กสทช.ชี้ค่ายทีวีพอใจ สูตรจ่ายชดเชย 55%

กสทช.ชี้ค่ายทีวีพอใจ สูตรจ่ายชดเชย 55%

“ฐากร” แจงชัดสูตรชดเชยคืนช่อง เฉลี่ยได้ชดเชย 55% ด้าน “สุภาพ” เผย ทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ระบุสูตรชดเชย ดีเกินคาด เร่งบอร์ดตัดสินใจ ไปต่อหรือจอดำ โบรกฯ คาด “บีอีซี-อสมท" กอดคอคืนช่องเด็ก

หลังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. เรียกประชุมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย เนื่องมาจากการคืนใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ภายใต้เส้นใต้ภายในวันที่ 10 พ.ค. ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องแจ้งความประสงค์คืนใบอนุญาตนั้น 

ล่าสุด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ตามสูตรคำนวณค่าชดเชยทีวีดิจิทัลตามที่ชี้แจงผู้ประกอบการทีวีฯ ไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้นำระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือคูณ จำนวนเงินที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายให้รัฐแล้วทั้งหมด 4 งวด หารด้วยระยะเวลาใบอนุญาต เช่น บางช่องจ่ายงวด 1-4 มาแล้ว 500 ล้านบาท ขณะนี้ใช้ใบอนุญาตไปแล้ว 5 ปี (จาก 15 ปี ) ยังเหลือใบอนุญาต10 ปี ให้นำ 500 X 10 หารด้วย 15 แล้วนำจำนวนทีได้มาหักลดสิทธิประโยชน์ที่รัฐเคยจัดให้ เช่น ค่าเช่าดาวเทียม ค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (มัค) เมื่อหักออกแล้ว กรณีที่บริษัทได้กำไรก็ให้นำมาหักเพิ่มได้อีก กรณีที่บริษัทขาดทุนก็ไม่ต้องนำส่วนนี้มาคำนวณ

“เราใช้หลักทั่วไปในการคำนวณทุกช่องที่คืนไลเซ่นส์จะได้เงินชดเชยคืนประมาณ 66% ของเงินที่ต้องจ่ายรัฐตลอดอายุใบอนุญาต เมื่อหักสิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว จะได้เฉลี่ยต่อช่อง 55% แต่ถ้าบริษัทไม่ได้กำไร ก็อาจจะได้มากกว่า 55% และยังได้เงินค้ำประกัน หรือแบงก์การันตีคืนด้วยในทันที”

นายฐากร กล่าวต่ออีกว่า จากการประชุมชี้แจงผู้ประกอบการทีวีทั้ง 22 ช่องส่วนใหญ่พอใจ ขณะที่มีข้อซักถามจากผู้ประกอบการถึงวันยุติการให้บริการ เขาระบุว่า เมื่อผู้ประกอบการทีวีมายื่นขอคืนใบอนุญาตภายในวันที่ 10 พ.ค.และจากนั้นภายใน 60 วันส่งรายละเอียดเรื่องการขอชดเชยเข้ามา ซึ่งต้องใช้เวลาเยียวยาก่อนยุติการให้บริการอีกไม่น้อยกว่า 30-45 วัน ถ้าวันยุติให้บริการเป็นวันที่ 15 ส.ค. วันที่ 16 ส.ค. ผู้ประกอบการจะได้เงินชดเชยทันที โดยไม่ต้องรอเงินประมูลคลื่น 700 แต่จะใช้เงินจากกองทุน กทปส.

นายฐากร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นข้อสงสัยว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ ต้องบอกว่า สูตรการคำนวณแบบนี้ประชุมกันมาอย่างชัดเจน และได้ข้อสรุป ถ้า กสทช. จ่ายค่าชดเชยให้ทีวีประมาณ 55% เทียบกับรัฐต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลมากกว่า 55% ขณะที่ใบอนุญาตที่คืนมา คลื่นจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งทำเงินได้มากกว่า เพราะคลื่นจะคืนกลับมาทันที ขณะที่ทีวีก็ได้เงินกลับคืนไป รัฐได้ประโยชน์ 2 เด้ง

นายสุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า สูตรชดเชยทีวีดิจิทัลที่กสทช.เคาะออกมากรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องการ “คืน” ใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เป็นสิ่งที่ค่อนข้างดีกว่าคาดหมาย ทำให้ผู้ประกอบการไม่ค่อยติดใจสงสัยมากนัก

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งทำการบ้านคือการคำนวณสูตรให้ละเอียดรอบคอบ เพราะต้องยอมรับว่าเกณฑ์ที่ออกมาให้แยกผลประกอบการของแต่ละช่องออกจากกัน ไม่ใช่นำงบการเงินของบริษัทไปคิดคำนวณ

ส่วนการคืนช่องในขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นรายใดบ้าง เนื่องจากหลายบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จึงต้องกลับไปประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) ปรึกษากรรมการ ฝ่ายกฎหมาย ผู้ถือหุ้น ให้บัญชีคำนวณอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ

นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี กล่าวว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเกี่บวกับสูตรชดเชยเม็ดเงินที่จะได้รับ หากจะคืนใบอนุญาต เพราะต้องยอมรับว่าหากไม่คืนช่องประโยชน์ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจต่อมีเท่าๆกัน ตัวอย่างการคืนช่องเด็กและครอบครัว ผู้ประกอบการจะได้รับเงินชดเลยราว 267 ล้านบาท แต่หากทำธุรกิจต่อต้องพิจารณาว่าตลอด 10 ปีของระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือจะทำเงินจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่ ขณะที่ข้อดีของการทำทีวีดิจิทัลต่อ คือไม่ไม่ภาระต้นทุนใบอนุญาตอีก 2 งวด รวมถึงค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล(มัค) จ่ายเพียงค่าโครงข่ายมัสต์แครี่เท่านั้น

สำหรับช่องไบรท์ คำนวณสูตรเบื้องต้น จะได้รับเงินชดเชยกรณีคืนช่องประมาณ 400 ล้านบาท หากทำต่อ บริษัทมีรายได้ค่าโฆษณาเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีแรก 100 ล้านบาท ขยับเป็น 200 ล้านบาท 300 ล้านบาทตามลำดับ แต่ยังไม่ครอบคลุมกับผลการดำเนินตลอด 5 ปีที่ผ่านมายังขาดทุนราว 700 ล้านบาท แต่การทำช่องต่อต้นทุนค่าใบอนุญาตจะหายไป ค่าใช้จ่ายมัสต์แครี่ หลักล้านบาทต้นๆต่อเดือน ส่วนต้นทุนพนักงาน 200 คน อยู่ที่ 7-8 ล้านบาทเท่านั้น เพราะคอนเทนท์ส่วนใหญ่ผลิตเอง มีซื้อซีรี่ส์จากต่างประเทศเล็กน้อย

แหล่งข่าว จากวงการทีวีดิจิทัล คาดว่า ภายในวันที่ 10 พ.ค. จะมีผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตฯราว 5 ช่อง ขณะที่จำนวนช่องที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 10 ช่องเท่านั้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ระบุว่าการทำช่องเด็ก มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเป็นอุปสรรค ในการสร้างสรรค์รายการ อีกทั้งเม็ดเงินโฆษณาที่เอเยนซีถืออยู่ ยากที่จะปล่อยให้ไหลเข้ามายังช่องนี้ เพราะสุดท้ายขึ้นอยู่กับเรตติ้งหรือจำนวนคนดู เมื่อไม่คุ้มค่าการลงทุน จึงไม่ใช้จ่ายเงินโฆษณาส่วนพฤติกรรมคนดูโดยเฉพาะเด็ก ไม่ได้เป็นผู้คุมรีโมททีวี แต่ยังคงเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง

สำหรับผู้ประกอบการที่จะคืนช่อง ต้องยื่นความจำนงต่อกสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ก่อนเวลา 16.30 น.หากผ่านกระบวนการและขั้นตอนพิจารณาทางการเงินของกสทช. รวมถึงการเยียวยาผู้บริโภคคือการแจ้งยุติออกอากาศให้ประชาชนรับทราบ ผู้ประกอบการจะได้รับเงินคืนทันทีหลังวันที่ยุติออกอากาศ

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินค่าชดเชยให้กับกลุ่มทีวีดิจิทัล ตามประกาศกสทช. กำหนดเกณฑ์คำนวณเม็ดเงินที่ยังไม่ได้หักกำไรของผู้ประกอบการในแต่ละช่องอยู่ที่ ช่องเด็ก 228 ล้านบาทต่อช่อง ,ช่องข่าว 511 ล้านบาท ต่อช่อง, ช่อง SD 935 ล้านบาทต่อช่อง และ ช่อง HD 1,588 ล้านบาทต่อช่อง

เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าทางบัญชีใบอนุญาตที่เหลืออยู่ มูลค่าช่องเด็กจะอยู่ที่ 234 ล้านบาทต่อช่อง, ช่องข่าว 440 ล้านบาทต่อช่อง , ช่อง SD 759 ล้านบาทต่อช่อง และ ช่องHD 1545 ล้านบาทต่อช่อง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเชื่อทำให้ผู้ประกอบการพิจารณาคืนช่องได้ง่ายขึ้น

โดยคาดการณ์ว่า บมจ. บีอีซี เวิลด์ (BEC) มี 3 ช่อง และ บมจ. อสมท. (MCOT)มี 2 ช่อง ทั้งสองบริษัทจะคืนช่องเด็ก ซึ่งเป็นช่องที่ไม่ทำกำไร และคาดว่าจะได้รับเงินชดเชยราว 228 ล้านบาทต่อช่อง ทั้งนี้สำหรับช่อง3 ยังมีช่อง SD และ HD ในมือ มองว่าอยู่ที่นโยบายว่าจะคงช่องอะไรไว้เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่เนื้อหาของกลุ่ม แต่หากคืนอีก1 ช่อง น่าจะเป็น SD ได้รับเงินชดเชยราว 936 ล้านบาท

ด้านราคาหุ้น BEC มีแรงเก็งกำไรจากประเด็นดังกล่าวราคาหุ้นบวกแล้ว 87 % ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งวันที่ 10 พ.ค. บริษัทจะรายงานผลกำไรไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งคาดว่าขาดทุน 108 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นสะท้อนไปแล้ว ดังนั้นหากมีการคืนช่องเด็กจริง ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 8 บาท และหากคืน ช่อง SD เพิ่มมีมูลค่าส่วนเพิ่มอีก 0.58 บาท

บล.เอเชีย พลัส ระบุหลักเกณฑ์คำนวณการจ่ายค่าชดเชยทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาให้ดีว่าค่าชดเชยที่จะได้รับจากการคืนใบอนุญาตกับการดำเนินธุรกิจต่อไปอีกประมาณ 10 ปี อย่างใดคุ้มค่ามากกว่ากัน

กรณีดำเนินกิจการต่อได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้ายและสนับสนุนค่า MUX ตลอดอายุสัญญาที่เหลือ ส่วนกรณีคืนใบอนุญาตที่ต้องยื่น 10 พ.ค. จากการคำนวณตามเกณฑ์กสทช. ช่อง เด็ก ได้รับเงิน 282 ล้านบาท ต่อช่อง ,ช่องข่าว 564 ล้านบาท ต่อช่อง , ช่อง SD 1,022 ล้านบาทต่อช่อง และช่อง HD 1,686 ล้านบาทต่อช่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในฝั่งของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการค่ายมือถือมายื่นแสดงความจำนงค์ของยืดหนี้คลื่น 900 เพียงรายเดียว คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยต้องจับตาว่าทั้ง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค จะยื่นแสดงความจำนงค์ฯ ภายในพรุ่งนี้ (10 พ.ค.) หรือไม่

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน (10 พ.ค.) เลขาธิการกสทช. มีกำหนดแถลงข่าวสรุปการยื่นขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และการขอยืดชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เวลา 15.30 น.