ระบาดหนัก! 6 เดือนที่ผ่านมาพื้นสามเหลี่ยมทองคำจับยาบ้า 5 ตัน

ระบาดหนัก! 6 เดือนที่ผ่านมาพื้นสามเหลี่ยมทองคำจับยาบ้า 5 ตัน

ระบาดหนัก! 6 เดือนป.ป.ส. ทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นสามเหลี่ยมทองคำ 10 เมือง ยึดยาบ้า 5 ตัน ไอซ์กว่าแสนกิโล เผยกดดันหนักทำขบวนการค้ายาเปลี่ยนเส้นทาง เข้าเมียนมา-เวียดนาม ก่อนขนผ่านทะเลไปประเทศที่สาม

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.62 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. แถลงผลการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในรอบ 6 เดือน (ต.ค.61-มี.ค.62 )ว่า แผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศ ภายใต้การประชุมระดับรัฐมนตรี แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ แผนปฏิบัติการความร่วมมือ 3 ประเทศ และการพัฒนามาตรการสกัดกั้นอย่างเป็นระบบในพื้นที่ชายแดน ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงสามารถสกัดกั้นยาเสพติดและสารเคมีภัณฑ์ตามแนวชายแดนภาคเหนือได้มากขึ้น ในส่วนไทย มีปริมาณการจับกุมไอซ์ลดลง แต่การจับกุมยาบ้าและเฮโรอีน ยังคงมีปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับ 6 เดือนหลังของปี 2561 โดยสามารถสกัดกั้นยาบ้าได้ 197.42 ล้านเม็ด ส่วนยาบ้าทั่วประเทศที่จับกุมได้รวมน้ำหนักประมาณ 5 ตัน และทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำใน 10 เมือง พร้อมยึดของกลางอุปกรณ์การผลิตหัวตอก และสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้จำนวนมาก ส่วนสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ สามารถยึดกาเฟอีน 19,854 กก. ลดการผลิตยาบ้าได้มากถึง 270-310 ล้านเม็ด ยึดกรดไฮโดรคลอริก 32,044 ลิตร ลดการผลิตไอซ์ได้ประมาณ 105,000 กก.

“การสกัดกั้นอย่างเข้มงวดส่งผลให้ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ เปลี่ยนเส้นทางลำเลียงยาเสพติดผ่านทางไปทางประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ผ่านประเทศไทย โดยมีการจับกุมขบวนการลักลอบขนยาเสพติดได้ที่ทะเลอันดามัน บริเวณเกาะสอง ประเทศเมียนมา และชายแดนเวียดนามเพื่อไปยังประเทศที่สาม” นายนิยม กล่าว

เลขาธิการป.ป.ส. กล่าวอีกว่า สำหรับการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชนและเขตเมืองในพื้นที่ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร 4,129 หมู่บ้านชุมชน สามารถจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศได้ 165,688 คดี ผู้ต้องหา 177,067 ราย คดี 5 ข้อหาสำคัญ 38,711 คดี ผู้ต้องหา 45,337 ราย ของกลางยาบ้า 317.85 ล้านเม็ด กัญชา 9,271.75 กก. ไอซ์ 4,916.20 กก. โคเคน 10.30 กก. แจ้งข้อหาสมคบ 1,506 คดี ผู้ต้องหา 2,594 คน ยึดและอายัดทรัพย์สิน 1,019 คดี มูลค่าทรัพย์สิน 554.38 ล้านบาท นำผู้เสพเข้าบำบัด 80,101 ราย ให้บริการลดอันตรายจากยาเสพติด 11,031 ราย ติดตามผู้ผ่านการบำบัด 76,202 ราย ให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดที่ขอรับความช่วยเหลือ 2,413 ราย และให้ความช่วยเหลือ 220 ราย

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปมุ่งเน้นการดำเนินงานลดความต้องการยาเสพติดในทุกมิติ และดำเนินงานตามแนวทางของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) โดยประสานผลักดันการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ การบูรณาการขับเคลื่อนทุกมาตรการอย่างเป็นระบบ สอดรับแผนตำบลมั่งคงปลอดภัยยาเสพติด ภายใต้แผนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระยะ 20 ปี เพื่อให้ประชาชน สังคม และประเทศไทยปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน