“กูรูสื่อ” ชี้ทางรอด 15 ช่อง “คอนเทนท์ต่าง-รุกออนไลน์”

“กูรูสื่อ” ชี้ทางรอด 15 ช่อง “คอนเทนท์ต่าง-รุกออนไลน์”

หลังห้ำหั่นเสนอราคาประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์) 24 ช่อง ทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีเงินนำส่งเข้าคลังแผ่นดินมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท 

ทว่า  5 ปี ของการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการต้องกัดฟัน “กลืนเลือด” กันถ้วนหน้า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) จึงมีคำสั่ง 2 ครั้งเพื่อช่วยประคับประคองสถานการณ์

กระทั่งคำสั่งคสช.ล่าสุด เปิดทางให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตได้ โดยมี 7 ช่อง ยื่นขอคืนใบอนุญาต ปิดเกม “ขาดทุน” สำหรับช่องเล็ก เพื่อไปลุยต่อธุรกิจสื่อใหม่ ส่วนค่ายที่ยังเหลือ “ช่อง” ในมือ ต้องปรับทัพ วางหมากรบกันใหม่ เพื่อฟาดฟันกันอีกราว 10 ปีตามระยะเวลาของใบอนุญาตที่เหลือ

อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังน่าจับตา วานนี้(16 พ.ค.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 20 เรื่อง ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัลมีกูรูทีวี นักวิชาการ มาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน ท่ามกลางการแข่งขันและการอยู่รอดในแวดวงสื่อโทรทัศน์ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนจะเป็นอย่างไร

สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformation ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบโทรคมนาคม ย้อนรอยการประมูลทีวีดิจิทัลว่า ถือเป็นความสำเร็จของกสทช.ในเวลานั้น เพราะสามารถหารายได้และนำเงินส่งเข้าคลังจำนวนมาก ขณะที่หลายฝ่ายเกิดความหวังใหม่ในการจะ “ปฏิรูปสื่อ” มากขึ้น ด้านผู้ประกอบการจากที่เคยเช่าเวลา อำนาจต่อรองต่ำ เมื่อขยับมาเป็น “เจ้าของช่อง สร้างอำนาจต่อรองให้กับตัวเองมากขึ้น แต่สิ่งที่ทุกฝ่าย “คาดไม่ถึง” คือการเข้ามาของเทคโนโลยี และโลกดิจิทัลที่ ดิสรัป” จอแก้วหนักหน่วง โดยเฉพาะการรับชมคอนเทนท์ผ่านอินเตอร์(โอทีที) ที่มาจากหลากแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Google สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ยังทำให้การต่อวิดีโอ ผลิตคอนเทนท์แอนิเมชั่น หรืออำนาจในการผลิตสื่ออยู่ที่ประชาชนหรือ “ผู้บริโภค” เป็นเงาตามตัว

การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และ 4-5 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่เกิดสารพัด ทำให้ผู้บริโภคนำเสนอคอนเทนท์ต่างๆได้ไม่ใช่แค่ทีวีอีกต่อไป ส่วนเทคโนโลยี 4G ที่เข้าถึงประชากร 90% ทำให้สามารถรับชมคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

ขณะที่การคืนใบอนุญาต 7 ช่อง อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังไม่หมดห่วง เพราะเทคโนโลยี ยังเป็นตัวแปรกระทบธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาซ้ำเติม เช่น ปัญญาประดิษฐ์(AI) ที่จะช่วยให้เจ้าของแพลตฟอร์มเรียนรู้ เก็บข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคได้ และหารายได้โฆษณา โดยไม่ต้องรอการสุ่มสำรวจเรตติ้ง เทคโนโลยี 5G จะเอื้อให้ภาพมีความคมชัดมากขึ้น การส่งข้อมูลเร็วขึ้น นำเสนอคอนเทนท์เป็นภาพเสมือนจริง(วีอาร์) มากขึ้น อย่างการถ่ายทอดโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น จะเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆอีกมาก สร้างประสบการณ์รับชมคอนเทนท์เหมือนอยู่ในสนาม เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องย้อนถามตัวเองว่า คุณค่าที่แท้จริงของสื่อทีวีที่มีต่อผู้บริโภคคืออะไร” ซึ่งส่วนตัวมองว่าการมีออริจินัลคอนเทนท์ คอนเทนท์ที่แตกต่าง เป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ เพราะเน็ตฟลิกซ์ เอชบีโอ ล้วนพัฒนาออริจินัล คอนเทนท์เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงคนดู

นอกจากนี้ การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้เป็นรูปธรรม และสร้างแพลตฟอร์มของตนเอง ยังเป็นสิ่งที่ต้องการเห็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลดำเนินการมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้คือการพัฒนาคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ ตอบสนองคนดู ซึ่งรัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้

สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมสังคมด้านสื่อ อดีตกรรมการ กสทช.กล่าวว่า การแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลด้วยการให้คืนใบอนุญาต นำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซไปให้โทรคมนาคมประมูล ทำให้อุตสาหรรมทีวีดิ่งเหว เพราะการมีเทคโนโลยี 5G เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ จะทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ตายเร็วขึ้น

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐเข้ามาอุ้มผู้ประกอบการ จ่ายเงินชดเชย ควรนำเงินในส่วนนี้ไปพัฒนาคอนเทนท์ พัฒนาวิชาชีพ เพื่อยกระดับรายการ เพราะต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์หรือครีเอทีฟซบเซามานาน

ขณะที่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเผชิญความยากลำบากจนต้องคืนช่อง ผู้ประกอบการต้องมีส่วนในการรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย เพราะก่อนการประมูล ผู้ประกอบการต้องการให้มีช่องจำนวนมาก เงื่อนไขการประมูลช่องข่าว 5 ช่อง ถูกเรียกร้องให้เพิ่มเป็น 7 ช่อง เปิดทางให้ประมูลใบอนุญาตได้ 3 ช่อง จากเดิมแค่ 1 ช่องเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองหลังยื่นขอคืนช่อง คือการเยียวยาพนักงาน เพราะต้องยอมรับว่าเงินชดเชยที่ทีวีดิจิทัลจะได้รับ กสทช.ไม่ได้เขียนเงื่อนไขไว้ว่าจะต้องจ่ายชดเชยพนักงานไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากผู้ประกอบการจะต้องจ่ายมากกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด จะต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้

พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และรองกรรมการผู้จัดการ- ช่องสปริง26 กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลแข่งขันลำบาก เนื่องจากต้นทุนคงที่จากค่าใบอนุญาต ค่าโครงข่าย(Mux) และโครงข่ายมัสต์แครี่ สัดส่วนเกิน 30% เมื่อองค์กรลดต้นทุนไม่ได้ การหั่นต้นทุนแรกจึงเป็นด้านพนักงาน และคอนเทนท์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์หลัก หรือ คอร์ แอสเส็ท ทำให้ทีวีนำเสนอรายการที่ไม่มีคุณภาพมากนัก

เป็นไปไม่ได้ที่รายการคุณภาพดีจะมาจากต้นทุนที่ต่ำ และหากลดต้นทุนอะไรไม่ได้ ก็ลดต้นทุนรายการข่าวก่อนเลย นี่คือสิ่งที่ธุรกิจสื่อเผชิญมาตลอด

ทั้งนี้ หลังทีวีดิจิทัล 7 ช่องคืนใบอนุญาต จำนวนช่องที่เหลือจะเดินต่อ ควรจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อมาเสริมทัพกับจอหลักหรือเมนสกรีนอย่างทีวี และบริหารความพอดีของคอนเทนท์เพื่อตรึงคนดู เพราะหากคนดูย้ายช่องแล้ว ยากที่จะดึงกลับมาคืนได้

นอกจากนี้ การพัฒนาคอนเทนท์ที่มีความแตกต่าง ข้อมูลเชิงลึก แต่เสิร์ฟคนดูเร็ว เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมาก เพราะนั่นจะเป็นตัวแปรที่ทำให้คนดูเลือกปักหมุดมาที่ช่องหรือแพลตฟอร์มนั้นๆก่อน และผู้ประกอบการไม่ควรยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ เพราะพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนเร็ว ตัวอย่างที่เห็นชัดนาทีนี้ คือช่อง 3 นำเสนอละคร “แรงเงา2” แต่การตอบรับจากคนดูต่ำ สะท้อนว่าการพึ่งความสำเร็จแรงเงา1 ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ทีวีดิจิทัลเพิ่งเจอสึนามิลูกแรก แต่ที่เหลืออีก 15 ช่อง ยังมีต้นทุนเดิม การแข่งขันสูง สึนามิอีกลูกยังต้องมาอีกระลอก และเวลาลดต้นทุนไม่ได้ คนและคอนเทนท์จะได้รับผลกระทบก่อน