3บริษัทย่อย 'ทรู' ขายเสา-เคเบิ้ลเข้าดีไอเอฟ 1.5 หมื่นล้าน

3บริษัทย่อย 'ทรู' ขายเสา-เคเบิ้ลเข้าดีไอเอฟ 1.5 หมื่นล้าน

3 บริษัทย่อย "ทรู" เตรียมขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในส.ค.นี้

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู แจ้งว่าบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัท เรียล มูฟ จำกัด (RMV) และ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทโทรคมนาคมเพิ่มเติม เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) หรือกองทุนฯ โดยมีมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนทั้งสิ้น อยู่ในช่วงราคาประมาณ 14,300 ล้านบาท ถึง 15,800 ล้านบาท

ทั้งนี้การจะเข้าทำรายการอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า กองทุนฯได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนฯ รวมถึงกองทุนฯ ได้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการระดมทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม

สำหรับทรัพย์สินที่บริษัทย่อยจะจำหน่ายไปในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. เสาโทรคมนาคม จำนวนรวม 788 ต้น 2.ใยแก้วนำแสง (fibre optic cables หรือ FOC) สำหรับใช้ในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร (หรือประมาณ 1,795 กิโลเมตร)

3. FOC ในระบบ FTTx สำหรับใช้ในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมระยะทางประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร (หรือประมาณ 315 กิโลเมตร)

4. FOC ในระบบ FTTx สำหรับใช้ในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 147,209 คอร์กิโลเมตร (หรือประมาณ 3,414 กิโลเมตร) และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมประเภท Passive อื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ภายหลังจากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมแล้ว TUC และ TICC หรือบริษัทย่อยอื่นใดในกลุ่มของบริษัทจะเช่าทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมบางส่วนจากกองทุนฯ ซึ่งประกอบด้วย 1.พื้นที่ (slots) บางส่วนบนเสาโทรคมนาคม โดยระยะเวลาการเช่าจะสิ้นสุดประมาณวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2576 โดยมีค่าเช่าตามสัญญาตลอดระยะเวลาการเช่า รวมประมาณ 3,600 ล้านบาท

2. ประมาณร้อยละ 80 ของ FOC สำหรับใช้ในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีค่าเช่าตามสัญญาตลอดระยะเวลาการเช่า รวมประมาณ 4,800 ล้านบาท 3. ประมาณร้อยละ 80 ของ FOC ในระบบ FTTx ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีค่าเช่าตามสัญญาตลอดระยะเวลาการเช่า รวมประมาณ 1,900 ล้านบาท และ 4. ประมาณร้อยละ 80 ของ FOC ในระบบ FTTx ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด โดยมีค่าเช่าตามสัญญาตลอดระยะเวลาการเช่า รวมประมาณ 6,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ ระยะเวลาการเช่าทรัพย์สินตามข้อ 2-4 จะสิ้นสุดประมาณวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2576 ซึ่งอาจขยายระยะเวลาการเช่าต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี ภายหลังจากหมดระยะเวลาการเช่าครั้งแรก หรือไม่เกินระยะเวลาใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับ (แล้วแต่ระยะเวลาใดจะสั้นกว่า) หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด