ไทยจับมือเนเธอร์แลนด์ร่วมพัฒนา ศก.ยั่งยืน

ไทยจับมือเนเธอร์แลนด์ร่วมพัฒนา ศก.ยั่งยืน

ไทย - เนเธอร์แลนด์ ลงนามประกาศเจตนารมณ์พัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์สนับสนุนการบทบาทไทยทำหน้าที่ประธานอาเซียนปี2562

นายเกส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมกับ ซีอาเซียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บริษัทชั้นนำของไทยและเนเธอร์แลนด์รวม 12  แห่ง อาทิ ซีพีกรุ๊ป เอสซีจี ไทยเบฟเวอเรจ สายการบินเคเอลเอ็ม ฟิลลิป และซินโนวาพาวเวอร์  ได้ลงนามความตกลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้ความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนร่วมกันในทุกมิติ ได้แก่ ความมุ่งมั่นและสร้างความตระหนักถึงการลดจำนวนการใช้พาสติก การมุ่งสร้างอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน  โดยเฉพาะการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สังคมให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน

 นายยัน ปีเตอร์ บาลเคนเอนเดอ อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ กล่าวสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของประเทศไทย ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2562 และยังมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของทุกประเทศมีการเชื่อมโยงถึงกัน และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยภาคธุรกิจต่างก็มีบทบาทสำคัญทั้งผู้เล่น และผู้รับผิดชอบต่อสังคม อย่าง บริษัทเอกชนของดัตช์ และในยุโรปหลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการจัดให้คะแนนเรื่องความยั่งยืน ก็มาร่วมกันคิดค้นในการสร้างโมเดลการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustanability Grown Model) เพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ บริษัทเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ได้ร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทุกระดับภายในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้

“ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ซึ่งสามารถบรรจุอยู่ในคุณธรรมจริยธรรมของบริษัท อย่าง ผมได้ทำงานร่วมกับบริษัทยูนิลีเวอร์ คิดค้นวิธีลดการใช้พาสติก ที่ไม่เพียงแต่การรักษาสิ่งแวดล้อม ยังเป็นการหาแนวทางลดต้นทุนทางธุรกิจ โดยเราสามารถเรียนรู้รูปแบบการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งกันและกันได้ ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง” นายบาลเคนเอนเดอระบุ

ด้านนาย สุริยา จินดาวงษ์อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแนวคิดหลักในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานอาเซียนที่ว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่มุ่งเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งแนวทางที่อาเซียนดำเนินการอยู่ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) จำนวน 17 ข้อเพื่อให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 โดยไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้ 2 แนวทางบรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน โดยทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องมีส่วนร่วม และได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

————-