เปิดมุมมอง พลิกเกมชีวิต ศาสตร์ดีข้ามยุค ‘จิตวิทยาการจัดการ’

เปิดมุมมอง พลิกเกมชีวิต ศาสตร์ดีข้ามยุค ‘จิตวิทยาการจัดการ’

เป็นศาสตร์ที่ทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์ในอนาคต ถ้ามีมุมมองใหม่ การกระทำก็ย่อมเปลี่ยน ถ้าไม่เห็นก็จะทำแต่สิ่งเดิมๆ วันนี้จึงยังคงมีความสุข สนุกกับการทำงานทุกวันในฐานะของโค้ช ครู ผู้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและสอนศาสตร์ “จิตวิทยาการจัดการ”

ดร.ขวัญนภา ชูแสง” บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ก็คือองค์กร และผู้บริหารรายเดิมที่ดีลกันมายาวนาน หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ ซุปเปอร์ริชสีเขียว เรียกว่าตารางสอนยังคงแน่นเอี๊ยดแทบทุกวัน


"ศาสตร์นี้ช่วยทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์ในอนาคต ถ้าคุณมีมุมมองใหม่ การกระทำย่อมเปลี่ยน ถ้ามองไม่เห็นก็จะทำแต่สิ่งเดิมๆ แต่พอถูกเปิดมุมมองไม่ว่าอะไรก็ตามหรือที่เรียกกันว่า ปิ๊งแว๊บ ก็จะมีการลงมือทำอะไรใหม่ๆ ร่างกายของคนมันพิเศษ สมองของคนก็อัศจรรย์ มันจะทำงานร่วมกัน ถ้าเราสร้างมุมมองใหม่ให้กับสมองได้ ร่างกายก็จะถูกสั่งงานโดยอัตโนมัติ"


และแม้ว่าปัญหาของลูกค้าที่นำพามานั้นอาจดูเหมือนมีความแตกต่าง เป็นเรื่องราวใหม่ๆอยู่เสมอ แต่ที่สุดแก่นของปัญหาก็ยังคงเป็นเรื่องเก่าๆ เป็นเรื่องความคิด ความรู้สึก จิตใจ การยอมรับ และมีอยู่แค่สองระดับ หนึ่ง เป็นเรื่องที่คนๆนั้นรู้อยู่แล้ว เก่งและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว สอง เป็นเรื่องที่เขาไม่รู้มาก่อน ซึ่งเรื่องที่รู้อยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องคุยกัน แต่ต้องมาคุยในเรื่องที่ไม่รู้ ยังติดอยู่ไปต่อไม่ได้ และต้องเปิดมุมมองใหม่


"จะต้องมีกระจกอีกบานเพื่อให้เขาได้ส่องดูตัวเอง ให้เปิดใจกับเรื่องที่ไม่รู้ เขาอยากจะได้อะไร อยากเป็นแบบไหนก็ต้องพัฒนาคุณภาพตัวเอง เพราะเป้าหมายไม่ได้เปลี่ยนตาม แต่ตัวเราต้องเปลี่ยนตัวเองทุกวันเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งการคิดจะไปทะเล กับไปภูเขามันเป็นคนละเป้าหมาย จึงต้องเตรียมของในการเดินทางคนละแบบ ชีวิตและทิศทางของธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะไปตรงนี้ แล้วต้องใส่คุณภาพอะไร วิชาอะไร ช่องทางแบบไหน"


และอธิบายต่อว่า ทุกวันนี้เรามักไม่ได้รับข้อมูลที่เห็นเป็นโอกาสและความเป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ได้รับมักเป็นความกลัว เช่นเทคโนโลยีที่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่มนุษย์ เมื่อมองว่าไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ช่องทางใหม่ แต่เป็นช่องความกลัวจึงไม่คิดที่จะฝึกฝนคุณภาพเตรียมพร้อมรับมือ


"คนมักให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ทำให้เกิดความกลัว เรามักกลัวความเปลี่ยนแปลง ความไม่รู้ และอะไรหลายๆอย่าง แต่ถ้ามองว่าทุกอย่างมันเป็นโอกาสตลอดเวลา เราก็จะมุ่งศึกษามากขึ้น คิดพัฒนาตัวเองมากขึ้น"


ดร.ขวัญนภา ได้นำเอาหลักของ NLP (Neuro linguistic programming)และ Brain Based Coaching มาผสมผสานด้วยหลักจิตวิทยาการจัดการ มาใช้ในการโค้ชชิ่ง ซึ่งว่าด้วยเรื่องจิตใต้สํานึกและสมองที่ใคร ๆมองว่าเป็นเรื่องยาก


"ซึ่งประสิทธิผลอยู่ที่คนฟัง ถ้าเขาเปลี่ยนไม่ได้ก็ไม่เวิร์ค จึงได้ดีไซน์หลักสูตรในหลายรูปแบบทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายและสนุก สิ่งสำคัญก็คือ ไม่พูดทฤษฏีเยอะแค่เขียนไว้บนบอร์ด หลักๆจะถ่ายทอดผ่านเกม การแชริ่ง กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการรับรู้ของแต่ละคนแต่ละองค์กร"


จิตวิทยาการจัดการต้องอาศัยความต่อเนื่องเช่นเดียวกับศาสตร์อื่นๆ แต่ไม่ใช่เป็นการมาเรียนใหม่ ทบทวนใหม่ เนื่องจากในการเดินทางของชีวิต และองค์กรมักต้องพบเจอกับเรื่องราวความท้าทายใหม่ ๆอยู่เสมอ ในปีแรกโฟกัสเรื่องหนึ่ง พอขึ้นปีที่สองก็คงจะทำอะไรแบบเดิม ๆซ้ำคงไม่ได้ วันเวลาผ่านไปทุกอย่างต้องมีการขยายออก ทั้งองค์กรและมนุษย์แต่ละคนก็เป็นเหมือนกัน


“ชีวิตของคนเราต้องขยายออก ไม่ได้อยู่ที่เดิม เพราะนับวันเราก็จะมีเรื่องเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่กลับมาอยู่ที่เดิม มันก็เปรียบเหมือนเราเดินถอยหลังลงเขา”


ศาสตร์จิตวิทยาการจัดการก็ไม่สามารถหยุดนิ่งได้เช่นกัน เพราะบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปก็จำเป็นต้องก้าวให้ทัน แต่แน่นอนที่แก่นของมันยังคงเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนให้สอดคล้องอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนว่าได้รับรู้เรื่องราวอะไรใหม่ ๆร่วมกัน และนำไปวางแผน


"มันเป็นศาสตร์ที่ต้องทำความเข้าใจคน มีการวางแผนเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ข้างหน้าซึ่งต้องพบเจอกับอะไรใหม่ ๆอีกมากมาย ศาสตร์นี้จะช่วยสำรวจความกลัว สำรวจความเป็นไปได้ ว่าช่องไหนมันมากกว่ากัน พร้อมกับขยายมุมมองทุกอย่างเพื่อให้ลองเลือกทำ จากศักยภาพที่มี จากความเชื่อในคุณภาพหรือแก่นของตัวเองว่าสามารถไปได้ ที่ผ่านมาหลักสูตรที่คิดขึ้นก็ช่วยทำให้คนในองค์กรเข้าใจกัน ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข แบบเข้าใจมนุษย์จริงๆ เข้าใจไปถึงงาน เข้าใจไปถึงคนได้จริงๆ เรียนแล้วเอาไปใช้งานได้ มีแก่นที่คนจะหยิบไปใช้ได้จริงๆ"


อย่างไรก็ดี เธอมองว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ การโค้ชชิ่ง การศึกษากำลังก้าวสู่โลก “ออนไลน์” เรียกว่าถ้ายัง “ออฟไลน์” ไม่ปรับตัวก็อาจแข่งลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโค้ชมือใหม่ ขณะที่โค้ชที่มีความเก๋า มีลูกค้าที่เหนียวแน่นอยู่แล้วก็คงยังไปได้อีกยาวไกล


"ศาสตร์นี้ยังเป็นกลไกของปรับเปลี่ยนตัวเอง ยังต้องอาศัยคน ยังต้องอาศัยการจัดกิจกรรมอยู่ และตัวเองก็ยังสนใจกระบวนการที่ทำกับผู้คนที่ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนมายด์เซ็ท ที่ต้องมาทำประสบการณ์ร่วมกัน ต้องทำอบรมสักวันสองวัน เพื่อให้ได้มีประสบการณ์ ให้ได้เห็นด้วยตา ออนไลน์เป็นการทอล์ค ซึ่งระดับสมองเวลารับภาษาพูดมันก็ยังจินตนาการจากโลกเดิมอยู่ดี แต่เมื่อไหร่เขามีประสบการณ์ได้ลงมือทำ การรับรู้ของร่างกายมันเกิดได้หลายมิติมาก ไม่แค่การได้ยิน แต่เป็นความรู้สึกทั้งหมดมันทำงานซึ่งตรงนี้ยังสำคัญอยู่มาก"


หลายคนอาจจำได้ว่า ดร.ขวัญนภา เปิดตัวในช่วงแรกๆเมื่อสิบปีก่อนด้วยบทบาทของโค้ชสอน “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งใช้หลักทางสมองเช่นกัน เพราะเล็งเห็นปัญหาว่าคนไทยเล่าเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นเวลายาวนานแต่กลับฟังและพูดไม่ได้ โดยกล้าการันตีว่าจะใช้เวลาสอนเพียง 10 นาทีให้ฟังออก และภายใน 6 ชั่วโมงจะต้องพูดได้


"เทียบกันสองหลักสูตร จิตวิทยาการจัดการได้รับการยอมรับมากกว่า เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่า การสอนภาษาอังกฤษพอท้าว่า 10 นาทีต้องรู้เลย มันกลายเป็นความเร็วและแข็ง เป็นอะไรที่ชวนคนไม่สำเร็จ ซึ่งจริงๆแล้วตอนคิดเป็นโค้ชภาษาอังกฤษเพราะมีเป้าหมายจะยกระดับประเทศไทย เป็นการคิดใหญ่ระดับประเทศ แต่การเดินทางมันกลับสร้างผลลัพท์ได้น้อย ซึ่งมันก็ทำให้เราเข้าใจตัวเองว่า บางเป้าหมายก็อาจต้องปล่อยวางไปตามธรรมชาติของมัน และปัจจุบันการสอนภาษาอังกฤษก็เป็นไปได้ยากเพราะเดี๋ยวนี้คนใช้แอพแปลภาษากันแล้ว"


ตรงกันข้ามที่จิตวิทยาการจัดการกลายเป็นหลักสูตรที่ทำให้ดร.ขวัญนภารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ และไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนก็สามารถนำศาสตร์นี้ไปปรับใช้โดยไม่ตกยุค เพราะมันกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ คิดในเชิงรุก มองเห็นอนาคตและวางแผนรับมือ เริ่่มจากชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน ยังไม่ต้องพูดถึงชีวิตการทำงาน


"ง่าย ๆคือลองคิดดูว่าแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ จากนั้นก็ลองมองไกล ๆไป 3 ปีข้างหน้าว่าเรามีเงินพอที่จะจ่ายบิลเหล่านี้ไหม คือถ้าดูแลเรื่องแค่นี้ไม่ได้ก็ถือว่าอันตราย ซึ่งมันเป็นลองเทอมแพลน ถ้าทำในชีวิตส่วนตัวไม่ได้ชีวิตการทำงานก็ทำไม่ได้เหมือนกัน เพราะการทำงานในองค์กรคือความรับผิดชอบระดับใหญ่ที่ต้องอาศัยการปลูกฝังลึกๆเยอะๆ เริ่มจากดูแลตัวเองและครอบครัวให้มั่นคงพร้อมๆกับการทำงานต้องดูแลได้ทั้งหมด สมองเรามันไม่ได้แยกกัน"