'กมธ.การศึกษา สนช.' แนะเร่งเครื่องปฏิรูปการศึกษา หลังพบหลายปัญหายังตกค้าง

'กมธ.การศึกษา สนช.' แนะเร่งเครื่องปฏิรูปการศึกษา หลังพบหลายปัญหายังตกค้าง

"กมธ.การศึกษา สนช." แนะเร่งเครื่องปฏิรูปการศึกษา หลังพบหลายปัญหายังตกค้าง เสียใจ "กม.การศึกษาชาติ" ออกไม่ทันก่อนหมดวาระ "เฉลิมชัย" ชี้ปฏิรูปอุดมศึกษา ให้เน้นวิจัยนวัตกรรม หวังลดเหลื่อมล้ำ-ช่องว่าง คนจน-คนรวย

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนา เรื่อง สรุปบทเรียน 4 ปีกับการปฏิรูปการศึกษา เพื่อนำเสนอการทำงานของ กมธ. ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2557 - 30 เมษายน 2562 ส่งท้ายก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่งช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่คาดว่าจะมีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง

โดย คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองประธาน อนุ กมธ.ฯ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่เป็น สนช. เพียง 1 ปี เพราะคิดว่าจะมีวาระอยู่เท่านั้น แต่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งนานถึง 4 ปี 8เดือน สำหรับผลการทำงานไม่พลาดในประเด็นที่อยากทำ ทำให้อนุ กมธ.ฯ มีรายงานนำเสนอมาถึง 30 เรื่อง อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยทำผิด เพราะเน้นให้การศึกษาเด็กในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่สิ่งถูกต้องต้องเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นทางแก้ไขคือ ต้องปรับหลักสูตรขั้นพื้นฐาน รวมถึงกระจายความรับผิดชอบของคุณภาพการศึกษา

"การศึกษาประเทศไทยต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยยึดโยงกับรากเหง้า ทั้งนี้การศึกษาของเด็กนักเรียนในประเทศไทยต้องเน้นการสอนที่มุ่งเรื่องอาชีพ มากกว่าเรียนตามหลักสูตรปกติเท่านั้น วันนี้มีสิ่งที่เสียใจเรื่องเดียว คือ กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติที่ออกไม่ทัน" คุณหญิงสุมณฑา กล่าว

ด้านนายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ ประธาน อนุ กมธ.ฯ การอาชีวศึกษา กล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาด้านอาชีวศึกษา แม้หน่วยงานจะดำเนินการแก้ปัญหา แต่บางเรื่องทำช้าเกินไป ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดแก้ปัญหา ที่สะสมมานาน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญต่อการปฏิรูปด้านอาชีวศึกษา ต้องเร่งพัฒนาในหลายด้าน อาทิ สร้างครูอาชีวศึกษาให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรในวงการอาชีวศึกษาด้วย

ขณะที่นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธาน อนุ กมธ.การอุดมศึกษา กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาด้านการอุดมศึกษาต้องเน้นการพัฒนาและปฏิรูปแบบองค์รวม โดยร่วมกับการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ อาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาคนมากกว่าการผลิตบัณฑิตย์สาขาต่างๆ เท่านั้น โดยผลการศึกษาของอนุ กมธ. มีข้อเสนอ อาทิ ต้องขยายกลุ่มเป้าหมายด้านการจัดการศึกษา จากเดิมที่เน้นวัย 18 - 22 ปี ไปยังวัยที่ต้องศึกษาขั้นพื้นฐาน, พัฒนาการสอนเพื่อให้รู้ ไปเป็นสร้างการเรียนรู้ ให้เกิดปัญญา, พัฒนาการวิจัยด้านนวัตกรรม แทนการมุ่งเน้นการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศเท่านั้น เพราะหากเน้นความเป็นเลิศเท่านั้นจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน

"ประเด็นวิจัยนวัตกรรมหากเน้นเรื่องการยกระดับขีดความสามารถ เน้นเรื่องเศรษฐกิจการแข่งขันเท่านั้น จะทำให้โอกาสของคนจนที่ได้รับประโยชน์เท่ากับคนรวยนั้นลดลง ขณะที่การจัดสรรงบประมาณ อนุ กมธ.ฯ​มีข้อเสนอต่อการจัดงบประมาณ แบ่งเป็น งบจำนวน 6-7 หมื่นล้านบาท จัดให้กับเสรีภาพทางวิชาการตามหลักสูตร อีกจำนวน 3- 4 หมื่นล้านบาท จัดตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการนวัตกรรมด้านการศึกษา ผ่านกระทรวงอุดมศึกษา เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา อย่างไรก็ตามผมยอมรับว่ากระทรวงการอุดมศึกษายังมีปัญหา แต่คณะทำงานของรัฐบาลพยายามขับเคลื่อน ผ่านการบูรณาการด้านกฎหมายหลายฉบับ ให้เกิดการร่วมมือทำงาน" นายเฉลิมชัย กล่าว

สำหรับรายงานสรุปผลงานกมธ. รวม4 ปี และ 8 เดือน กมธ. ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและกีฬา ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมสนช. ทั้งหมด 38 เรื่อง จากการศึกษาของคณะอนุ กมธ.​รวมทั้งหมด 6 คณะ และคณะทำงานตามประเด็นที่ถูกนำเสนอ รวม 25 คณะ, พิจารณาเรื่องร้องเรียน 254 เรื่อง, ไปดูงานภายในประเทศ 32 ครั้ง, ร่วมประชุมทวิภาคี ที่ต่างประเทศ จำนวน 7 ครั้ง ใน 7 ประเทศ คือ ประเทศลาว , ประเทศกัมพูชา, ประเทศเยอรมนี, ประเทศญี่ปุ่น, ประเทศอินโดนีเซีย และ ประเทศจีน นอกจากนั้นในการทำงานของกมธ. นอกจากจะมีสมาชิก สนช. ดำรงตำแหน่งเป็น กรรมาธิการ รวม 28 คนแล้ว ยังพบการแต่งตั้งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำ กมธ. รวม 112 คน.