คาดทรูลุยเดี่ยวรับไลเซ่นส์ “5จี”

คาดทรูลุยเดี่ยวรับไลเซ่นส์ “5จี”

วงในโทรคมวิเคราะห์อาจมีเพียงแค่ “ทรู” รายเดียวเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 ด้าน “ฐากร” รายงานตรงนายกฯ รับทราบแผนจัดสรรคลื่น 700 ตามคำสั่ง ม.44 เชื่อประชาพิจารณ์คลื่น 22 พ.ค.นี้ เอกชนแสดงความเห็นคับคั่ง

วงในโทรคมวิเคราะห์อาจมีเพียงแค่ “ทรู” รายเดียวเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 ขณะที่ “เอไอเอส” ไม่ติดภาระการเงิน ไม่ขอผ่อนยืดหนี้ 900 รอประมูลคลื่น700 ที่เหลือ 15 เมกะเฮิรตซ์ปี 63 แทน ขณะที่ “ดีแทค” ต้องรอผลประชุมร่วมเทเลนอร์ กรุ๊ป คาดอาจไม่เอาคลื่น 700 เช่นกัน ด้าน “ฐากร” รายงานตรงนายกฯ รับทราบแผนจัดสรรคลื่น 700 ตามคำสั่ง ม.44 เชื่อประชาพิจารณ์คลื่น 22 พ.ค.นี้ เอกชนแสดงความเห็นคับคั่ง ขณะที่ มติอนุฯ เยียวยาทีวีดิจิทัลสั่งช่วยพนักงาน 7 ช่องที่คืนไลเซ่นส์ จับตา อสมท.จ่อคืนไลเซ่นส์มัค

ความเคลื่อนไหวของ 3 ผู้ประกอบการมือถือยังอยู่ในความสนใจ หลังมีการประกาศราคาไลเซ่นส์คลื่น 700 ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากนี้อยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์ โดยจะเริ่มวันที่ 22 พ.ค. ขณะที่มีการประเมินว่า ครั้งนี้จะมีเพียงแค่ “ทรู” ทีใช้สิทธิ์ยืดหนี้คลื่น 900 และรับไลเซ่นส์คลื่น 700 ไปเพียงรายเดียว

ชี้“ทรู” รายเดียวรับไลเซ่นส์คลื่น700

แหล่งข่าววงการโทรคมนาคม กล่าวว่า นายฐากร ตัณสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทราบดีว่าการจัดสรรคลื่น 700 ครั้งนี้จะมีเพียง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นเข้ารับการจัดสรร ส่วนบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) นั้นค่อนข้างมีสถานะการเงินที่ดี และน่าจะอยากจะปิดหนี้คลื่น 900 ตามกรอบเวลาเดิมคือ 4 ปี

โดยเอไอเอสจะรอประมูลคลื่น 700 ที่เหลือ 15 เมกะเฮิรตซ์ในช่วงเม.ย.-มิ.ย.ปี 2563 แทน เพราะภาระการเงินจะได้ไม่ตึงมากเกินไป และมีกระแสเงินสดเพียงพอ ส่วนบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) คงต้องรอประชุมร่วมกับเทเลนอร์กรุ๊ป ซึ่งเป็นไปได้สูงเช่นเดียวกันว่า ท้ายที่สุดแล้วดีแทคจะไม่เข้ารับการจัดสรรคลื่น 700

ขณะที่ นายฐากร กล่าวว่า วานนี้ (16 พ.ค.) สำนักงานกสทช.ได้ส่งหนังสือรายงานความคืบหน้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบ ในเรื่องร่างประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 703-733/758-788 เมกะเฮิรตช์ หรือคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้นำลงเว็บไซต์ กสทช. และเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศฯ ดังกล่าวแล้ว โดยสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.-30 พ.ค.2562 พร้อมกำหนดจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างประกาศฯ วันที่ 22 พ.ค.2562 โดยกำหนดราคาการจัดสรรไว้ที่ 17,584 ล้านบาทต่อใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิรตซ์

สำหรับการเปิดประชาพิจารณ์วันที่ 22 พ.ค.นี้ เชื่อว่า ผู้ประกอบการเอกชนจะแสดงความเห็นกันอย่างคับคั่ง ซึ่งหลังจากนั้นสำนักงานกสทช.จะนำความเห็นไปหารือและสรุปอีกรอบก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในความเห็นของตนขณะนี้ ยังมั่นใจว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 รายจะเข้ารับจัดสรรครบ เพราะก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่ยื่นหนังสือต่อ คสช. ต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือการชำระค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายของการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ แต่หากในท้ายที่สุดจะเหลือผู้ประกอบการเพียง 1 รายหรือ 2 รายที่เข้ารับการจัดสรรก็เป็นสิ่งที่เอกชนเลือก สำนักงานกสทช.ไม่สามารถไปบังคับอะไรได้

“ที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไป แต่มันก็ต้องมีความสัมพันธ์กับฝั่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลด้วย ดังนั้น ค่ายมือถือที่ออกมาพูดว่าคลื่น 700 ยังไม่ควรรีบเร่งตอนนี้เพราะกว่าจะได้ใช้จริงก็ปลายปี 2563 เรื่องนี้ก็ถูกต้อง แต่เราก็ต้องทำเป็นการแก้ปัญหาของทั้ง 2 อุตสาหกรรม ซึ่งตามไทม์ไลน์ที่เอกชนเสนอมาก่อนหน้าคือ ประมูลคลื่น 2600 พ่วงด้วย 26-28 กิกะเฮิรตซ์ก่อน จากนั้นกลางปี 2563 ค่อยประมูลคลื่น 700 และอีกปีค่อยประมูลคลื่น 1800 ที่เหลือ 35 เมกะเฮิรตซ์ แต่เราทำเช่นนั้นไม่ได้ต้องนำคลื่น 700 ขึ้นมาก่อน เพราะเราเรียกคืนจากทีวีดิจิทัลมาแล้วนำเงินไปช่วยเหลือเขา”

ระบุกรอบเวลาทีวีดิจิทัล

นอกจากนี้ เลขาธิการกสทช.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล วานนี้ (16 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดกรอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่แจ้งความจำนงขอคืนใบอนุญาตที่จะต้องปฏิบัติเพื่อเยียวยาผู้บริโภค ก่อนยุติการให้บริการ โดยผู้ประกอบการจะต้องส่งแผนเยียวยาผู้บริโภค พร้อมทั้งแผนเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง จากกรณีการขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล มาให้คณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาด้วย โดยอัตราการเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกงานจะต้องสูงกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ผู้ประกอบที่แจ้งความจำนงขอคืนใบอนุญาต นำส่งผลประกอบกิจการที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการตามใบอนุญาตแต่ละปีตลอดระยะเวลาที่ได้มีการประกอบกิจการจนถึงวันที่ 11 เม.ย.2562 ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องนำส่งให้สำนักงาน กสทช.ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา

ส่วนกรณีที่ไม่สามารถยื่นเอกสารได้ให้แจ้งขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคำนวณค่าชดเชยจาการคืนใบอนุญาต

กรณีผู้ถือหุ้น บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ส่งหนังสือถึง สำนักงาน กสทช.เพื่อคัดค้านการคืนใบอนุญาตช่องไบรท์ทีวี (ช่อง20) โดยในหนังสือ ระบุว่า การดำเนินการยื่นความจำนงขอคืนใบอนุญาต ไม่ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติกรณีการขอคืนใบอนุญาตแต่อย่างใดนั้น กรณีนี้ได้มีการกำหนดในประกาศสำนักงาน กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลว่า ไม่สามารถขอยกเลิกความประสงค์ดังกล่าวภายหลังได้

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้สอบถามกรณีขอคืนใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) เนื่องจากการขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ทำให้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเช่าใช้ MUX เหลือน้อย โดยต้องการให้สำนักงาน กสทช.พิจารณาเรื่องการเยียวยาจากกรณีนี้ด้วย