'ฉัตรชัย' เรียกประชุมฯอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ

'ฉัตรชัย' เรียกประชุมฯอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ

“ฉัตรชัย” เรียกประชุมฯอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ ตั้งรับพื้นที่ภัยแล้งอีก 12 จังหวัด ที่ส่อขาดแคลนน้ำจากการอุปโภคบริโภค มอบกระทรวงเกษตรฯ-มหาดไทย เร่งเตรียมการช่วยเหลือประชาชน ห่วงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาหลังใช้น้ำเกินแผนแล้ว 20%

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า พล.อ.ฉัตรชัย ได้สั่งการว่าขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศที่ยังมีภาวะเสี่ยงประสบภัยแล้งอยู่จึงได้สั่งการ กำชับ และเน้นย้ำทุกหน่วยงานซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ ทั้งพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้งแล้ว 5 จังหวัด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงแล้งและขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคเป็นเป้าหมายแรก

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่ง สทนช. ได้วิเคราะห์จากข้อมูลน้ำฝนของกรมอุตุฯ ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. 2562 ร่วมกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำสำรองสำหรับการผลิตน้ำประปา จำนวน 12 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้ สทนช. ได้จัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้หน่วยงานใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อใช้ในการวางแผนแก้ไขพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย

“ในพื้นที่ภาคกลางถือว่ามีความน่าเป็นห่วงเนื่องจากมีการใช้น้ำเกินกว่าแผนที่วางไว้กว่า 20% หรือเกินกว่าแผนประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งมีการปลูกข้าวนาปีเร็วกว่าช่วงเวลาปกติกว่า 8.8 แสนไร่ ซึ่งต้องระมัดระวังการใช้น้ำเพราะอาจจะส่งผลกระทบอย่างมากในช่วงเวลาที่มีผลทิ้งช่วง”

นอกจากนี้พล.อ.ฉัตรชัยยัง ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนงานการแก้ไขปัญหาประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั้งระยะสั้น โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการจัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย โดยใช้รถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ และระยะกลาง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มความจุ แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ รวมโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ มีจำนวนทั้งสิ้น 144 โครงการ งบประมาณ 1,200 ล้านบาท สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ และให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้ง

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นศูนย์กลางการอำนวยการ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องจัดหมวดหมู่การช่วยเหลือ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยและการประปาภูมิภาคพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมถึงให้หน่วยงานพิจารณาโครงการที่จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาด้านภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนระยะกลางและระยะยาวต่อไป โดยให้ สทนช. นำสภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 มาวางแผนปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกที่ไม่มีการระบุพื้นที่ด้านการเกษตร ขอบเขตที่ชัดเจน โดยให้ประกาศพื้นที่การเพาะปลูกให้ชัดเจนในระดับตำบล ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ทั้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ และนอกเขตชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ การวางแผนการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน