ก.พ.ร.ติวเข้ม 25 หน่วยงานรับ ประเมินยาก-ง่ายธุรกิจ ธนาคารโลก

ก.พ.ร.ติวเข้ม 25 หน่วยงานรับ ประเมินยาก-ง่ายธุรกิจ ธนาคารโลก

สำนักงาน ก.พ.ร.ติวเข้ม 25 หน่วยงาน เตรียมรับการประเมินอันดับความยาก - ง่าย ในการทำธุรกิจปี 2020 เผยตัวแทนธนาคารโลกเตรียมเยือนไทยติดตามความคืบหน้า 16 - 17 พ.ค.

นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการที่ทีมวิจัยจากธนาคารโลก (world bank) จะเดินทางมายังประเทศไทยในระหว่างวันที่ 16 – 17 พ.ค.นี้ เพื่อจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 หรือ “Doing Business 2020”

โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ.ร.ได้มีการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 25 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กรมที่ดิน กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบกธนาคารแห่งประเทศไทย กรมบังคับคดี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานศาลยุติธรรม

โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมหน่วยงานรัฐสำหรับการเข้ามาตรวจสอบยืนยันข้อมูล ของธนาคารโลก ความพร้อมในการตรวจสอบยืนยันข้อมูลของธนาคารโลก (Site Visit) ทั้งการจัดทำข้อมูลและรูปแบบวิธีการนำเสนอ รวมทั้งการปฏิรูปรายด้านเพื่อยกระดับ Doing Business 2020 การพัฒนาช่องทางการให้บริการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) และคาดการณ์การปฏิรูปและอันดับของประเทศไทยในรายงาน Doing Business 2020

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว ทีมวิจัยจากธนาคารโลกจะดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ การสำรวจความคิดเห็น ของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ในประเทศไทย และการเดินทางมาสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการในเรื่องการอำนวยความสะดวกของภาครัฐที่มีต่อการดำเนินการของภาคธุรกิจในด้านต่างๆของประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลกในปีนี้ผลงานที่สำคัญ เช่น ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน กรมที่ดินได้เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อให้บริการได้เต็มทุกพื้นที่แล้ว สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการโดยไม่ต้องเรียกสำเนาเอกสาร

ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง กรุงเทพมหานครได้แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525 โดยนำการประเมินความเสี่ยงมาใช้จัดประเภทอาคารเพื่อบริหารจัดการในการควบคุมอาคาร สามารถลดจำนวนครั้งการตรวจอาคาร ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศ สามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าผ่านแดนด้วยกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) ยกเลิกไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs

ขณะที่ด้านการชำระภาษี สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รวดเร็วขึ้นจากการนำเกณฑ์ความเสี่ยง มาใช้ในการตรวจสอบภาษี ทำให้สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายใน 90 วัน ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงได้มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับศาล (Court automation) เช่น ระบบการส่งเอกสารและการประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-Notice system) ทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วขึ้น มีระบบเผยแพร่สืบค้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่สามารถค้นหาจากเลขคดี ชื่อข้อหา ชื่อหน่วยงาน หรือค้นหาตาม Keyword ได้ และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนทุกขั้นตอน เช่น แอปพลิเคชัน LED Property เป็นระบบการค้นหาทรัพย์ขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี