'อู่ตะเภา-แหลมฉบัง' 2ปมพิพาทประมูลอีอีซี

'อู่ตะเภา-แหลมฉบัง' 2ปมพิพาทประมูลอีอีซี

ศาลปกครองนัดให้คำชี้แจงวันที่ 16 พ.ค.นี้ ซึ่งได้เตรียมข้อเท็จจริงของอู่ตะเภาเรียบร้อยแล้ว

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ประชุมวานนี้ (13 พ.ค.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งยืนยันแล้วว่าโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาจะได้ผู้ชนะไม่ทันรัฐบาลปัจจุบัน

ในขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กพอ.ได้ขับกรอบเวลาได้ผู้ชนะประมูลจากเดือน ก.ค.มาเป็นเดือน มิ.ย.นี้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะมีการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง

'อู่ตะเภา-แหลมฉบัง' 2ปมพิพาทประมูลอีอีซี

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ของกองทัพเรือ เปิดยื่นซองวันที่ 21 มี.ค.2562 มีผู้ยื่นซอง 3 กลุ่ม คือ 1.กิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด

3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ประกอบด้วย บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท Orient Success International Limited บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด

กลุ่มซีพีมายื่นเป็นรายแรกเวลา 12.20 น. และจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน เริ่มเปิดซอง 1 (คุณสมบัติ) วันที่ 11 เม.ย.2562 และแจ้งผลตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นให้ 3 ราย โดยเฉพาะกลุ่มซีพีที่ได้รับแจ้งว่ายื่นเอกสารบางส่วนไม่ทัน 15.00 น.ทำให้กลุ่มซีพียื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง และระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2562 ว่า

“คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ แจ้งมติมายังผู้ร่วมประมูล ซึ่งมีข้อมูลที่อาจกระทบต่อโครงการ ดังนั้นกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร พิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของกระบวนการพิจารณา จึงใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอความเป็นธรรม”

หลังจากกลุ่มซีพีร้องศาลปกครอง ทำให้ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อเตรียมชี้แจงศาลปกครองกลาง โดยกำหนด 3 แนวทางคือ1.ตรวจสอบความถูกต้องของการพิจารณาเอกสารข้อเสนอของเอกชนเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งเอกชนดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
2.ตรวจสอบการทำงานที่ผ่านมาว่ามีประเด็นใดขัดเอกสารเสนอโครงการ (RFP) หรือไม่ 3.ให้ยึดหลักการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนอีอีซี

การดำเนินการดังกล่าวมีฝ่ายกฎหมายของกองทัพเรือและสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมพิจารณาทำให้กองทัพเรือมั่นใจว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯไม่ขัดกฎหมาย

พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า เอกชนได้ยื่นขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว เกี่ยวกับประเด็นที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ไม่รับข้อเสนอบางส่วนที่ยื่นหลังเวลาปิดรับข้อเสนอ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในวันนี้ (14 พ.ค.) และให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 16 พ.ค.นี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอประกอบการพิจารณารับคำฟ้องของศาล ซึ่งได้จัดเตรียมคำชี้แจงและข้อเท็จจริงต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า กลุ่มซีพี ยื่นซองประมูลไม่ครบเพราะหมดเวลาก่อน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งต้องรอให้ศาลปกครองกลางตัดสินว่าจะรับซองประมูลหรือไม่ แต่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะพิจารณาซองประมูล 8 กล่องที่ส่งทันเวลาก่อน ส่วนอีก 2 กล่องที่เหลือจะพิจารณาภายหลัง ซึ่งมั่นใจว่าศาลปกครองกลางจะเร่งพิจารณาเพราะเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล

ไม่เฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินที่ผู้ประมูลร้องศาลปกครอง แต่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเทียบเรือเอฟ) ก็ถูกผู้ประมูลร้องศาลปกครองกลางเช่นกัน

โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีผู้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา 2 กลุ่ม คือ 1.กิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited

2.กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทนทลิน จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited

กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีได้รับแจ้งจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 ถึงการถูกตัดสิทธิเป็นผู้ประมูล เพราะลงนามในเอกสารไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีร้องผู้ตรวจการแผ่นดินวันที่ 25 เม.ย.2561 ร้องศาลปกครองในวันที่ 26 เม.ย.2562 ให้เพิกถอนคำสั่งตัดสิทธิเข้าร่วมประมูลและคุ้มครองการประมูลชั่วคราว

เผด็จ เมธิยานนท์ ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี กล่าวว่า กทท.ให้เหตุผลการตัดสิทธิจากการพิจารณาซอง 2 (คุณสมบัติผู้ประมูล) ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีส่งเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่เงื่อนไขการประมูลกำหนด และจะไม่เปิดซอง 3 (ข้อเสนอทางเทคนิค) และซอง 4 (ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี

หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องแล้วมีการประชุมวันที่ 8 พ.ค.2562 และมีคำวินิจฉัยให้ กทท.ทบทวนคำสั่งตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงนามที่แม้ไม่อยู่ในช่องที่กำหนด แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นเอกสารแบบฟอร์มราชการต้องดำเนินการตามนั้น แต่เอกสารประมูลไม่ใช่แบบฟอร์มราชการ การไม่ลงนามในช่องแต่ลงนามในเอกสารครบถ้วน ถือว่าไม่ใช่ข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญ จึงมีมติให้ กทท.ทบทวนและให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ

คณิศ กล่าวว่า การประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 อาจไม่ทันรัฐบาลปัจจุบัน โดยที่ประชุม กพอ.วานนี้ (13 พ.ค.) มอบหมายให้รวบรวมข้อมูลที่กำลังดำเนินการเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา