้นพิมพ์อัจฉริยะที่จะปรากฏอยู่ในทุกแอพพลิเคชั่นของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค เมสเซนเจอร์ สแนปแชท วอทส์แอพ ไลน์วีแชท ทวิตเตอร์ หรือสไกป์

ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนของอิสราเอลเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยบ้างแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทผู้ใช้ระบบ Robotic Process Automation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้โรบอทมาทำงานในออฟฟิศที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)ซึ่งถูกนำไปใช้กับระบบงานตอบรับแบบอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุน ขั้นตอนการทำงานและช่วยประหยัดเวลา

"การเจาะตลาดฟินเทคในประเทศไหนก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริษัทฟินเทคต่างชาติหน้าใหม่ กรณีประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อทั้ง 12 บริษัทตัดสินใจจะบุกตลาดประเทศไทยพวกเราตั้งใจจะนำเทคโนโลยีมาเสนอ และพร้อมทำตลาดอย่างหนัก เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในไทย ไม่เพียงเพราะไทยจะเป็นประตูสู่อาเซียน แต่เพราะเป็นตลาดที่นี่มีความพร้อมมากกว่า ทั้งระบบการชำระ โอน และรับเงินผ่านแอพพลิเคชั่น หรือสแกนคิวอาร์โค้ด

ขณะที่อิสราเอลมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่สามารถเข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีการเงิน และพัฒนาตลาดฟินเทคในไทยได้ ซึ่งอิสราเอลยินดีที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วน และร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศในการพัฒนาตลาดเงินดิจิทัลให้ก้าวไปข้างหน้า รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การทำงานร่วมกัน" อโลนี ระบุ

ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าของสถานทูตอิสราเอล กล่าวอีกว่าอิสราเอลให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาระบบความปลอดภัยทางการเงินดิจิทัลอย่างเข้มงวด แม้ว่าอิสราเอลเป็นประเทศเล็ก ทำให้ตลาดมีขนาดเล็ก แต่ระบบการเงินในอิสราเอลค่อนข้างมีเสถียรภาพทั้งยังเอื้ออำนวยความสะดวกให้บริษัทต่างๆในอิสราเอลสามารถทดลอง และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ให้มากที่สุด หรือที่เรียกว่าsandbox ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการสร้างสรรค์ทางความคิด การสร้างเสริมประสิทธิภาพ และการกล้าทดลองสิ่งใหม่อย่างไม่สิ้นสุด

อโลนี กล่าวทิ้งท้ายว่าสิ่งที่สำคัญของการใช้เทคโนโลยีฟินเทคคือการปกป้องข้อมูลและรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันอิสราเอลมีความเป็นมืออาชีพในสาขาของเทคโนโลยีการเงิน ไม่ใช่เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่ฉลาดมาก แต่สภาพแวดล้อมทำให้อิสราเอลต้องพัฒนาระบบให้แข็งแกร่ง และปัจจุบันในอิสราเอลมีสตาร์ทอัพฟินเทคจำนวนกว่า 700 รายที่ต้องการประสานร่วมมือกับประเทศไทยต่อไป