'ราคาปาล์ม' ต่ำสุดรอบ 17 ปี ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่

'ราคาปาล์ม' ต่ำสุดรอบ 17 ปี ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่

ราคาปาล์มน้ำมัน เดือน เม.ย. อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 1.91 บาท เป็นราคาต่ำสุดในรอบ 17 ปี และดูเหมือนว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

แม้ก่อนหน้านี้ จะให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ปริมาณรวม 1.6 แสนตันเพื่อไปผลิตกระแสไฟฟ้า ตามแผนที่ต้องการให้สต็อกที่มีอยู่เฉลี่ย 3.5 แสนตันลดลงเหลือเพียง 2.5 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสม แต่ดูเหมือนสถานการณ์ไม่มีอะไรดีขึ้นและผลผลิตจะยังออกสู่ตลาดไปจนถึงเดือน ปลายเดือน มิ.ย. นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง แต่ขณะนี้ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่ กก.ละ 1.40-1.50 บาทเท่านั้น จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ กก.ละ 2.30 -2.50 บาท

"มาตรการช่วยเหลือชาวสวนปาล์มก่อนหน้านี้ที่รัฐบาล ไม่ได้กระตุ้นให้เกษตรกรได้รับราคาสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขการรับซื้อน้ำมันปาล์ม ไม่รัดกุม โดยกฟผ. สามารถรับซื้อจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสต็อกซีพีโอ ได้ในราคากก.ละ 18 บาท ในขณะที่ราคาในตลาดอยู่ที่ 14-15 บาท ทำให้ผู้ประกอบใช้วิธีขายน้ำมันเก่าเพื่อส่วนต่าง 3-4 บาท"

แม้เงินที่ได้จะเป็นส่วนที่กฟผ.จ่ายให้แค่ 90 % และที่เหลือ 10 % ให้ผู้ประกอบการนำหลักฐานการซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรมายืนยันเพื่อรับเงินส่วนที่เหลือ ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการเลือกที่จะทิ้ง10 % ที่เหลือเพราะขั้นตอนยุ่งยาก จึงทำให้เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์ในมาตรการนี้

'ราคาปาล์ม' ต่ำสุดรอบ 17 ปี ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มอีก 2 แสนตัน ในราคาตลาดตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน (กนป.) เสนอ โดยให้ กฟผ.รับซื้อ

ซีพีโอจากโรงสกัดแต่ก่อนรับซื้อก็มอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการตรวจสต็อกปริมาณน้ำมันปาล์มที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไรเพื่อส่งให้ทาง กฟผ.พิจารณารับซื้อ

วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสต็อกปาล์มน้ำมันที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกำลังดำเนินการตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์มในโรงงานสกัดเพื่อต้องการเช็คปริมาณว่าแต่ละโรงงานมีสต็อกอยู่จำนวนเท่าไร เพื่อให้มีสิทธิขายน้ำมันปาล์มให้กับ กฟผ.ตามมาตรการดูดซับน้ำมันปาล์ม คาดว่าจะได้ตัวเลขปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มประมาณวันที่ 11 พ.ค.นี้

“ทางกรมการค้าภายในได้ส่งทีมเข้าไปช่วยตรวจสต็อกด้วยโดยทยอยตรวจแต่ละโรงงาน เมื่อได้ตัวเลขที่แน่นอนของแต่ละโรงงานสกัดแล้ว ก็ต้องส่งรายงานมาให้กรมการค้าภายในเพื่อดำเนินการส่งต่อให้กฟผ.พิจารณาต่อไปในการดำเนินการจัดซื้อน้ำมันปาล์มตามเงื่อนไขที่ทาง กฟผ.ได้กำหนดไว้”

สำหรับปริมาณสต็อกน้ำมันเดิมที่เคยตรวจไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีประมาณ 3.2แสนตัน แต่มาวันนี้ไม่รู้ว่าปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มจะมีการเปลี่ยนเปลงไปอย่างไร คงต้องรอตัวเลขจากคณะกรรมการที่ลงไปตรวจสอบก่อน ยังไม่อยากคาดการณ์ปริมาณในขณะนี้

นอกเหนือจากที่ต้องทราบจำนวนปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มเพื่อส่งให้ กฟผ.แล้ว ตัวเลขดังกล่าวกรมฯก็จะมาพิจารณาเรื่องของปริมาณสต็อกทั้งหมดที่มีอยู่เท่าไร ซึ่งรัฐบาลได้ให้มีมาตรการแทรกแซงจำนวน 2 แสนตันจะสามารถรับซื้อได้แค่ไหน ถ้าได้เชื่อว่าปริมาณสต็อกก็จะลดลง เพราะการซื้อน้ำมันปาล์มดิบครั้งนี้และที่ผ่านมาถือว่ามากพอสมควรแล้ว

ในส่วน กนป.มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อศึกษาโครงสร้างราคาที่เหมาะสมตลอดซัพพลาย เพราะพบว่าราคาปาล์มน้ำมันในประเทศปัจจุบันมีราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นั้นยังไม่เห็นคำสั่งแต่งตั้ง ดังนั้นจึงยังไม่สามารถบอกอะไรได้ ขอรอให้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเสียก่อน

จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า นโยบายเพื่อกระตุ้นราคาปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นตามเป้าหมาย กก.ละ 3 บาท ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จ ผลดำเนินมาตรการดังกล่าวทำให้รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดย กนป. เห็นชอบให้ กฟผ.ซื้อน้ำมันปาล์มเพิ่มอีก 1 แสนตันในเดือน พ.ค.นี้ หากผลการดำเนินงานไม่ช่วยกระตุ้นให้ราคาปาล์มดีขึ้นก็จะรับซื้อเพิ่มอีก 1 แสนตัน ในเดือน มิ.ย. โดยจะเอาปัญหาและอุปสรรคต่างๆมาปรับปรุง กรณีที่มาตรการต่างๆเหล่านี้ไม่ประสบผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะเสนอให้กนป. พิจารณามาตรการใหม่ๆในระยะต่อไป

“จะเช็คสต็อกปาล์มที่แท้จริงก่อนที่ กฟผ.จะเข้าซื้อปาล์มน้ำมันล็อตแรก 5 หมื่นตัน ภายใต้เงื่อนไขผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องขายน้ำมันปาล์มอย่างน้อย 50 % ของสต็อก เพื่อให้มีเปิดช่องว่างให้ซื้อน้ำมันปาล์มในตลาด" จริยา กล่าวทิ้งท้าย

สถานการณ์ราคาปาล์มดูจะยังไร้อนาคต เเละเป็นโจทย์ยากที่รอรัฐบาลใหม่รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ให้มาแก้ไข เพราะประเมินเบื้องต้นตอนนี้จะเห็นว่า ปริมาณที่รับซื้อ 2 แสนตัน นั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตวันละ 4-5 หมื่นตัน และสต็อกในประเทศมีมากเกินไปเพราะไม่สามารถระบายโดยการส่งออกได้ ก็เป็นระเบิดเวลาอีกลูกที่รอรัฐบาลใหม่มาแก้ไข