คุณค่า-ความหมายริ้วขบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร

คุณค่า-ความหมายริ้วขบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร

ความหมายของการเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น ล้วนเป็นการแสดงแสนยานุภาพในกองทัพ ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ

ตามโบราณราชประเพณีในการ ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศเป็นขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคล

A3

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ในขบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2454

A1

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร มาทางถนนพระสุเมรุ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2468

A2

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่ผ่านประตูสนามราชกิจ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493

แต่ใน ‘รัชกาลที่ 9’ มิได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร หากแต่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปทรงนมัสการพระพุทธชินสีห์ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2506

ในการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2562 คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้เตรียมความพร้อมฝึกกำลังพล เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 โดยประทับเหนือ พระที่นั่งพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปทรงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร รวมระยะทาง 6.77 กิโลเมตร รวมเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง โดยริ้วขบวนมีความยาวเกือบ 500 เมตร

พระที่นั่งพุดตานทอง เป็นพระที่นั่งสำหรับประทับหย่อนพระบาทแบบเก้าอี้ ทำด้วยไม้สลักลายปิดทอง ที่ฐานประดับรูปเทพพนมและครุฑด้านข้างทั้งสองด้าน และด้านหลังประดับด้วยลูกกรงกลึงด้วยงาโดยรอบ หลังลูกกรงแต่ละด้านประดับแผ่นไม้แกะสลักปิดทองเรียก ‘ใบปรือ’

อนึ่ง พระที่นั่งพุดตานทองนี้เมื่อทอดเหนือพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ออกนามว่า พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จออกมหาสมาคม เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

พระที่นั่งพุดตานทองนี้ติดห่วงไว้สำหรับสอดคานหามเมื่อทรงใช้เป็นพระราชยาน เรียกว่า พระราชยานพุดตานทอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

20190421190320539

พิธีซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนครจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2562

++ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ++

เริ่มจากเกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท เลี้ยวซ้ายประตูพิมานไชยศรี เลี้ยวขวาประตูวิเศษไชยศรีมุ่งหน้าสู่ถนนหน้าพระลาน เลี้ยวซ้ายแยกศาลหลักเมืองถนนราชดำเนินใน แล้วเลี้ยวขวาแยกผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินกลาง จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว ตรงไปยังเกย วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร

ต่อมาขบวนพยุหยาตราสถลมารค ออกจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เลี้ยวขวาถนนพระสุเมรุ และเลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนินกลาง ตรงไปยังแยกโรงแรมรัตนโกสินทร์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบคลองหลอด ตรงไปจนถึงแยกถนนอัษฎางค์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนเฟื่องนครไปตามเส้นทางหลังกระทรวงมหาดไทย จนถึงเกยประตู วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ระยะทาง 3.18 กิโลเมตร

จากนั้นขบวนพยุหยาตราสถลมารคออกจากเกยประตูวัดราชบพิธฯ ตรงไปเลี้ยวขวาถนนเจริญกรุง มุ่งหน้าสู่แยกท้ายวัง เข้าสู่ถนนท้ายวังตรงไปยังเกย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ระยะทาง 500 เมตร

ริ้วขบวนออกจากเกยวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ทางถนนท้ายวัง เลี้ยวขวาถนนมหาราช มุ่งหน้าสู่แยกท่าช้างแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน ตรงไปจนถึงหน้าประตูวิเศษไชยศรี และเลี้ยวขวาเข้าประตู ตรงไปจนถึงประตูพิมานไชยศรี เลี้ยวซ้ายกลับไปยังพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

20190428175148022

20190428182544264

20190428195151264

20190428195151450

ภาพบางส่วนของพิธีซ้อมใหญ่เสมือนจริงในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราสถลมารค เมื่อวันที่ 21 เมษายน และ 28 เมษายน พ.ศ.2562

++ รูปแบบริ้วขบวนฯ ++

สำหรับรูปแบบริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นการเดินตามเสียงกลองนับก้าว 75 ก้าวต่อนาที ก้าวละ 40 เซนติเมตร ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งสิ้น 6 เพลงได้แก่ มาร์ชธงชัยเฉลิมพล, มาร์ชราชวัลลภ, ใกล้รุ่ง, ยามเย็น, สรรเสริญเสือป่า และเพลง สรรเสริญพระนารายณ์ ใช้พลแบกหามพระราชยานพุดตานทอง 32 นาย และสับเปลี่ยนกำลังพลแบกหามทุก 500 เมตร

เริ่มจากม้านำ 2 ม้าจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดุริยางค์ทหารบกนำขบวน 109 นาย หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 เป็นผู้บัญชาการกองผสม 1 นาย ทส.ผบก.กองผสม 1 นาย นายทหารประจำกองผสม 8 นาย กองพันทหารเกียรติยศนำจาก ร.1.รอ. 166 นาย หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 นำริ้ว 1 นาย ต่อมาเป็นกลองมโหระทึก 16 นาย สารวัตรกลอง 4 นาย กลองชนะลายเงิน 40 นาย กลองเงิน 40 นาย กลองชนะแถวลายทอง 40 นาย กลองชนะลายทอง 40 นาย สารวัตร 2 นาย แตรฝรั่ง 20 นาย แตรงอน 32 นาย สังข์ 8 นาย

20190428182545699

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อม ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ หน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 กรมสรรพาวุธทหารบก กรมพลาธิการทหารบก และผู้แทนจากสำนักพระราชวัง เข้าร่วมฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร ริ้วขบวนที่ 3 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมในพื้นที่จริงครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562

ถัดมาเป็นตอนผู้อำนวยการริ้ว ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวม 13 นาย ตามด้วยเครื่องสูงหน้าประกอบด้วย ธงสามชาย 4 นาย ฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง (หน้า) 40 นาย

จากนั้นเป็น ‘พระราชยานพุดตานทอง’ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับนั่ง โดยมีข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารอยู่คู่เคียงพระราชยานทั้ง 2 ฝั่ง ถัดมาเป็นฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง(หลัง) 40 นาย ดุริยางค์กองทัพบก 74 นาย และปิดท้ายด้วยกองพันตามจากทหารกองพันเกียรติยศ ร.11.รอ.จำนวน 166 นาย

++ ความหมายการเสด็จเลียบพระนครฯ ++

ความหมายของการเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น ล้วนเป็นการแสดงแสนยานุภาพในกองทัพ ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ

AAAA4

พระที่นั่งพุดตานทอง

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ การจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ถ้าพิจารณาถึงกระบวนทัพหลวง ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์ประทับบนพระที่นั่งราเชนทรยาน หรือบางรัชกาลประทับบนพระที่นั่งราชยานพุดตานทองนั้น ลวดลายที่ประดับบนฐานแต่ละชั้นของพระราชยานมีทั้งลายเทพนมและครุฑพนม ลวดลายเหล่านี้มีความหมายแสดงว่าพระราชยานที่ประทับคือโลกสวรรค์ที่เขาพระสุเมรุของพระอินทร์ หรือที่เขาไกรลาสขององค์พระศิวะ

รอบๆ สวรรค์มีเทวดาและครุฑ ซึ่งเป็นเทพบริวารร่วมกันมาชื่นชมพระบารมีขององค์สมมติเทพหรือทิพยเทวาวตาร ซึ่งคือองค์พระมหากษัตริย์ที่ประทับบนพระราชยานนั้น

ถ้าจะให้ความสำคัญที่รูปครุฑ จะหมายความว่าองค์พระมหากษัตริย์นั้นคือองค์พระวิษณุ ซึ่งมีครุฑเป็นพาหนะมาคอยรับเมื่อจะเสด็จไปในที่ต่างๆ

20190428182547179

ส่วนหนึ่งของ ‘เครื่องสูง’ ที่เข้ากระบวนแห่ห้อมล้อมพระราชยาน อาทิ บังสูรย์ พัดโบกรูปช้อย ทวนทอง ทวนเงิน ในพิธีซ้อมใหญ่เสมือนจริงริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราสถลมารค เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2562

ตามโบราณราชประเพณี ในริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค ยังจัด เครื่องสูง เข้ากระบวนแห่ห้อมล้อมพระราชยาน ตลอดจนเครื่องประโคมต่างๆ ล้วนกล่าวว่า เป็นการจำลองภาพของริ้วกระบวนขององค์เทวะมาใช้กับองค์สมมติเทพในมนุษยโลก

เครื่องสูง เป็นหนึ่งในสิ่งประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ แห่งราชสำนัก โดยเป็นของสำหรับประดับเกียรติยศในพิธีหรือในขบวนแห่ หรือขบวนเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค รวมถึงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกอบขึ้นตามโบราณราชประเพณี หลังจากพระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทั้งนี้เพื่อความเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์

ตามที่ได้กล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ‘เครื่องสูง’ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ถึงยุครัตนโกสินทร์ ‘เครื่องสูง’ ยังคงมีความสำคัญในริ้วขบวนประกอบพระบรมราชอิสริยยศ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ทั้งชนิดและจำนวนการใช้ของเครื่องสูง

เครื่องสูงที่ใช้สำหรับแสดงและประกอบพระบรมราชอิสริยยศในการพิธีเสด็จพระราชดำเนินในริ้วขบวนแห่ มีทั้งหมด 8 สิ่ง ได้แก่ ฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรห้าชั้น ฉัตรสามชั้น พระกลศ บังแทรก บังสูรย์ จามร และ พัดโบก

เครื่องสูงทั้ง 8 สิ่ง แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ ถ้าเป็นเครื่องสูงชนิดพระอภิรุมชุมสาย บังแทรก พระกลศ บังสูรย์ ที่ใช้ประดับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระยุพราช ระบุเป็น เครื่องปักหักทองขวาง แต่สำหรับชั้นเจ้าฟ้าและชั้นพระองค์เจ้า จะเป็น ‘เครื่องปักทองแผ่ลวดฉลุลาย’

20190421190325122

พิธีซ้อมใหญ่เสมือนจริงในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราสถลมารค เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2562

เครื่องสูงประเภท ฉัตร มีรูปร่างคล้ายร่มซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นเครื่องหมายมงคลที่สำคัญตามคติความเชื่อของอินเดีย ใช้สำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้าขบวนแห่เป็นเกียรติยศ

มีหลักฐานว่าไทยใช้ ‘ฉัตร’ เป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

สำหรับ ‘ฉัตรเครื่องสูง’ หรือในชื่อ ‘พระอภิรุมชุมสาย’ สำรับหนึ่งประกอบด้วย ฉัตรเจ็ดขั้น ฉัตรห้าชั้น และชุมสาย(ฉัตรสามชั้น) ทั้งนี้ฉัตรพระอภิรุมชุมสายเป็นฉัตรคนละประเภทกับฉัตรในหมวด ‘เศวตฉัตร’ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านลักษณะ สีสัน และประเภทการใช้

พระกลศ หมายถึง ‘ร่ม’ ใช้บังแดดบังฝน ลักษณะเป็นฉัตรชั้นเดียว มักใช้เมื่อพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์เสด็จออกนอกพระราชฐานในพิธีการต่างๆ

บังแทรก เป็นเครื่องสูงที่ใช้กั้นบังแดด มีลักษณะคล้ายพัดรูปแบนกลม มีขอบรูปจักๆ โดยรอบเหมือนใบสาเก มียอดแหลมใช้สำหรับปักหรือแห่เสด็จพระราชดำเนิน เชิญอยู่ระหว่างฉัตรห้าชั้น ทั้งหน้าและหลัง

บังสูรย์ เป็นเครื่องสูงที่ใช้บังแดดให้กับพระมหากษัตริย์ ใช้ในขบวนแห่ประกอบพระบรมราชอิสริยยศ มีลักษณะคล้ายกับบังแทรก แต่บังสูรย์เป็นเหมือนใบโพธิ์ เชิญอยู่ข้างพระที่นั่งราชยานฝั่งตรงข้ามพระกลศ

จามร เป็นเครื่องสูงอีกประเภทหนึ่ง มีรูปคล้ายพัดยอดแหลมสองลอน สำรับหนึ่งมี 16 คัน มีอินทร์-พรหมเป็นผู้เชิญจามรแซงข้างพระที่นั่งราชยานข้างละ 8 คัน

ในสมัย ‘รัชกาลที่ 4’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ ‘จามร’ แต่ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้อินทร์ถือพุ่มดอกไม้เงินข้างซ้าย และพรหมถือพุ่มดอกไม้ทองข้างขวา

ต่อมาใน ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พุ่มดอกไม้เงินและดอกไม้ทองในริ้วขบวนภายในพระบรมมหาราชวัง แต่ถ้าเป็นริ้วขบวนนอกพระบรมมหาราชวังให้ใช้ ทวนเงิน-ทวนทอง แทน

พัดโบก เป็นพัดทำด้วยใบตาล มีสองลักษณะคือ ‘พัดโบกรูปช้อย’ ปลายพัดมีลักษณะงอนช้อยขึ้น ใช้สำหรับเชิญในขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค กับ ‘พัดโบกรูปมน’ ใช้สำหรับมหากษัตริย์ประทับ ณ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์

20190430125634041

อนึ่ง ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือ นอกจากการเชิญ ‘เครื่องสูง’ ยังพบว่ากระบวนเรือนั้น เรือแต่ละลำประดิษฐ์โขนเรือเป็นรูปสัตว์ เช่น สัตว์ที่มีความว่องไว สัตว์ในเทพนิยาย และสัตว์จากเรื่องรามายณะหรือรามเกียรติ์ เช่น โขนเรือรูปเสือ รูปเลียงผา รูปนกอินทรี รูปมังกร รูปลิง รูปครุฑ รูปหงส์ และรูปนาค ตลอดจนอมนุษย์ เช่น อสูร

บรรดาเรือที่อยู่รอบๆ เรือพระที่นั่งลำทรงหรือในกระบวนทัพหลวง จะเป็นเรือที่มีโขนเป็นรูปอมนุษย์ที่เป็นเทพบริวาร หรือเป็นพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เช่น หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม พญานาคเจ็ดเศียรหรือ ‘อนันตนาคราช’ เป็นที่ประทับของพระวิษณุ และครุฑก็เป็นพาหนะของพระวิษณุด้วยเช่นกัน

ส่วนโขนเรือรูปวานร หรือรูป ’ลิง’ จะมีรูปหนุมาน สุครีพ พาลี ซึ่งมาจากเรื่องรามเกียรติ์ วานรดังกล่าวล้วนเป็นทหารเอกที่สำคัญของพระรามซึ่งทรงเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์

ริ้วกระบวนเรือนี้จึงเป็นริ้วกระบวนที่มาห้อมล้อมองค์สมมติเทพที่ทรงเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุ ตามคติความเชื่อดั้งเดิมในราชสำนัก

ตามคติความเชื่อของไทย พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นดั่งสมมติเทพ ดังนั้นในขนบธรรมเนียมประเพณีจึงมีพระราชพิธีตลอดจนเครื่องประกอบในพระราชพิธีที่งดงามสมพระเกียรติ

อนึ่ง การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ปลายปีพ.ศ.2562

หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก

- คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

- เว็บไซต์ www.m-culture.go.th

- เว็บไซต์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 (https://phralan.in.th)

- www.facebook.com/พระราชพิธีบรมราชาภิเษก-พุทธศักราช๒๕๖๒

- www.bangkokbiznews.com