“ท่าช้าง” แคะคอนเซ็ปต์ แฟรนไชส์ขนมครกก้องโลก

“ท่าช้าง” แคะคอนเซ็ปต์ แฟรนไชส์ขนมครกก้องโลก

นักโฆษณาผู้เปี่ยมฝัน อยากจุดประกายชาวบ้านให้คิดการใหญ่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ โดยปลุกจิตวิญญาณมรดกทางวัฒนธรรมไทยปั้นเป็นสินค้า นำร่องขนมครกสิงคโปร์สูตรชาววังหลวง แบรนด์ท่าช้าง ชูเรื่องเล่าทรงคุณค่าตำนานขนมไทย ปั้นโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ส่งแบรนด์ไทยปูพรมโลก

จากจุดประกายกระแสขนมไทย และความเป็นไทยฟีเวอร์ตั้งแต่ยุคละครดัง “บุพเพสันนิวาส” ในช่วงปีที่ผ่านมา ปลุกไอเดียให้กับใบพัด -อธิษฐ์พัชร นิพิษฐาภัทร เจ้าของแบรนด์ท่าช้างขนมครก สิงคโปร์ หนุ่มผู้หลงรัก อินกับความเป็นคนไทย และหวงแหนคุณค่าวัฒนธรรมของไทย ผลักดันของดีเฉพาะถิ่น มีเรื่องเล่า และตำนาน จิตวิญญาณความเป็นไทย อันน่าหลงใหล ปั้นเป็นสินค้าและวัฒนธรรมไทย ธุรกิจสเกลอัพที่ยิ่งใหญ่ได้

แค่เพียงไอเดียเล็กๆ ของการดูละคร บันเทิง แล้วหยิบ ขนมครก สิงคโปร์ ที่ชื่อต่างประเทศ แต่ต้นกำเนิดและสูตรเกิดจากฝีมือคนไทยโบราณล้วนๆเพียงเพราะนำเข้าแป้งสาลีจากสิงคโปร์ ประกอบกับได้สูตรลับขนมครกมาจากผู้ใหญ่ที่สนิท ซึ่งในยุคนั้นต้องเป็นกลุ่มคนในวัง ชั้นเจ้านายเท่านั้นถึงจะได้ลิ้มลองขนมสูตรแป้งนำเข้าชนิดนี้

เมื่อเรื่องเล่าน่าสนใจ เขาจึงนำสูตรมาทดลองโชว์กระบวนปรุงและหยอดแคะขนมครก ผ่านไลฟ์ทางเฟซบุ๊คส่วนตัวเพียง 2-3 วัน ทว่ากลับทำให้สังคมโซเซียล (Social Network) ตอบรับดีเกินคาด ส่งไปให้ใครชิมก็ติดใจในรสชาติขนมไทย ขอไปชิมกันล้นหลาม

ใบพัด จึงฮึกเหิม หยิบขนมไทยนี้ ไปพัฒนาต่อยอดทำเป็นธุรกิจ โดยดึงนักโภชนาการมาช่วยพัฒนาสูตรทำขนมแต่ลดแป้ง น้ำตาล และไข่ ส่วนผสมที่อยู่ในขนมไทยทุกชนิดลงไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนไทยทานขนมไทยชาววังแล้วอ้วน เขาใช้เวลาพัฒนาสูตรกว่า 1 เดือน จนพบสูตรที่เหมาะสมกับเทรนด์สุขภาพ ที่มีมูลค่าตลาดกว่าหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ทิ้งความอร่อย มาลงตัวที่ ขนมครกท่าช้าง สูตรวีแกน (Vegan)

“แม้จะขายของสุขภาพ แต่เราขายของกิน รสชาติต้องอร่อย นี่คือหัวใจของการขายของกิน จึงต้องพิถีพิถันคัดเลือกวัตุถุดิบ แป้งสาลี และแป้งข้าวโพด ผสมกันให้ลงตัว เหนียว ฟู นุ่ม หนึบ พร้อมกับนำธัญพืชมาผสมเป็นส่วนประกอบ เช่น งาดำ ไรซ์เบอร์รี่ และใบเตย เลือกพันธุ์พิเศษ มีกลิ่นหอม และสีเขียว เพื่อทำให้ขนมครกมีสีสัน โดยไม่ต้องแต่งเติมสี แต่เป็นสีที่มาจากส่วนผสม” เขาเล่า

เพราะวางโจทย์ตั้งแต่ก่อนเริ่มเปิดตลาดว่าขนมครก วางกลุ่มเป้าหมายไปที่ แมสพรีเมียมไม่ใช่ตลาดทั่วไป แต่ต้องมีความชิคๆ เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นขนมครกที่ไม่ใช่ขนมครกตามตอกซอกซอย จึงต้องมีจุดขาย ที่สีสัน คุณค่าและหน้าตา ของสินค้า

ส่วนไอเดียชื่อแบรนด์ ท่าช้างนั้นมาจากเรื่องเล่าของสถานที่ข้างรั้วพระบรมมหาราชวัง ท่าช้าง เป็นแหล่งตลาดนัดตั้งแต่สมัยโบราณ พื้นที่สนมจากตำหนักในวังจะนำสินค้าจากในวังมาวางขาย รวมถึงขนมครก ชื่อจึงช่วยสะท้อนความมีที่มา เป็นเนื้อแท้ของสูตรชาววัง

ทว่า การรับรู้แบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ได้รับความสนใจ มาซื้อติดมือชิม นั่นเกิดจากเพราะความมีสีสัน จึงกำหนดกำหนดคอนเซ็ปต์แบรนด์ อร่อย สนุก ได้สุขภาพ” ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทำให้ขนมครก เต็มไปด้วยสีสันที่มาจากส่วนผสมธรรมชาติ เช่น สีเขียวรสใบเตย, สีขาวรสมะพร้าวอ่อน, สีส้มรสชาไทย, สีม่วงรสมันม่วง และรสข้าวไรซ์เบอร์รี่

ความบันเทิงจากสีสันของการหยอดแคะขนมครก ท่าช้าง ทำให้ลูกค้าที่มาซื้อโพสต์ลงสื่อโซเชียล จนทำให้ถูกพูดถึง ตามมาด้วยสื่อหลักต่างๆ เข้ามาสัมภาษณ์ออกทีวี และหนังสือพิมพ์ แบรนด์จึงเกิดการรับรู้ในวงกว้าง

แม้จะมีหน้าร้านเพียงที่เดียวคือ รัชดาภิเษก แต่โลกอินเตอร์เน็ตทำให้ท่าช้างส่งขายครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง เพราะมีไลน์แมน และการบริการเดลิเวอรี่ เพียงแค่สร้างแบรนด์ให้คนพูดถึงในโลกโซเชียล เมื่อสีสันขนมครกปรากฎบนเพจ คนต่างก็อยากสั่งซื้อไปลิ้มลองรสชาติ ทำรายได้เฉลี่ยถึงเดือนละ 50,000-100,000 บาท

เมื่อออกสื่อหลากหลายช่องทางจึงกระตุ้นให้คนสนใจอินบ็อกซ์ทัก ขอซื้อแฟรนไชส์นับร้อยราย ใบพัด จึงเกิดแรงบันดาลใจต่อยอดจากหน้าร้านเป็นแฟรนไชส์

ทว่า หลังจากศึกษาเรื่องแบรนด์มาอย่างลึกซึ้ง แม้มีคนเข้ามาขอซื้อจำนวนมาก หากเปิดขายทันทีต้องมีแฟรนไชส์สาขาไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกันคือเรื่องปวดหัวของการควบคุมคุณภาพสินค้า และภาพลักษณ์แบรนด์

เขามองว่า แบรนด์ขนมครกไทย สูตรตำนาน ท่าช้าง มีคุณค่าและมูลค่ามากกว่าเป็นขนมครกหยอด แคะตามหน้าปากซอย หน้าหมู่บ้าน ร้านขายของชำ ซึ่งต้องไปแข่งขันกันกับขนมครกที่เห็นกันทั่วไปในตลาด นั่นไม่ใช่เป้าหมายของ ขนมครกสิงคโปร์ ท่าช้าง

ประกอบกับนักลงทุนในต่างประเทศ ติดต่อเข้ามาขอซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ ท่าช้าง ไปบริหารในต่างแดน นี่คือคือไอเดียใหม่ที่มีคุณค่าและ สร้างมูลค่าได้เป็นกอบเป็นกำว่า หากพัฒนาโมเดลให้สิทธิ์ไปบริหารในต่างแดน ขอเพียงแค่ ทำหลังบ้านให้มีมาตรฐาน พร้อมส่งสินค้าและวัตถุดิบที่มีการยอมรับมาตรฐานระดับโลก พร้อมกันกับทำหน้าที่บริหารแบรนด์

เขาจึงกำลังอยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขการพัฒนาแฟรนไชส์ขึ้นมาใหม่ให้แบรนด์มีคุณค่าที่พร้อมปูพรมเจาะตลาดโลก จากเดิมที่ตั้งแฟรนไชส์รายย่อยราคาเริ่มต้น 5.5 หมื่นบาท รื้อโจทย์ออกแบบโมเดลใหม่ เน้นจำนวนน้อยราย แต่เป็นนักลงทุนที่ดูแลในแต่ละภูมิภาคหรือในแต่ละประเทศ ให้สิทธิ์ไปขยายแฟรนไชส์รายย่อยในพื้นที่ 

โดยในปีนี้วางเป้าหมายไว้ มีแฟรนไชส์ 10 ราย ดูแล ภาคเหนือ อีสาน ใต้ กลาง รวมถึงเลือกแฟรนไชส์ไปปักธงต่างแดน เบื้องต้น ลาว ญี่ปุ่น และ อังกฤษ

“คนทำแฟรนไชส์ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ไม่ใช่เพียงขยายสาขานับร้อย แต่ควรเลือกมาสเตอร์แฟรนไชส์ ผู้ที่เป็นนักลงทุน เข้ามารับหน้าที่ไปขยายแฟรนไชส์ในพื้นที่ ส่วนเจ้าของแฟรนไชส์ทำหน้าที่บริหารแบรนด์ และส่งวัตถุดิบมาตรฐาน อาทิ แป้งเอนกประสงค์ แป้งสูตรพิเศษซึ่งเป็นสูตรที่คิดค้นโดยตัวเขาเฉพาะ ที่พร้อมปรุงและหยอดขนมง่ายต่อการขนส่งทำให้ขนมไทยไปดังในต่างแดนได้”

นี่คือเส้นทางของคนไทยคนหนึ่งที่หลงรักความเป็นไทย และมีแพสชั่นในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงคิดแค่อยู่ในประเทศ แต่ต้องมองไปไกลถึงการออกไปต่างประเทศ

 “อยากปลุกให้เอสเอ็มอีไทยคิดทำสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว แต่ตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไป ต้องรู้ว่าเรามีสิ่งดีอยู่ในมือควรรู้จักพัฒนา ต่อยอดทำให้ยิ่งใหญ่ปักธงประเทศ ในตลาดโลก” เขาทิ้งท้ายด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่

 สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าไปแสวงหาความรู้และโอกาสหลากหลายช่องทางที่ภาครัฐส่งเสริมสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ เช่นเดียวกันกับตัวเขาเข้าไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ถึงการสร้างมาตรฐานเพื่อเตรียมการส่งออกแฟรนไชส์ไทย

----------------------

สูตรปั้นขนมครกไทย

สู่แฟรนไชส์บุกโลก

-ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมไทย

-ปั้นสินค้าแตกต่างตามเทรนด์

-สื่อสารภาพลักษณ์แบรนด์ผ่านโซเชียล และเรื่องเล่า

-มีวิธีคิดแปลงสิ่งเล็กๆ สู่ฝันที่ยิ่งใหญ่