11 พรรคเล็กได้ลุ้น ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ สูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

11 พรรคเล็กได้ลุ้น ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ สูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

11 พรรคเล็กได้ลุ้น ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามพ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัด รธน.มาตรา 91

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.62 ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1)ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความคิดเห็นส่วนตนเป็นหนังสือพร้อมแถลงด้วยวาจา และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ และคิดอัตราส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีราชชื่อจำนวน 150 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 วรรคหนึ่ง (2)

แม้บทบัญญัติ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีการบัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีคำนวณ คิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรครบ 150 คน ตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ(7) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแล้ว จึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับให้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการวินิจฉัยดังกล่าว คาดว่า กกต.จะยึดแนวทางการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามสูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะมีพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคะแนน ส.ส. 1 คน ได้รับการจดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 11 พรรคการเมือง และเมื่อรวมกับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเกินกว่าค่าเฉลี่ยส.ส. 1 คน ก็จะมีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 27 พรรค