ลุ้น"จีน-สหรัฐ"เปิดศึกการค้าหรือลงนามข้อตกลงศุกร์นี้

ลุ้น"จีน-สหรัฐ"เปิดศึกการค้าหรือลงนามข้อตกลงศุกร์นี้

การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอาจส่งผลไปถึงการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั่วโลกอยู่ในอารมณ์ผ่อนคลายจากปัญหากรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่ สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์)ที่เดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาการค้ากับนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน บอกว่า การเจรจาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และทั่วโลกก็มีความหวังว่าการเจรจารอบต่อไปที่กรุงวอชิงตันในวันพฤหัสบดี (9พ.ค.)และวันศุกร์ (10พ.ค.)ที่จะถึงนี้ สหรัฐและจีนจะบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกันได้

อารมณ์ผ่อนคลายของทั่วโลกหายไป เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐทำลายความหวังของทั้งโลกด้วยการประกาศว่า จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 25% จากเดิมที่เก็บในอัตรา 10% และจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 3.25 แสนล้านดอลลาร์ในอัตรา 25% ในเร็วๆนี้ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า การเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศมีความคืบหน้าน้อยมาก

นายไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ บอกว่า ชนวนเหตุที่ทำให้ปธน.ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน เป็นเพราะจีนกลับคำสัญญาที่ให้ไว้ในการเจรจาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนก็ลดการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ซึ่งในมุมมองของสหรัฐแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

ในการเจรจาที่กรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีน พยายามหยิบยกประเด็นสำคัญบางประเด็นขึ้นมาเจรจาอีกครั้ง ทั้งที่สหรัฐเชื่อว่าประเด็นเหล่านั้นตกลงกันได้แล้วตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อน และในส่วนของการให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจ จีนก็เปลี่ยนใจไม่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับทีมงานของปธน.ทรัมป์ เปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐเดินเกมนี้เพราะต้องการเพิ่มแรงกดดันให้จีนยอมทำตามที่สหรัฐต้องการ

ขณะที่ปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ของทางการจีนนั้น นายเกิง ชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า การเจรจาคือขั้นตอนหนึ่งของการหารือกัน และเป็นเรื่องธรรมดาที่สองฝ่ายจะมีความเห็นแตกต่างกัน จีนจะไม่หนีปัญหา และพร้อมเดินหน้าเจรจาด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุนี้ นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จึงยังคงนำคณะเจรจาของจีน เดินทางไปวอชิงตันเพื่อเจรจาการค้าตามกำหนดการคือวันที่ 9-10 พ.ค.

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่ประธานาธิบดีสหรัฐหวัง โดยฉัว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง รีเสิร์ช ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่าหากปธน.ทรัมป์ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนตามที่ขู่จริงๆ จีนจะไม่ยอมเจรจาโดยที่มีปืนจ่อหัวอยู่อย่างแน่นอน และจะตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน 

ส่วนโจว เสี่ยวหมิง อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จีน ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์บลูมเบิร์กในทำนองเดียวกันว่า จีนจะไม่ยอมจำนนต่อการข่มขู่ของสหรัฐ และหากสหรัฐขึ้นภาษีจริง จีนจะต้องตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีในระดับที่เท่าเทียมกันอย่างแน่นอน

วิกเตอร์ เกา จากศูนย์เพื่อประเทศจีนและโลกาภิวัตน์ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามการค้ามีผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจีน แต่ความรุนแรงของผลกระทบและการก้าวข้ามผลกระทบดังกล่าวถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่งด้วยการเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ( จีดีพี) ที่ขยายตัว 6%-6.5% ซึ่งสูงกว่าจีดีพีสหรัฐมากกว่าสองเท่า แต่การบรรลุข้อตกลงทางการค้าโดยเร็วก็เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

การตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐและจีน ไม่ได้สร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดหุ้นและตลาดน้ำมันเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจด้วย โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า หากปธน.ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจริงๆ ผู้ค้าปลีกในสหรัฐที่นำเข้าสินค้าจากจีนจะได้รับผลกระทบอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ ที่ส่งออกสินค้าไปขายในจีน โดยเฉพาะผู้ผลิตและจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมยังคงอยู่รอด แม้เกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ เพราะมูลค่าการส่งออกจากสหรัฐไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจีดีพีสหรัฐ แต่ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าคือเศรษฐกิจโลก โดยผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าจะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวอยู่แล้ว

เมื่อไม่กี่วันก่อน วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ออกมาเตือนว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งโลก และถ้าเกิดสงครามการค้าขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องที่แย่สำหรับทั้งโลก และอาจจะแย่ที่สุด ขึ้นอยู่กับขอบเขตการทำสงคราม

เช่นเดียวกัล คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่กล่าวในการประชุมด้านการเงินที่กรุงปารีสว่า ไอเอ็มเอฟต้องการให้ความตึงเครียดทางการค้าคลี่คลายในแบบที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ เพราะเห็นได้ชัดว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอาจส่งผลไปถึงการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์ ได้ออกมาเรียกร้องอยู่บ่อยครั้งให้เฟดลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้น และการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอาจทำให้ผู้นำสหรัฐสมหวัง เพราะบริษัทสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องลดต้นทุน ซึ่งหมายถึงการลดจำนวนพนักงาน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เฟดเริ่มเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นตลาดแรงงาน