‘บีจีพี’ รุกบรรจุภัณฑ์อ่อน-รีฟิว หนุนธุรกิจอาหารเครือบุญรอดฯ

‘บีจีพี’ รุกบรรจุภัณฑ์อ่อน-รีฟิว หนุนธุรกิจอาหารเครือบุญรอดฯ

บีจี แพคเกจจิ้ง เล็งหาพันธมิตรแตกไลน์ลุยบรรจุภัณฑ์อ่อน-รีฟิว รับการขยายตัวธุรกิจอาหารในเครือบุญรอด หลังพบตลาดบรรจุภัณฑ์ซองสำหรับขนมขบเคี่้ยวโตสูงถึงปีละ 7-8% 

นายวรวัฒน์ บูรณากาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด หรือ BGP ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ในเครือบางกอกกล๊าส หรือ BG กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทไม่มีแผนการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากปีที่ผ่านเพิ่งลงทุนเพิ่มเครื่องจักรในการผลิตผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษเพื่อเพิ่มกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ตันต่อปีจากเดิมที่มีกำลังผลิต 24,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ เพื่อรองรับกับการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์กล่องหรือลังบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และกล่องพัสดุไปรษณีย์ ที่เติบโตตามการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คาดว่าจะสามารถรองรับได้ความต้องการของตลาดได้อีก3-5 ปี

ดังนั้นปีนี้ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการ ‘ลดต้นทุน’ ด้วยการปิดโรงงานผลิตฝาที่รังสิตไปรวมกับโรงงานผลิตขวดฉลาก ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ. พระนครศรีอยุธยา คาดว่า จะเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการจำนวนบุคคลกรส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ลง 

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการร่วมทุน(Joint Venture)เพื่อต่อยอดธุรกิจบรรจุภัณฑ์อ่อน(flexible) ที่มาจากฟิล์ม เพื่อขยายไปยังบรรจุภัณฑ์อาหารในรูปแบบที่เป็นซองสำหรับขนมขบเคี้ยวซอส ที่เติบโตต่อเนื่องปีละ 7-8% รวมทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มของใช้ ที่นิยมใช้ซองรีฟิวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักผ้า ฯล รวมทั้งพลาสติกแรปอาหารแทนที่จะเป็นธุรกิจผลิตขวด ที่มีอัตราการเติบโตน้อย

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภค ที่นิยมใช้บรรจุภัณฑ์รีฟิวมากขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิตสินค้า (คู่ค้า) ที่ต้องการทำผลิตภัณฑ์ที่ตอบสองกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หลากหลาย ด้วยการทำไซส์ที่หลากหลายเล็ก กลาง และใหญ่ แทนที่การขึ้นราคา เพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง คาดว่า น่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการเข้ามารองรับการขยายตัวของธุรกิจบริษัทแม่ในเครือบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ที่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดอาหารมากขึ้น

“ ปัจจุบันการทำธุรกิจคนเดียวไม่ง่าย การหาพันธมิตรร่วมทางจะเข้ามาช่วยให้การขยายธุรกิจไปได้เร็วและมั่นคงกว่าแทนที่จะลงทุนเองทั้งหมดเหมือนในอดีต เข้าไปร่วมทุนอย่างน้อยตั้งแต่ 26% 30% ไปจนถึง 50% กับกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งสัดส่วนการเข้าไปร่วมทุนขึ้นอยู่กับการเจรจา ”

อย่างไรก็ตามในส่วนของ ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษ มีแผนที่จะหาผู้ร่วมทุนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะใช้งบการลงทุนรวมทั้งสิ้น 700-1,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันลดการพึ่งพารายได้จากการผลิตสินค้าให้บริษัทในเครือลงเหลือ30-40% จากปัจจุบันมีสัดส่วน50% และอีก50% มาจากนอกเครือบุญรอด

สำหรับผลการดำเนินการในปี2561 มีรายได้ 1,700 ล้านบาทเติบโต3-4% ใกล้เคียงกับการเติบโตอุตสาหกรรมกระดาษและพลาสติก ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 1,800 ล้านบาท มาจากผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษ 800 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์พลาสติก( ฝา ,ขวด ,ฉลาก )1,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ1-1.5% จากตลาดอาเซียน เริ่มจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผลประกอบการเติบโตตามเป้าหมายคิดเป็นมูลค่า 450ล้านบาท คาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้ารายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากที่มีการร่วมทุน โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากกลุ่มกระดาษ60% ที่เหลือ40% มาจากกลุ่มพลาสติก

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ ที่ปัจจุบันมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 3-4 เท่า แต่เชื่อมั่นว่าข้อมูลด้านงานวิจัย และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะมารองรับทำให้ราคาพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้มีราคาเท่ากับพลาสติกทั่วไปใน10-20 ปีข้างหน้าจะเห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจน ขณะนี้ได้มีการคุยกับทางผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลถึงความเป็นไปได้และความร่วมมือกันในอนาคต