ไมโครซอฟท์นเอ็มโอยู 20 มหาวิทยาลัย 

ไมโครซอฟท์นเอ็มโอยู 20 มหาวิทยาลัย 

ดันเอไอเจาะการศึกษาไทย-ชี้ไทยตลาดใหญ่อันดับ2ในภูมิภาค

ไมโครซอฟท์ดันหลักสูตรเอไอ-คลาวด์-โปรแกรมมิ่ง เจาะการศึกษาไทย จ่อเอ็มโอยู 20 สถาบันการศึกษา หนุนสร้างทักษะดิจิทัลคนรุ่นใหม่ หนึ่งในยุทธศาสตร์ “เอไอ ฟอร์ คันทรี่" ของไมโครซฟอฟท์ทั่วโลก ชู 4 ข้อหลักหนุนเอไอเข้าทุกภาคส่วน อุดจุดอ่อนทักษะดิจิทัล ชี้ไทยตลาดใหญ่อันดับ 2 ของไมโครซอฟท์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งลงทุนต่อเนื่อง

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ร่วมมือกับ 20 มหาวิทยาลัยในไทย ดันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ บรรจุเข้าเป็นหลักสูตรทางเลือกการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์ทั่วโลก หรือ AI For Country

ที่ให้ความสำคัญกับเอไอในการยกระดับขีดแข่งขัน และเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ โดยประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1.Digital Skill 2. AI for enterprise 3. AI for good และ 4. AI for partner

ทั้งนี้การเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยของไทย เป็นเรื่องของ Digital Skill ที่ไมโครซอฟท์มีเป้าหมายเข้าไปเสริมและปรับทักษะด้านดิจิทัลให้ นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป โดยจะเป็นหลักสูตรทางเลือกในนามของไมโครซอฟท์ เน้นเรื่อง เอไอ คลาวด์ รวมถึงทักษะง่ายๆ ด้านโปรแกรมมิ่ง โดยแต่ละปีจะสามารถผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือดาต้า ไซอันทิสต์ หรือดาต้า เอ็นจิเนียริ่ง เป็นการอุดช่องว่างทักษะดิจิทัลของไทยที่ยังขาดแคลน

“นักเรียน รวมถึงคนทั่วไปสามารถเลือกเรียนหลักสูตรนี้ได้ ไมโครซอฟท์จะให้ประกาศนียบัตรด้วย เราไม่ได้แค่ตั้งใจให้แค่นักเรียน นักศึกษา แต่ตั้งใจให้มหาวิทยาลัยเปิดให้คนนอกที่ต้องการปรับทักษะดิจิทัลเข้ามาเรียนได้ ตอบโจทย์ยุคที่เรากำลังถูกดิจิทัล ดิสรัป ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์ และมหาวิทยาลัยครั้งนี้ แต่ละปีอาจผลิตคนที่มีทักษะดิจิทัลในแต่ละกลุ่มได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 หม่ื่นคน"

ด้าน AI for enterprise เนื่องจากโปรดักส์ทั้งหมดของไมโครซอฟท์ถูกติดตั้งด้วยเอไอ และระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งทั้งหมด บิซิเนส แอพพลิเคชั่นแบบเอนด์ทูเอนด์ รวมไปถึงไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ โมเดิร์น เวิร์คเพลส ขณะที่ มีแพลตฟอร์มอาซัวร์ ซึ่งมีเอไอเป็นร้อยๆ ให้บริการ ทั้ง สปีชทูเท็กซ์ ระบบจดจำใบหน้า แชทบอท โดยไมโครซอฟท์เปิดโอกาสให้องค์กรเอ็นเตอร์ไพร์สนำบริการ หรือแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ไปให้บริการโดยการต่อยอดพัฒนาในรูปแบบของตัวเอง

ส่วน AI for good เน้นเรื่องของซีเอสอาร์ โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์นำเอไอไปช่วยทำให้สังคมดีขึ้นในด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ขยะ รวมไปถึงภาวะฝุ่นที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ไมโครซอฟท์จะใช้เอไอเข้าไปช่วย ด้าน AI for partner มุ่งเน้นให้พาร์ทเนอร์ เช่น สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีนำเอไอไปต่อยอดธุรกิจ

นายธนวัฒน์ กล่าวย้ำว่า ปีนี้เอไอจะเป็นกลยุทธ์สำคัญของไมโครซอฟท์ ที่จะมีโครงการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันไทยยังเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรองแค่สิงคโปร์ ขณะที่ไทยมีการเติบโตการใช้งานคลาวด์ของไมโครซอฟท์ต่อปีมากกว่า 3 ดิจิต และมีการเติบโตด้านดาต้าและเอไอเป็นอันดับ 2 ของโลก