สภาวิศวกรปรับตัวรับยุคดิสรัปชั่น

สภาวิศวกรปรับตัวรับยุคดิสรัปชั่น

สภาวิศวกรปรับตัวรับยุคดิสรัปชั่น เผยบัณฑิตวิศวกรไทย 34,000คน ขอใบอนุญาตไม่ถึง 1% "อดีตรมช.ศธ." แนะทิศทางการเรียนรู้ในอนาคต มหาวิทยาลัยต้องเรียนหลายศาสตร์ร่วมกัน เน้นสมรรถนะและทักษะมากกว่าความรู้

วันนี้ (13 พ.ค.) สภาวิศวกร จัดเสวนา "20 ปี สภาวิศวกรไทยในยุคดิสรัปชั่น" โดยมีนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวเปิดงานว่า


วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกดปุ่มปฎิรูปสภาวิศวกร เพราะยุคนี้ไม่สามารถพูดได้ว่าเก่ง เจ๋งขนาดไหน เนื่องจากทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งวิศวกรไทยเก่ง แต่ถ้าไม่ปรับตัวจะอยู่ยากในยุคที่เกิดการทำลาและเกิดขึ้นใหม่ในยุคดิสรัปชั่น ปัจจุบันวิกฤตการศึกษาไทยเกิดขึ้น โดยมีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เด็กมาเรียนระดับมหาวิทยาลัยน้อยลง ปริมาณของวิศวกรไทย และปัญญาชนในทุกสาขา หายไปกว่าครึ่ง มหาวิทยาลัยไทยมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 1 ล้านที่นั่ง แต่เด็กที่เข้ามาไม่ถึงครึ่ง เรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจารย์วิศวะ หรืออาชีพครูถูกดิสรัปชั่น รวมถึงกระแสไม่สนใจปริญญา จะเห็นว่าเด็กจบวิศวะเก่งๆ อันดับหนึ่งไม่ทำงานด้านวิศวกรรม


"ตอนนี้ต้องริเริ่มปฎิรูปสภาวิศวกร เพราะปัจจุบันมีคนจบวิศวะทั้งหมด 34,000 คน หรือไม่ถึง 5% ของคนที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่จำนวนบัณฑิตวิศวะมาขอใบอนุญาตน้อยลงทุกปี หรือไม่ถึง 1% และตอนนี้ The Massachusetts Institute of Technology (MIT) มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านวิศวะของโลกยังมีการปฎิรูป โดยศึกษาบทเรียนในอดีต พบว่า โครงสร้างแบบแท่ง เป็นสาขา เป็นภาควิชา การเรียนรู้เพียงในห้องเรียน วิชาชีพแยกตัว และเน้นทักษะวิชาการ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้วิศวกรไม่ก้าวหน้า และ MIT ได้เสนอรูปแบบในอนาคตว่าวิศวกรโลก ต้องเป็นสหสาขาทั้งศาสตร์และศิลป์ การเรียนรู้กับงานจริง วิชาชีพประสานสาขา และเสริมทักษะชีวิต และมหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งมีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนวิศวกรรมแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาที่วิศวกรไทยต้องเปลี่ยนแปลง" นายสุชัชวีร์ กล่าว

นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวปาฐถกา "การเรียนรู้โลกยุคดิสรัปชั่น" ว่า ขณะนี้ประเทศต้องการไปข้างหน้า ซึ่งการมาเป็นรัฐมนตรี 17 เดือนเห็นว่าคนไทยมีความสามารถ แต่จะมองตนเอง มองแต่มหาวิทยาลัยตนเองไม่ได้ วิศวกรเป็นอาชีพพื้นฐานหลักในการผลักดันประเทศ เพราะเป็นคนที่มีตรรกะ แนวคิด ซึ่งในยุคดิสรัปชั่นไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง ใหญ่ไม่ใหญ่ องค์กรไหนก็ตาม อนาคตที่อยู่รอดได้ คือคนและองค์กรที่มีการปรับตัวเท่านั้น ที่สำคัญต้องทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้


"มาตรฐานวิชาชีพ สภาวิชาชีพจำเป็นต้องมี แต่ต้องปรับแนวคิดใหม่ และต้องเป็นความร่วมมือกัน เพราะจะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกอย่างกำหนดโดยสถานศึกษาหรือสภาวิชาชีพหมด เนื่องจากทำงานคนละส่วน ดังนั้น การไม่ให้สภาวิชาชีพก้าวก่ายนั้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมาสภาวิชาชีพ ทำตัวเหมือนเป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภคซึ่งทำได้ดี แต่บริบทตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว จะทำตัวเป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภคอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ประเทศ สิ่งที่ต้องทำ คือ มองมุมใหม่ ทำอย่างไรให้วิชาชีพนี้ไปส่งเสริม ทำให้ประเทศแข่งขัน ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ ไม่ใช่มานั่งจับผิด นั่งคอยคุม ต้องมาหารือร่วมกันใหม่ เพื่อหามุมมองใหม่ ยึดทำเพื่อประเทศ" นพ.อุดม กล่าว


ทั้งนี้ แนวโน้มใหญ่ของโลกในศตวรรษที่ 21 ต้องมุ่งการปรับตัวสู่ Data-Driven Economy และเป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัฒน์ การปรับนโยบายและเส้นทางการผลิตไปสู่ภาคส่วนที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากร และการขับเคลื่อนที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และการบริการที่อาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรม ซึ่งคนเราถูกเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีอย่างไม่รู้ตัว ในภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ แต่ภาคการศึกษาปรับตัวไม่ทัน ข้อมูลจากต่างประเทศ คาดการณ์ว่าในปี 2573 แรงงานไทยประมาณ 72% จะถูกแทนที่ด้วยAutomation และ AI ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเร็วกว่าปีที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่เจนZ โตมากับเทคโนโลยี เขาจะใช้เทคโนโลยีทุกอย่างในการสื่อสาร และปีนี้เป็นปีแรกที่เด็กกลุ่มนี้กำลังเข้ามหาวิทยาลัย อย่าให้ระบบการศึกษามาขัดขวางการเรียนรู้ของคน

นพ.อุดม กล่าวต่อว่ากระทรวงอุดมฯ ดีไซต์ให้ทุกมหาวิทยาลัยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งวิสัยทัศน์ต้องตอบโจทย์ประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยแลนด์ 4.0 และไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยกระทรวงจะช่วยสนับสนุนไม่ใช่ควบคุม การเรียนในมหาวิทยาลัยต้องเรียนหลายศาสตร์ร่วมกัน เน้นการใช้ความรู้สร้างนวัตกรรม การเรียนและการทำงานจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน การเรียนจะไม่เป็นทางการอีกต่อไป เน้นสมรรถนะและทักษะมากกว่าความรู้ ใช้สื่อการเรียนรู้แบบใหม่ เป็น platform สำคัญเพื่อการเรียนรู้และการทำงาน การเรียนคือความท้าทายตลอดชีวิต พัฒนาตนเองตลอด สร้างความใฝ่รู้และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทุกองค์กรจะต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่สำคัญอาวุธที่จะสามารถใช้ในการแข่งขันได้ คือ ต้องมีคุณภาพ มีความรู้ มีทักษะ และมีสมรรถนะที่ดี


นายสุทธิพงษ์ สุวรรณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากร ซึ่งถือเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมได้พยายามสื่อสารไปยังภาคการศึกษาว่าต้องมีการเปลี่ยนวิธีการสอน หลักสูตร เพราะถ้าไม่เปลี่ยนคนจะไปกันไม่รอด เมื่อโลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน ลูกค้าเปลี่ยนแปลง การสั่งซื้อ ความต้องการเปลี่ยน การปรับหลักสูตรต้องมองไปข้างหน้า 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี ต้องเป็นหลักสูตรที่สอนพื้นฐาน และมีมัลติสกิล. อย่างไรก็ตาม บัณฑิตวิศวกรมีทั้งที่ตอบโจทย์ ทำงานได้จริง และไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยในส่วนของบัณฑิตวิศวกรที่ไม่ตอบโจทย์นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวบัณฑิตเอง
มีปัญหา และขาดความอดทน. ในยุคดิสรัปชั่น ถ้าไม่เปลี่ยนจะถูกเปลี่ยน ให้มองว่า คือโอกาสของวิศวกรในประเทศเล็กๆ เพราะวิศวกรมีตรรกะ และรู้เรื่องเทคโนโลยีดี

"สภาวิศวกร ต้องช่วยพัฒนาขีดความสามารถของวิศวกรตอบโจทย์ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือ 1.กลุ่มธุรกิจข้ามชาติ ที่ต้องการวิศวกรที่มีความพิเศษด้านภาษา การเรียนรู้วัฒนธรรม การทำงานที่แตกต่าง 2. กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ และ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมกลางและขนาดเล็กให้ได้ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันออกแบบหลักสูตร และสถานประกอบการต้องไม่ผลักภาระให้แก่สถานศึกษา ต้องบอกมหาวิทยาลัยว่าต้องการอะไร "นายสุทธิพงษ์ กล่าว


นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตอนนี้ถึงเวลาที่สภาวิศวกรต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าวิศวกรไม่เปลี่ยนแปลง คณะวิศวกรรม จุฬาฯ ก็ต้องเปลี่ยน เพราะตอนนี้เราไม่ใช่ที่หนึ่งในโลกอีกต่อไป ดังนั้น วิศวะ จุฬาฯ จะปรับตัวเองเป็น Learning platform ที่สามารถผลิตคนที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อยากให้สภาวิศวกรเปิดช่องให้คณะวิศวะเติมทักษะทางสังคมมากขึ้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ให้พื้นฐานความรู้ และทำให้รู้ว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วเขาจะไปทำงาน หาความรู้ พัฒนาตนเองได้อย่างไร


นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าเห็นด้วยกับสภาวิศวกรที่จะมีการปรับเปลี่ยนต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนแบบหลากหลาย เรียนแบบบุฟเฟ่ต์ ให้เด็กได้เลือก และสภาวิศวกรควรสนับสนุน การเรียนการสอนวิศวกรให้เป็นไปตามบริบทของมหาวิทยาลัยแต่ละพื้นที่